แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตามคำฟ้องโจทก์บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสวนป่าแล้วเรียกค่าเสียหายสองส่วน คือ ส่วนหนึ่งให้จำเลยคืนเงินทั้งหมดที่รับไปและอีกส่วนหนึ่งเรียกค่าผลประโยชน์ตอบแทนตามที่โฆษณาว่าโจทก์จะได้รับ ซึ่งการเรียกให้จำเลยคืนเงินทั้งหมดที่ได้รับเป็นผลของการเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ที่ให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ในกรณีเรียกให้จำเลยคืนเงินที่รับไปนี้จึงหาใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนตาม มาตรา 215 ไม่ เช่นนี้จึงต้องพิจารณาก่อนว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสวนป่าชอบหรือไม่ เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสวนป่า มิได้ระบุวันที่ที่จำเลยที่ 1 จะต้องดำเนินการปลูกสวนป่าหรือทำการก่อสร้างสาธารณูปโภคและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในโครงการสวนป่าพนาขวัญให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาใดทั้งไม่ได้กำหนดเวลาให้โจทก์ต้องชำระราคาที่ดินพร้อมการปลูกไม้สวนป่าส่วนที่เหลือในวันจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่เท่าใด สำหรับกำหนดเวลา 6 ปี ตามที่จำเลยประกาศโฆษณาว่าโจทก์จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการปลูกต้นไม้เศรษฐกิจนั้น ประกาศโฆษณานี้มีลักษณะเป็นการให้คำมั่นสัญญาต่อบุคคลทั่วไปหรือลูกค้าถึงผลตอบแทนที่จะได้รับภายใน 6 ปี จึงถือได้ว่าใบประกาศโฆษณาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสวนป่าแต่กำหนดระยะเวลา 6 ปี จะเริ่มนับก็ต้องเริ่มจากวันปลูกพันธุ์ไม้ซึ่งหาได้กำหนดไว้แน่นอนไม่ว่าจะปลูกพันธุ์ไม้เมื่อใด ฉะนั้น กำหนดเวลา 6 ปี จึงหาใช่กำหนดเวลาที่ชัดเจนไม่ ทั้งมิได้มีข้อตกลงให้ปรากฏว่ากำหนดระยะเวลา 6 ปีนี้ให้ถือเป็นเงื่อนเวลาสิ้นสุดของสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสวนป่าด้วย ดังนั้นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสวนป่าจึงหาได้มีกำหนดเวลาชำระหนี้ให้ปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 388 เช่นนี้ สิทธิบอกเลิกสัญญาจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของมาตรา 387 ซึ่งหากโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ โจทก์จะต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายในเวลานั้น หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนดให้ โจทก์จึงจะบอกเลิกสัญญาได้ การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสวนป่าและให้จำเลยคืนเงินที่รับไปโดยมิได้กำหนดเวลาพอสมควรให้จำเลยชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก่อน ทำให้การบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสวนป่าของโจทก์ไม่ชอบ และเป็นผลให้โจทก์ไม่อาจเรียกให้จำเลยคืนเงินที่รับไปทั้งหมดได้ ส่วนค่าผลประโยชน์ตอบแทนตามโฆษณาที่โจทก์เรียกมาอีกส่วนหนึ่งนั้น เมื่อตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสวนป่า ข้อ 4 เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้จัดหาพันธุ์ไม้ การปลูกและการดูแลรักษาซึ่งต้นสัก ต้นสะเดา และต้นประดู่เพิ่งปลูกก่อนวันที่ทำบันทึกตรวจสอบที่ดินประมาณ 4 เดือนแม้มีต้นกระถินณรงค์ (กระถินเทพณรงค์) ปลูกไว้ประมาณ 5 ปี แต่ตามสัญญาจ้างเหมาปลูกสร้างสวนป่าและตารางแสดงชนิดจำนวนของต้นไม้ที่ปลูกต่อเนื้อที่หนึ่งไร่ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งว่าการปลูกต้นไม้ตามสัญญาไม่ใช่หน้าที่ของจำเลยทั้งสองจำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องนำพันธุ์ไม้อื่น มิใช่เฉพาะกระถินณรงค์เท่านั้นมาปลูกในที่สวนป่าของโจทก์ ประกอบกับบันทึกการตรวจสอบที่ดินกระทำหลังจากโจทก์ฟ้องคดีแล้วประมาณ 9 เดือน แสดงให้เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ปลูกพืชเศรษฐกิจต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในสัญญา ซึ่งจะเป็นเหตุให้ภายในเวลา 6 ปี โจทก์จะไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนตามที่จำเลยที่ 1 โฆษณาไว้อย่างแน่นอน เช่นนี้ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสวนป่าแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวทำให้โจทก์ไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการตัดต้นไม้เหล่านั้นที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป ไปขายอันเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 215
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2537 จำเลยทั้งสองได้โฆษณาชักจูงให้ประชาชนเข้าซื้อที่ดินพร้อมสวนป่าอันเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 โดยสัญญาว่าผู้ซื้อจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินสวนป่าและจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการขายไม้เศรษฐกิจที่จำเลยที่ 1 รับหน้าที่ปลูกป่าเศรษฐกิจและดูแลให้ตั้งแต่ปีที่ 6 ขึ้นไป จากการโฆษณาชักจูงดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ซื้อที่ดินจากโครงการของจำเลยที่ 1 สองแปลง ปรากฏว่าหลังจากทำสัญญาซื้อขายแล้ว จำเลยทั้งสองผิดสัญญากล่าวคือมิได้ทำการปลูกพืชเศรษฐกิจในสวนป่าของโจทก์ตามที่ตกลงกันไว้ นอกจากนี้ ยังปรากฏว่าที่ดินในบริเวณดังกล่าวขายกันไร่ละ 25,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองนำมาขายให้โจทก์ไร่ละ 350,000 บาท ถึง 450,000 บาท อันเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ดังนี้ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์ได้บอกกล่าวเลิกสัญญาไปยังจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองต้องคืนเงินค่าที่ดินที่โจทก์ชำระไปจำนวน 712,223 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี รวม 6 ปี ดอกเบี้ย 641,000 บาท และผลประโยชน์ตอบแทนตามที่โฆษณาซึ่งโจทก์ขอคิด 258,400 บาท รวมเป็นเงิน 1,611,623 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้เงิน 1,611,623 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 712,223 นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยทั้งสองมิใช่เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ เนื่องจากจำเลยทั้งสองได้ทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ตามสัญญาแล้ว ส่วนหน้าที่ในการปลูกและดูแลรักษาต้นไม้นั้นเป็นหน้าที่ของบริษัทพนาขวัญพัฒนา จำกัด มิใช่เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 หากโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างใดชอบที่จะฟ้องเรียกร้องเอากับบริษัทพนาขวัญพัฒนา จำกัด ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง แต่อย่างไรก็ตามบริษัทพนาขวัญพัฒนา จำกัด ก็ได้ปลูกต้นไม้ พันธุ์ไม้เศรษฐกิจให้โจทก์ตามข้อสัญญาแล้วทุกประการ แต่ภายหลังที่ทำการปลูกพันธุ์ไม้ต่างๆ ทางโครงการได้ประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ต้นไม้ที่ปลูกตายไปบางส่วน ที่เหลือก็ไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร ซึ่งทางบริษัทก็ได้ปลูกทดแทนในส่วนที่ตายให้แก่โจทก์ตามข้อสัญญา ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่ชอบที่จะเลิกสัญญาและเรียกเงินค่าที่ดินพร้อมค่าเสียหายกับจำเลยทั้งสอง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่ได้บรรยายให้แจ้งชัดว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะอะไร และการคิดค่าเสียหายและดอกเบี้ยไม่ถูกต้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงฟังได้ตามทางนำสืบของคู่ความที่ไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาว่า ปี 2537 จำเลยที่ 1 ประกาศโฆษณาชักชวนบุคคลทั่วไปให้เข้าทำสัญญาซื้อพื้นที่สวนป่าเศรษฐกิจกับจำเลยที่ 1 ในโครงการสวนป่าพนาขวัญ ซึ่งผู้เข้าทำสัญญาจองซื้อที่ดินสวนป่ากับจำเลยที่ 1 จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากไม้เศรษฐกิจต่างๆ ที่ปลูกในที่ดินที่จองซื้อเป็นเงิน 5 ถึง 6 เท่าตัว จากราคาที่ทำสัญญาซื้อขาย ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2537 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสวนป่ากับจำเลยที่ 1 สองแปลง หมายเลข A47 และ B74 ซึ่งเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 4095 และ 4096 เลขที่ดิน 605 และ 606 ตำบลเลาขวัญ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมกับทำสัญญาจ้างเหมาปลูกสร้างสวนป่ากับบริษัทพนาขวัญพัฒนา จำกัด และโจทก์ได้ผ่อนชำระเงินดาวน์และชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว วันที่ 3 มีนาคม 2538 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ ต่อมาปี 2543 โจทก์ไปตรวจสอบสวนป่าพบว่าการก่อสร้างในโครงการหยุดชะงัก ครั้นวันที่ 1 พฤษภาคม 2543 โจทก์นำเจ้าหน้าที่บริหารงานเกษตรอำเภอเลาขวัญเข้าไปตรวจสอบสภาพสวนป่าของโจทก์ พบว่าได้ปลูกต้นสักประมาณ 620 ต้น อายุประมาณ 4 เดือน ต้นกระถินณรงค์ประมาณ 620 ต้น อายุประมาณ 5 ปี ต้นสะเดาและประดู่อย่างละ 300 ต้น อายุประมาณ 4 เดือน ตามบันทึกการตรวจสอบที่ดิน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า เดือนกรกฎาคม 2543 โจทก์ไปตรวจสอบที่ดินซึ่งจำเลยทั้งสองสัญญาว่าเมื่อครบกำหนด 6 ปี จะมีผลประโยชน์ตอบแทนตามส่วน แต่ปรากฎว่าไม่มีไม้สักหรือพืชเศรษฐกิจปลูกไว้ โดยเพิ่งมีการปลูกหลังจากโจทก์ฟ้องคดีแล้ว จำเลยจึงผิดคำมั่นสัญญาที่จะให้โจทก์ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเมื่อครบกำหนด 6 ปีแล้ว อันมีกำหนดเวลาชัดเจน ไม่ต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 มาใช้ และการฟ้องบังคับจำเลยเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 215 นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์บอกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมสวนป่าแล้วเรียกค่าเสียหายสองส่วนคือ ส่วนหนึ่งให้จำเลยคืนเงินทั้งหมดที่รับไปและอีกส่วนหนึ่งเรียกค่าผลประโยชน์ตอบแทนตามที่โฆษณาว่าโจทก์จะได้รับ ซึ่งการเรียกให้จำเลยคืนเงินทั้งหมดที่ได้รับเป็นผลของการเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ที่ให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมในกรณีที่เรียกให้จำเลยคืนเงินที่รับไปนี้จึงหาใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 215 ดังที่โจทก์ฎีกาไม่ เช่นนี้จึงต้องพิจารณาก่อนว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสวนป่าชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมสวนป่าเอกสารหมาย จ.1 มิได้ระบุวันที่จำเลยที่ 1 จะต้องดำเนินการปลูกสวนป่าหรือทำการก่อสร้างสาธารณูปโภคและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในโครงการสวนป่าพนาขวัญให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาใดทั้งไม่ได้กำหนดเวลาให้โจทก์ต้องชำระราคาที่ดินพร้อมการปลูกไม้สวนป่าส่วนที่เหลือในวันจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่เท่าใด สำหรับกำหนดเวลา 6 ปี ตามที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยประกาศโฆษณาว่า โจทก์จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการปลูกต้นไม้เศรษฐกิจซึ่งปรากฏในเอกสารหมาย จ.9 นั้น เมื่อประกาศโฆษณานี้มีลักษณะเป็นการให้คำมั่นสัญญาต่อบุคคลทั่วไปหรือลูกค้าถึงผลตอบแทนที่จะได้รับภายใน 6 ปี จึงถือได้ว่าใบประกาศโฆษณาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมสวนป่าแต่กำหนดระยะเวลา 6 ปี จะเริ่มนับก็ต้องเริ่มจากวันปลูกพันธุ์ไม้ซึ่งหาได้กำหนดไว้แน่นอนไม่ว่าจะปลูกพันธุ์ไม้เมื่อใด ฉะนั้นกำหนดเวลา 6 ปี จึงหาใช่กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ทั้งมิได้มีข้อตกลงให้ปรากฏว่ากำหนดระยะเวลา 6 ปีนี้ให้ถือเป็นเงื่อนเวลาสิ้นสุดของสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมสวนป่าตามเอกสารหมาจ จ.1 จึงหาได้มีกำหนดเวลาชำระหนี้ให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 388 เช่นนี้สิทธิบอกเลิกสัญญาจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของมาตรา 387 ซึ่งหากโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้โจทก์จะต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายในเวลานั้น หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ โจทก์จึงจะบอกเลิกสัญญาได้ การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมสวนป่าและให้จำเลยคืนเงินที่รับไปตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 8 โดยมิได้กำหนดเวลาพอสมควรให้จำเลยชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก่อน ทำให้การบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมสวนป่าของโจทก์ไม่ชอบ และเป็นผลให้โจทก์ไม่อาจเรียกให้จำเลยคืนเงินที่รับไปทั้งหมดได้ ส่วนค่าผลประโยชน์ตอบแทนตามโฆษณาที่โจทก์เรียกมาอีกส่วนหนึ่งนั้น เมื่อตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมสวนป่าเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 4 เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้จัดหาพันธุ์ไม้ การปลูกและการดูแลรักษา ซึ่งตามคำเบิกความของโจทก์ นายโสภณ นายปัญญา และนายทนงศักดิ์ พยานโจทก์ประกอบบันทึกตรวจสอบที่ดินเอกสารหมาย จ.11 พร้อมภาพถ่าย ได้ความว่า ต้นสัก ต้นสะเดา และต้นประดู่เพิ่งปลูกก่อนวันที่ทำบันทึกดังกล่าวประมาณ 4 เดือน แม้มีต้นกระถินณรงค์ (กระถินเทพณรงค์) ปลูกไว้ประมาณ 5 ปี แต่ตามสัญญาจ้างเหมาปลูกสร้างสวนป่าและตารางแสดงชนิดจำนวนของต้นไม้ที่ปลูกต่อเนื้อที่หนึ่งไร่เอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งในชั้นฎีกาว่า การปลูกต้นไม้ตามสัญญาดังกล่าวไม่ใช่หน้าที่ของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องนำพันธุ์ไม้อื่น มิใช่เฉพาะกระถินณรงค์เท่านั้นมาปลูกในที่สวนป่าของโจทก์ด้วย ประกอบกับบันทึกการตรวจสอบที่ดินเอกสารหมาย จ.11 กระทำหลังจากโจทก์ฟ้องคดีแล้วประมาณ 9 เดือน ดังนี้แสดงให้เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ปลูกพืชเศรษฐกิจต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในสัญญา ซึ่งจะเป็นเหตุให้ภายในเวลา 6 ปี โจทก์จะไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนตามที่จำเลยที่ 1 ได้ประกาศโฆษณาไว้อย่างแน่นอน เช่นนี้ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมสวนป่าแล้ว ซึ่งการที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว ทำให้โจทก์ไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการตัดต้นไม้เหล่านั้นที่มีอายุ 6 ปี ขึ้นไป ไปขายอันเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 215 แต่ค่าเสียหายที่โจทก์ขอมาซึ่งเท่ากับผลตอบแทนรายได้สิทธิต่อไร่ตามที่จำเลยที่ 1 โฆษณานี้ ผลตอบแทนที่กำหนดไว้ในใบโฆษณาเอกสารหมาย จ.9 เป็นแต่เพียงตัวเลขที่ใช้ในการโฆษณาเพื่อจูงใจให้ประชาชนทั่วไปสนใจที่จะซื้อที่ดินพร้อมสวนป่าจากจำเลยที่ 1 ซึ่งย่อมกำหนดจำนวนเงินให้สูงไว้ ทั้งโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำนวนเงินค่าผลตอบแทนดังกล่าวคิดคำนวณมาอย่างไร โดยต้องนำต้นไม้เหล่านั้นไปทำอะไรบ้างจึงจะได้ค่าตอบแทนตามที่โฆษณา และต้องคำนึงถึงการดูแลและสภาพที่ดินกับสภาพอากาศตามฤดูกาลที่จะทำให้ได้ผลผลิตซึ่งนำไปสู่ค่าตอบแทนเช่นนั้นด้วย ประกอบกับจำเลยทั้งสองนำสืบว่า ต้นกระถินณรงค์ที่ปลูกในที่สวนป่าของโจทก์สามารถนำไปทำประโยชน์ได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงบันทึกการตรวจสอบที่ดินเอกสารหมาย จ.11 ที่สวนป่าของโจทก์มีต้นกระถินณรงค์ปลูกไว้ประมาณ 620 ต้นเป็นเวลา 5 ปีแล้ว จึงเชื่อว่าโจทก์สามารถนำต้นกระถินณรงค์นั้นไปขายเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนบางส่วนได้ แต่โจทก์มิได้นำเงินที่จะได้ส่วนนี้ไปหักออกจากค่าเสียหายที่ขอมา ทำให้ค่าเสียหายที่โจทก์ขอมาไม่ใช่จำนวนค่าเสียหายที่แท้จริง ฉะนั้นศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้อันเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมสวนป่าให้โจทก์ รวมสองแปลงเป็นเงิน 80,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีว่าไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จึงถือว่ายอมรับในส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ทั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชักชวนแนะนำชักจูงให้บุคคลทั่วไปเข้าทำสัญญาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีส่วนได้เสีย เมื่อกระทำผิดต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดด้วยนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องข้อ 1 วรรคสอง โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบการ มีอำนาจดำเนินการชักจูง โฆษณาแนะนำชักชวนประชาชนทั่วไปให้เข้าทำสัญญาจะซื้อขายโครงการสวนป่าพนาขวัญ เป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญาเอกสารแนะนำชักจูง และเป็นผู้มีอำนาจกระทำการในคดีนี้ เช่นนี้ตามคำฟ้องโจทก์หาได้บรรยายว่าจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ไม่ แต่โจทก์ฟ้องเพื่อให้จำเลยที่ 2 รับผิดเป็นส่วนตัว ในฐานะเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ยกขึ้นต่อสู้เป็นประเด็นไว้ในคำให้การว่า จำเลยที่ 2 กระทำการตามฟ้องแทนจำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1 จึงต้องถือว่าข้อเท็จจริงนี้จำเลยทั้งสองรับตามฟ้องโจทก์แล้ว ไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นยกปัญหาข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยเองโดยมิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่ชอบ และที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวต่อโจทก์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง เมื่อคดีฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการชักจูง โฆษณาชักชวนและลงนามในสัญญาต่างๆ กับโจทก์จึงต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัวตามฟ้องด้วย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า แม้จำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้คดีไว้ก็มิต้องรับผิดเป็นส่วนตัวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนตามที่โฆษณาจำนวน 80,000 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท