คำวินิจฉัยที่ 8/2553

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘/๒๕๕๓

วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๓

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดเลย
ระหว่าง
ศาลปกครองขอนแก่น

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดเลยส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๑ นายชุน สอนจันทร์ โจทก์ ยื่นฟ้อง เทศบาลตำบลเชียงกลม ที่ ๑ นายศิวะพร ขุนสนิท ในฐานะนายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลเชียงกลม ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดเลย เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๙๐๙/๒๕๕๑ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๙๗๖ ตำบลเชียงกลม อำเภอปากชม จังหวัดเลย เมื่อประมาณเดือนมีนาคม ๒๕๕๐ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารตลาดสดเทศบาลตำบลเชียงกลม และหลังคาอาคารบางส่วนรุกล้ำเข้ามาในที่ดินแปลงดังกล่าวของโจทก์ โจทก์จึงยื่นคำร้องขอตรวจสอบแนวเขตที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดเลย สาขาเชียงคาน ผลการรังวัดปรากฏว่าหลังคาอาคารตลาดสดรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์เป็นเนื้อที่ ๒๔ ตารางวา โจทก์จึงแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลเชียงกลมให้ดำเนินคดีกับจำเลยที่ ๑ ในความผิดฐานบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อการครอบครองบางส่วน แต่พนักงานอัยการจังหวัดเลยมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา โดยเห็นว่าจำเลยที่ ๑ ไม่มีเจตนาและเป็นเรื่องพิพาททางแพ่ง นอกจากนั้นโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน ๒๕๐,๐๐๐ บาท แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันรื้อถอนหลังคาและส่วนอื่นของอาคารตลาดสดเทศบาลตำบลเชียงกลมส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๙๗๖ ของโจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมรื้อถอน ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลสั่งให้โจทก์มีอำนาจรื้อถอนเอง โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน และห้ามจำเลยทั้งสองเข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์ต่อไป พร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน ๒๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองมิได้ก่อสร้างและปรับปรุงอาคารตลาดสด และหลังคาอาคารตลาดสดก็ไม่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การที่จำเลยทั้งสองก่อสร้างและปรับปรุงอาคารตลาดสดถือเป็นการทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยและอำนวยประโยชน์แก่ประชาชน ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ การที่โจทก์กล่าวอ้างว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดเลยพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาตามคำขอของโจทก์ได้นั้นจำต้องพิจารณาประเด็นสำคัญให้ได้ความเสียก่อนว่า จำเลยทั้งสองจัดให้มีการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารตลาดสดเป็นผลให้หลังคาอาคารดังกล่าวรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์จริงหรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป กรณีย่อมเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่ความ ซึ่งอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ บัญญัติให้ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีโดยทั่วไป เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ในขณะที่มาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน บัญญัติให้ศาลปกครองเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันอันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่ต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือเป็นการดำเนินกิจการทางปกครอง รวมถึงคดีพิพาทตามที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครองด้วย ดังนั้น หากคดีใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง และไม่เข้าข้อยกเว้นตามที่กฎหมายบัญญัติ ศาลปกครองย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้ และศาลยุติธรรมก็ย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น เมื่อพิจารณาคำฟ้องและคำขอในคดีนี้ เห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นราชการส่วนท้องถิ่นมีฐานะเป็นนิติบุคคล จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จำเลยที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีตลาด ท่าเทียบเรือและท่าข้าม ตามมาตรา ๕๑ (๓) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ และมาตรา ๑๖ (๓) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น การก่อสร้างปรับปรุงอาคารตลาดสดของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองและปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินกิจการทางปกครองตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงตลาดสดดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กรณีตามฟ้องของโจทก์จึงมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้นตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง และกรณีไม่ใช่เรื่องที่ยกเว้นไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน การที่จะพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำละเมิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายต่อโจทก์หรือไม่ จึงมิใช่คดีพิพาททั่วไปที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม อนึ่ง ในประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือไม่นั้น เป็นเพียงปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งเกี่ยวพันกันกับข้อหาการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย แม้การพิจารณาในเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปก็ตาม แต่การพิจารณาดังกล่าวมิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลหนึ่งศาลใดที่จะนำบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีไว้โดยเฉพาะ ศาลปกครองจึงมีอำนาจนำบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีได้ จึงเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นราชการส่วนท้องถิ่นมีฐานะเป็นนิติบุคคล จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จำเลยที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีตลาด ท่าเทียบเรือและท่าข้าม ตามมาตรา ๕๑ (๓) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ และมาตรา ๑๖ (๓) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารตลาดสดเทศบาลตำบลเชียงกลม และหลังคาอาคารบางส่วนรุกล้ำเข้ามาในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๙๗๖ ของโจทก์ เนื้อที่ ๒๔ ตารางวา โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน ๒๕๐,๐๐๐ บาท แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันรื้อถอนหลังคาและส่วนอื่นของอาคารตลาดสดเทศบาลตำบลเชียงกลมส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๙๗๖ ของโจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมรื้อถอน ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลสั่งให้โจทก์มีอำนาจรื้อถอนเอง โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน และห้ามจำเลยทั้งสองเข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์ต่อไป พร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยทั้งสองให้การโต้แย้งว่า จำเลยทั้งสองมิได้ก่อสร้างและปรับปรุงอาคารตลาดสด และหลังคาอาคารตลาดสดก็ไม่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งการที่ศาลจะพิพากษาตามที่โจทก์มีคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายชุน สอนจันทร์ โจทก์ เทศบาลตำบลเชียงกลม ที่ ๑ นายศิวะพร ขุนสนิท ในฐานะนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเชียงกลม ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share