คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3861/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง นั้น ต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่ได้จดทะเบียนแล้ว และสิทธิที่ได้นั้นต้องเกิดจากเอกสารสิทธิของที่ดินที่ออกโดยชอบ เมื่อการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในส่วนที่ดินพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จะอ้างสิทธิที่จะเกิดจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ส่วนที่ออกโดยไม่ชอบดังกล่าวหาได้ไม่ กรณีเช่นนี้ไม่อยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 2,920,518.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ดินบางส่วนตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ที่โจทก์นำยึดเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นของผู้ร้อง โดยผู้ร้องซื้อที่ดินส่วนดังกล่าวมาจากนายคำ นางเบา และได้ปลูกสร้างบ้านในที่ดินที่ซื้อมา ต่อมานางทองอินทร์ บุตรของนายคำกับนางเบานำที่ดินแปลงใหญ่ทั้งแปลงไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แบ่งขายให้จำเลย ขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทที่โจทก์นำยึด
โจทก์ให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของทรัพย์พิพาทที่โจทก์นำยึด ขอให้ยกคำร้อง
จำเลยให้การว่า จำเลยซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทมาจากนางทองอินทร์ ทายาทของนายคำ นางเบา จำเลยเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวทั้งแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปล่อยที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ยึดเฉพาะส่วนบริเวณที่ดินพิพาท ตามเส้นกรอบสีเขียวเนื้อที่ 1 ไร่ 9 ตารางวา ตามเอกสารหมาย ร.จ.1 กับโจทก์และจำเลยร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ผู้ร้องและจำเลยไม่แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องหรือไม่ ผู้ร้องเบิกความว่า ผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายคำ นางเบา โดยในขณะนั้นผู้ร้องมีอายุประมาณ 20 ปีเศษ นับถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 50 ปีแล้ว หลังจากผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทได้ประมาณ 1 เดือนก็ปลูกบ้านและทำเป็นร้านค้า โดยผู้ร้องมีนายเลี้ยง ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้ที่ดินพิพาทและนายประเทือง กำนันตำบลสะแกซำ และเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 เป็นพยานเบิกความสนับสนุนทำนองเดียวกัน เห็นว่า นายเลี้ยงเป็นคนในท้องที่อาศัยอยู่ใกล้ที่ดินพิพาท ขณะเบิกความมีอายุ 77 ปี ย่อมอยู่ในฐานะที่จะทราบประวัติความเป็นมาของที่ดินพิพาทโดยไม่มีข้อน่าสงสัย ส่วนนายประเทืองเบิกความยืนยันว่า ระหว่างที่พยานดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน นายคำกับนางเบาได้มาแจ้งสำรวจผู้เสียภาษี พยานจึงทราบเรื่องที่นายคำกับนางเบาขายที่ดินพิพาทให้ผู้ร้อง ซึ่งในข้อนี้ผู้ร้องมีใบเสร็จภาษีโรงเรือนและที่ดินรวมทั้งใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเจ้าของเป็นส่วนสัดของตนต่างหาก พยานหลักฐานของผู้ร้องจึงสอดคล้องกันสมเหตุผลมีน้ำหนัก ส่วนพยานหลักฐานของโจทก์นั้นโจทก์คงมีจำเลยเบิกความเป็นพยานว่าจำเลยซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 56 จากนางทองอินทร์ซึ่งเป็นบุตรของนายคำกับนางเบา เมื่อปี 2528 โดยนางทองอินทร์บอกจำเลยว่า ผู้ร้องอยู่ในที่ดินพิพาทในฐานะผู้อาศัย จำเลยจึงเป็นเพียงพยานบอกเล่า ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้โดยลำพัง ประกอบกับจำเลยจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 56 ไว้แก่โจทก์ โดยมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่า หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยยอมรับผิดใช้เงินที่ขาดจนครบถ้วน จำเลยจึงมีส่วนได้เสียในคดีร้องขัดทรัพย์นี้โดยตรง พยานหลักฐานของผู้ร้องมีน้ำหนักในการรับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าจากนายคำ นางเบา ผู้เป็นเจ้าของ เมื่อนายคำ นางเบาสละเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทและโอนการครอบครองโดยส่งมอบที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้อง และผู้ร้องเข้าครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตนแล้วการครอบครองที่ดินพิพาทของนายคำ นางเบาจึงสิ้นสุดลง ผู้ร้องย่อมได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367, 1377 และ 1378 ที่ดินพิพาทจึงเป็นของผู้ร้อง ที่โจทก์ฎีกาต่อมาว่า โจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนรับจำนองโดยถูกต้องตามกฎหมาย ย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง นั้น เห็นว่า เมื่อนายคำ นางเบาไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทแล้ว ดังนี้ นางทองอินทร์ผู้เป็นทายาทของนายคำกับนางเบาจึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นของตน และไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่จำเลยแม้จำเลยจะมีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในฐานะผู้รับโอน ก็ไม่ทำให้จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยหามีสิทธินำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่โจทก์ไม่ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 705 การจำนองจึงไม่มีผล โดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองสุจริตหรือไม่ เพราะสิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง นั้น ต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่ได้จดทะเบียนแล้ว และสิทธิที่ได้นั้นต้องเกิดจากเอกสารสิทธิของที่ดินที่ออกโดยชอบ เมื่อการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในส่วนที่ดินพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จะอ้างสิทธิที่เกิดจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ส่วนที่ออกโดยไม่ชอบดังกล่าวหาได้ไม่ กรณีเช่นนี้ไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share