คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6065/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ถึง 5 และที่ 7 เป็นพนักงานปากเรือ มีหน้าที่ขับเรือยนต์ โจทก์ที่ 6 เป็นพนักงานปากเรือมีหน้าที่เป็นคนงานลูกเรือประจำเรือยนต์ โดยเรือยนต์ที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 ทำหน้าที่พนักงานปากเรือมีหน้าที่ชี้ตำแหน่งเรือสินค้าและรับเชือกเพื่อให้เรือสินค้าผ่านร่องน้ำเจ้าพระยาเข้าเทียบท่าเรือ โจทก์ที่ 8 ถึงที่ 11 ที่ 13 ถึงที่ 15 ที่ 17 ที่ 19 ที่ 24 ที่ 26 ที่ 27 ที่ 36 และที่ 37 มีหน้าที่เคลื่อนย้ายสินค้าด้วยยานพาหนะหรืออุปกรณ์เคลื่อนย้ายสินค้าซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น แต่เมื่อเป็นการเคลื่อนย้ายสินค้าอยู่ในบริเวณของท่าเรือ ไม่ได้ส่งสินค้าพ้นจากบริเวณของท่าเรือเพื่อให้ถึงผู้รับหรือเจ้าของสินค้าจึงไม่ใช่การขนส่ง โจทก์ที่ 18 มีหน้าที่จัดเก็บสินค้า โจทก์ที่ 20 มีหน้าที่ตรวจสอบบัตรค่าภาระและค่ายานพาหนะบรรทุกสินค้าและตู้สินค้า โจทก์ที่ 25 มีหน้าที่ตรวจสอบค่าภาระตู้สินค้าและตรวจสอบสินค้า เป็นการปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับการขนถ่ายสินค้า ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายและส่งสินค้า จึงไม่ใช่การขนส่งสินค้าเช่นกัน โจทก์ที่ 30 ถึงที่ 33 และที่ 35 ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในบริเวณท่าเรือ ไม่ใช่การทำงานขนส่ง ดังนั้น งานที่โจทก์ร่วม 29 คน ทำจึงไม่ใช่งานขนส่งตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 28 (2) โจทก์รวม 29 คน จึงมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ 25, 26
ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 30 (1) ระบุว่า รัฐวิสาหกิจที่ให้พนักงานซึ่งมีสิทธิได้รับเงินเดือนค่าจ้างเป็นรายชั่วโมงหรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่นทำงานในวันหยุด ให้รัฐวิสาหกิจนั้นจ่ายค่าทำงานในวันหยุดแก่พนักงานเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 1 เท่า ของเงินเดือนค่าจ้างในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงทำงานในวันหยุด เมื่อโจทก์รวม 29 คน ทำงานในวันหยุดจึงมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดตามข้อ 30

ย่อยาว

คดีทั้งยี่สิบเก้าสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีอื่นอีกแปดสำนวน แต่โจทก์ในคดีดังกล่าวขอถอนฟ้องและศาลแรงงานกลางสั่งจำหน่ายคดีไปแล้ว คงเหลือเฉพาะคดีทั้งยี่สิบเก้าสำนวนนี้โดยศาลแรงงานกลางให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 ที่ 13 ถึงที่ 15 ที่ 17 ถึงที่ 20 ที่ 24 ถึงที่ 27 ที่ 30 ถึงที่ 33 และที่ 35 ถึงที่ 37 รวม 29 คน
โจทก์รวม 29 คน ฟ้องเป็นใจความว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการให้ใช้บริการท่าเรือและรับฝากสินค้า โดยให้ใช้บริการท่าเรือตลอด 24 ชั่วโมง กำหนดเวลาทำงานปกติของพนักงานจำเลยคือวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 8 นาฬิกา ถึง 16.30 นาฬิกา วันหยุดคือวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดตามประเพณี โจทก์รวม 29 คน เป็นพนักงานของจำเลย มีตำแหน่ง หน้าที่ และอัตราค่าจ้างปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน โจทก์ที่ 5 ออกจากงานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2546 และโจทก์ที่ 7 ออกจากงานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 โจทก์รวม 29 คน ทำงานอยู่ที่ท่าเรือกรุงเทพ จำเลยกำหนดค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดแบบเหมาจ่ายตามช่วงเวลาเป็นภาคใหญ่และภาคเล็ก กล่าวคือภาคใหญ่ให้ทำงานระหว่างเวลา 8 นาฬิกา ถึง 16 นาฬิกา เวลา 19 นาฬิกา ถึง 24 นาฬิกา เวลา 1 นาฬิกา ถึง 5 นาฬิกา ในทางปฏิบัติให้ทำงานระหว่างเวลา 16.30 นาฬิกา ถึง 24 นาฬิกา และเวลา 24 นาฬิกา ถึง 8 นาฬิกา ด้วย ภาคเล็กให้ทำงานระหว่างเวลา 5 นาฬิกา ถึง 7 นาฬิกา เวลา 16.30 นาฬิกา ถึง 18 นาฬิกา ในทางปฏิบัติให้ทำงานระหว่างเวลา 12 นาฬิกา ถึง 13 นาฬิกา และเวลา 18 นาฬิกา ถึง 19 นาฬิกา ด้วย ค่าล่วงเวลาในตำแหน่งระดับ 1 ถึงระดับ 5 ภาคใหญ่จ่ายสูงสุดภาคละ 114.25 บาท ภาคเล็กจ่ายสูงสุดภาคละ 85.75 บาท ตำแหน่งระดับ 6 ถึง ระดับ 9 จ่ายอัตราเดียว ภาคใหญ่จ่ายภาคละ 118.75 บาท ภาคเล็กจ่ายภาคละ 89 บาท ส่วนตำแหน่งหน้าที่รักษาความปลอดภัยจัดเป็นผลัด คือตั้งแต่เวลา 8 นาฬิกา ถึง 16 นาฬิกา เวลา 16 นาฬิกา ถึง 24 นาฬิกา และเวลา 24 นาฬิกา ถึง 8 นาฬิกา โดยกำหนดค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดแบบเหมาจ่ายคืออัตราเงินเดือน 4,880 บาท ค่าปฏิบัติงานเกินเวลาผลัดละ 162.67 บาท อัตราเงินเดือน 5,160 บาท ค่าปฏิบัติงานเกินเวลาผลัดละ 172 บาท อัตราเงินเดือน 5,450 บาท ค่าปฏิบัติงานเกินเวลาผลัดละ 181.67 บาท อัตราเงินเดือน 5,760 บาท ค่าปฏิบัติงานเกินเวลาผลัดละ 192 บาท อัตราเงินเดือน 6,090 บาท ค่าปฏิบัติงานเกินเวลาผลัดละ 203 บาท อัตราเงินเดือน 6,440 บาท ค่าปฏิบัติงานเกินเวลาผลัดละ 214.67 บาท อัตราเงินเดือน 6,810 บาท ค่าปฏิบัติงานเกินเวลาผลัดละ 227 บาท อัตราเงินเดือน 7,210 บาท ค่าปฏิบัติงานเกินเวลาผลัดละ 240.33 บาท อัตราเงินเดือน 7,640 บาท ค่าปฏิบัติงานเกินเวลาผลัดละ 254.67 บาท อัตราเงินเดือน 8,100 บาท ค่าปฏิบัติงานเกินเวลาผลัดละ 270 บาท อัตราเงินเดือน 8,580 บาท ค่าปฏิบัติงานเกินเวลาผลัดละ 286 บาท อัตราเงินเดือน 9,080 บาท ค่าปฏิบัติงานเกินเวลาผลัดละ 302.67 บาท อัตราเงินเดือน 9,600 บาท ค่าปฏิบัติงานเกินเวลาผลัดละ 320 บาท อัตราเงินเดือน 10,150 บาท ค่าปฏิบัติงานเกินเวลาผลัดละ 338.33 บาท อัตราเงินเดือน 10,730 บาท ค่าปฏิบัติงานเกินเวลาผลัดละ 357.67 บาท อัตราเงินเดือน 11,340 ค่าปฏิบัติงานเกินเวลาผลัดละ 378 บาท และอัตราเงินเดือน 11,990 บาท เป็นต้นไป ค่าปฏิบัติงานเกินเวลาผลัดละ 399.67 บาท เป็นอัตราสูงสุด จำเลยให้โจทก์แต่ละคนทำงานในวันหยุดและทำงานล่วงเวลาทั้งในวันทำงานและวันหยุดตั้งแต่ปี 2542 ถึงปี 2546 รายละเอียดปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน บางวันจำเลยให้โจทก์แต่ละคนทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ของวันทำงานและวันหยุด แต่ได้ค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดแบบเหมาจ่ายตามที่จำเลยกำหนดโดยพนักงานไม่ยินยอม ซึ่งเป็นค่าจ้างที่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำรายวันที่กฎหมายกำหนด หากพนักงานไม่ทำงานล่วงเวลาตามที่จำเลยกำหนดจำเลยถือว่าเป็นความผิดวินัย การที่จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดตามที่จำเลยกำหนดเป็นการไม่ชอบด้วยระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในวันทำงาน ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ให้แก่โจทก์แต่ละคนเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี รายละเอียดปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน งานที่จำเลยให้โจทก์แต่ละคนทำไม่ใช่งานขนส่ง กิจการของจำเลยไม่ใช่กิจการด้านขนส่งแต่เป็นกิจการให้ใช้บริการท่าเทียบเรือและรับฝากสินค้าอยู่ภายในบริเวณท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งตั้งอยู่ที่แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร จำเลยมีรายได้จากการให้บริการรับจ้างนำร่องลากจูงเรือสินค้าขนาดใหญ่ของเอกชนจากปากแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ ใช้เวลาลากจูงเรือสินค้าประมาณ 4 ชั่วโมง เข้ามาจอดเทียบท่าเรือของจำเลยเพื่อขนถ่ายสินค้าจากเรือสินค้าขึ้นไว้บนท่าเรือรอการตรวจสอบ และเก็บรักษาไว้ในโกดังของจำเลยบริเวณท่าเรือกรุงเทพรอให้บุคคลอื่นมาขนย้ายไปที่ต่างๆ และมีรายได้จากการรับฝากสินค้าที่ท่าเรือกรุงเทพ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาในวันทำงาน ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด พร้อมดอกเบี้ยตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคน และให้จำเลยถือปฏิบัติต่อไปตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 เกี่ยวกับค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด โดยให้แก้ไขระเบียบข้อบังคับของจำเลยให้เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ดังกล่าว
จำเลยทั้งยี่สิบเก้าสำนวนให้การว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการท่าเรือ ดำเนินกิจการอื่นที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับการประกอบกิจการท่าเรือ มีคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นผู้มีอำนาจวางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของจำเลย ตามมติคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่ 5/2526 ลงวันที่ 27 เมษายน 2526 ได้แบ่งหน่วยงานของจำเลยเป็น 2 ลักษณะ คือหน่วยงานที่ถือว่าเป็นงานขนส่งได้แก่งานของท่าเรือกรุงเทพ งานของท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ งานของฝ่ายการช่าง เป็นต้น และหน่วยงานที่ไม่ถือว่าเป็นงานขนส่ง ได้แก่งานของสำนักอำนวยการ งานของฝ่ายการบุคคล งานของสำนักวิชาการ พนักงานของจำเลยทุกคนทราบและถือปฏิบัติตลอดมา กำหนดเวลาทำงานปกติของพนักงานของจำเลยคือวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 8 นาฬิการ ถึง 12 นาฬิกา และ 13 นาฬิกา ถึง 16.30 นาฬิกา หยุดพักเวลา 12 นาฬิกา ถึง 13 นาฬิกา โจทก์รวม 29 คน ทำงานในตำแหน่งที่ประจำอยู่ที่ท่าเรือกรุงเทพ จึงเป็นพนักงานที่จำเลยให้ทำงานขนส่งเพราะเป็นงานการลำเลียงขนถ่ายสินค้าโดยใช้เครื่องทุ่นแรงอันเป็นอุปกรณ์ในการขนส่ง ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 28 กำหนดให้พนักงานซึ่งรัฐวิสาหกิจให้ทำงานขนส่งไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา เว้นแต่รัฐวิสาหกิจตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงาน อัตราค่าล่วงเวลาที่จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานเป็นไปตามคำสั่งคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่ 18/2538, ที่ 7/2543 และคำสั่งประธานกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่ 1/2546 โดยกำหนดช่วงเวลาการทำงานล่วงเวลาภาคเล็ก 2 ภาค ในระหว่างเวลา 5 นาฬิกา ถึง 7 นาฬิกา และ 16.30 นาฬิกา ถึง 18 นาฬิกา กับภาคใหญ่ 2 ภาค ในระหว่างเวลา 19 นาฬิกา ถึง 24 นาฬิกา และ 1 นาฬิกา ถึง 5 นาฬิกา จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์แต่ละคนตามกำหนดเวลาทำงานในแต่ละภาคเต็มจำนวนที่กำหนดไว้แล้ว การบริการท่าเทียบเรือและรับฝากสินค้าเป็นกิจกรรมหนึ่งของการขนส่งสินค้า และการขนส่งเป็นธุรกรรมอย่างหนึ่งของกิจการท่าเรือเพราะกิจการท่าเรือของจำเลยส่วนหนึ่งเป็นการขนถ่ายสินค้าจากเรือขึ้นสู่บนบก และเมื่อสินค้าขึ้นบกที่ท่าเรือกรุงเทพย่อมต้องมีที่เก็บรักษาสินค้าให้แก่เจ้าของสินค้าอันเป็นส่วนหนึ่งของการขนส่ง และจำเลยประกาศกำหนดให้งานท่าเรือกรุงเทพเป็นหน่วยงานที่เป็นการขนส่ง โจทก์รวม 29 คน จึงเป็นพนักงานที่ทำงานขนส่ง การได้ค่าล่วงเวลาต้องเป็นไปตามที่จำเลยกำหนดให้ ในปี 2524 คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่ากิจการท่าเรือของจำเลยเป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับงานขนส่งยิ่งกว่างานพาณิชยกรรมเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการลำเลียงเคลื่อนย้ายสิ่งของด้วยเครื่องอุปกรณ์การขนส่ง จึงเป็นการขนส่ง คำฟ้องกล่าวอ้างโดยปราศจากหลักฐานแสดงว่ามีการทำงานล่วงเวลาอย่างไร การฟ้องเรียกค่าล่วงเวลาเป็นการฟ้องเรียกค่าจ้างหรือสินจ้างมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) ค่าล่วงเวลาปี 2542 ถึงปี 2544 และค่าล่วงเวลาเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 2545 ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลางโจทก์ที่ 5 ถึงแก่ความตาย นายประไพ ทายาทยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาต
ก่อนสืบพยานคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า ถ้าฝ่ายโจทก์แพ้คดีโจทก์แต่ละคนไม่มีสิทธิได้รับเงินตามฟ้อง แต่ถ้าฝ่ายโจทก์ชนะคดีโจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้เงินส่วนที่ขาดไปตามเอกสารหมาย ล.1 เฉพาะจำนวนเงินช่วงที่ขาดไปในระยะเวลา 2 ปี ก่อนฟ้องพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่ขาดไปของโจทก์แต่ละคน ตามเอกสารหมาย ล.1 นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุดโดยอาศัยระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 28 และมติคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย การทำงานของโจทก์แต่ละคนเป็นไปตามสัญญาจ้างตำแหน่งงานของโจทก์แต่ละคน บันทึกกิจการของท่าเรือของจำเลยเป็นไปตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1, 4, 5, 10 และ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อพิพาทแรงงานตามเอกสารหมาย ล.2 และฝ่ายโจทก์แถลงว่าจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดและวันทำงานไม่ถูกต้อง ยังขาดไปตามเอกสารหมาย ล.1 เพราะจะต้องจ่ายตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 25 และข้อ 26 แต่จำเลยอ้างว่าได้รับยกเว้นตามข้อ 28 โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้ค่าจ้าง (ที่ถูกค่าล่วงเวลา) ตามฟ้องภายใน 2 ปี แล้วคู่ความแถลงไม่ติดใจสืบพยาน
ต่อมาในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลแรงงานกลางแจ้งให้คู่ความทราบว่าที่คู่ความตกลงรับข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้น ปรากฏว่าเอกสารหมาย ล.1 ที่จำเลยอ้างไม่ตรงกับข้อเท็จจริงตามที่คู่ความแถลงไว้ เนื่องจากตามเอกสารหมาย ล.1 ไม่มีระยะเวลา 2 ปี ก่อนฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 กรกฎาคม 2547) แต่เป็น 2 ปี ของปี 2545 และปี 2546 ข้อเท็จจริงจึงขัดแย้งกัน จำเลยแถลงว่า ระยะเวลา 2 ปี นั้นหมายถึง 2 ปี ก่อนฟ้อง ไม่ใช่ช่วงระยะเวลา 2 ปี ตามที่ระบุในเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งฝ่ายจำเลยเข้าใจผิด จึงขอแถลงเข้ามาใหม่ ต่อมาจำเลยไม่ได้แถลงถึงจำนวนเงินที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับในกรณีที่ฝ่ายโจทก์ชนะคดี และศาลแรงงานกลางอนุญาตให้สืบพยานตามที่คู่ความขอ
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการท่าเรือ ดำเนินกิจการอื่นเกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับการประกอบกิจการท่าเรือ กำหนดเวลาทำงานปกติของพนักงานจำเลยคือวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 8 นาฬิกา ถึง 12 นาฬิกา และ 13 นาฬิกา ถึง 16.30 นาฬิกา หยุดพักเวลา 12 นาฬิกา ถึง 13 นาฬิกา โจทก์รวม 29 คน เป็นลูกจ้างจำเลย โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ที่ 8 ถึงที่ 11 ที่ 13 ถึงที่ 15 ที่ 17 ถึงที่ 20 ที่ 24 ถึงที่ 27 ที่ 30 ถึงที่ 33 และที่ 35 ถึงที่ 37 เป็นลูกจ้างจำเลยอยู่จนถึงวันฟ้อง ส่วนโจทก์ที่ 5 เป็นลูกจ้างจำเลยถึงวันที่ 30 กันยายน 2546 แล้วออกจากงานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2546 และโจทก์ที่ 7 เป็นลูกจ้างจำเลยถึงวันที่ 30 กันยายน 2545 แล้วออกจากงานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 เป็นพนักงานปากเรือ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 มีหน้าที่ควบคุมขับเรือยนต์จากท่าเรือกรุงเทพออกไปรับเชือกเรือสินค้าจากต่างประเทศบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ โจทก์ที่ 6 เป็นกะลาสีประจำเรือยนต์ ทำหน้าที่เป็นคนงานลูกเรือ โจทก์ที่ 8 มีตำแหน่งบริการงานช่างมีหน้าที่บริหารจัดการดูแลพนักงานที่มีหน้าที่ขับรถยกขนถ่ายตู้สินค้าและพนักงานที่มีหน้าที่จัดเก็บสินค้า โจทก์ที่ 9 ที่ 11 ที่ 13 ที่ 14 และที่ 17 เป็นพนักงานขับรถ โดยโจทก์ที่ 9 ที่ 11 ที่ 13 ที่ 14 มีหน้าที่ขับรถยกขนถ่ายตู้สินค้า โจทก์ที่ 17 มีหน้าที่ขับรถเครื่องมือทุ่นแรงยกสินค้าหนักมาก โจทก์ที่ 10 เป็นผู้ช่วยหัวหน้าหมวดยกของ มีหน้าที่ขับรถยกขนถ่ายตู้สินค้าของเอกชนที่ว่าจ้างไปเก็บตรวจสอบ โจทก์ที่15 เป็นพนักงานขับรถเครื่องมือทุ่นแรง มีหน้าที่ขับเคลื่อนรถปั้นจั่นยกตู้สินค้า โจทก์ที่ 8 ถึงที่ 11 ที่ 13 ถึงที่ 15 และที่ 36 ทำหน้าที่ยกขนสินค้าด้วยเครื่องมือทุ่นแรงจากเรือไปเก็บไว้ที่โกดังหรือลานกลางแจ้งแต่ไม่มีหน้าที่ส่งสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพไป คงนำมาวางไว้เพื่อให้เจ้าของสินค้ารับไป โจทก์ที่ 18 ที่ 19 ที่ 24 ถึงที่ 27 และที่ 37 เป็นพนักงานการสินค้า โดยโจทก์ที่ 18 ทำหน้าที่จัดเก็บสินค้า โจทก์ที่ 19 ที่ 26 ที่ 27 และที่ 37 ทำหน้าที่ขับรถลากจูงพ่วงรถบรรทุก โจทก์ที่ 24 ทำหน้าที่ขับรถเครื่องมือทุ่นแรง โจทก์ที่ 25 มีหน้าที่ตรวจสอบค่าภาระตู้สินค้าและตรวจสินค้า โจทก์ที่ 20 เป็นหัวหน้าหมวด ทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบบัตรค่าภาระและค่ายานพาหนะบรรทุกสินค้าตู้สินค้า โจทก์ที่ 30 ที่ 32 และที่ 35 เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย โจทก์ที่ 31 เป็นเจ้าหน้าที่บริหารทั่วไป โจทก์ที่ 32 และที่ 35 ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยความสงบเรียบร้อยในบริเวณการท่าเรือแห่งประเทศไทย โจทก์ที่ 33 เป็นผู้ช่วยหัวหน้ารักษาความปลอดภัย ทำหน้าที่ควบคุมพนักงานรักษาความปลอดภัย โจทก์ที่ 30 ถึงที่ 33 และที่ 35 อยู่ใต้บังคับบัญชาแผนกศูนย์รักษาความปลอดภัย โจทก์ที่ 36 มีตำแหน่งบริหารช่าง ทำหน้าที่ขับรถเครื่องมือทุ่นแรง จำเลยให้โจทก์แต่ละคนทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุดตั้งแต่เดือนมกราคม 2542 ถึงเดือนธันวาคม 2546 โดยกำหนดอัตราค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดแบบเหมาจ่ายตามช่วงเวลาทำงานเป็นภาคใหญ่และภาคเล็กตามระดับตำแหน่ง ส่วนตำแหน่งหน้าที่รักษาความปลอดภัยกำหนดอัตราค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดแบบเหมาจ่ายโดยกำหนดค่าปฏิบัติงานเกินเวลาเป็นผลัดตามอัตราเงินเดือน ตามคำสั่งคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่18/2538 คำสั่งคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่ 7/2543 และคำสั่งประธานกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่ 1/2546 จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาในวันทำงาน ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้โจทก์แต่ละคนตามคำสั่งดังกล่าวครบถ้วนแล้ว โจทก์แต่ละคนสังกัดอยู่งานท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งจำเลยถือว่าเป็นงานขนส่งตามมติคณะกรรมการ กทท. ครั้งที่ 5/2526 ในปี 2524 คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่างานหลักของจำเลยเป็นกิจการที่เกี่ยวกับงานรับเรือ การลำเลียงและขนถ่ายสินค้าขึ้นและลงจากเรือโดยใช้รถลำเลียง รถบรรทุก รถลากจูงและรถเครน ตลอดจนเครื่องทุ่นแรงอื่นๆ อันเป็นอุปกรณ์การขนส่งและการส่งมอบสินค้าจึงเป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับงานขนส่งยิ่งกว่างานพาณิชยกรรม เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับการลำเลียงหรือเคลื่อนย้ายสิ่งของด้วยเครื่องอุปกรณ์การขนส่งตามคำนิยามคำว่างานขนส่งในข้อ 3 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 รายละเอียดปรากฎดตามเอกสารหมาย จ.1 เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1, 2, 4 ถึง 10 แล้ววินิจฉัยว่า คณะกรรมการกฤษฎีกามีคำวินิจฉัยเมื่อปี 2524 ว่ากิจการของจำเลยเกี่ยวเนื่องกับงานขนส่งยิ่งกว่างานพาณิชยกรรม ถือว่าเป็นงานขนส่งคณะกรรมการ กทท. มีมติครั้งที่ 5/2526 ให้หน่วยงานของท่าเรือกรุงเทพถือเป็นงานขนส่ง ถือว่าเป็นการออกมติตามแนวคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงเป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย ดังนั้นโจทก์รวม 29 คน ซึ่งทำงานอยู่ที่ท่าเรือกรุงเทพทำงานในหน่วยงานที่ถือว่าเป็นงานขนส่งตั้งแต่ปี 2526 ไม่ว่าโจทก์แต่ละคนจะมีหน้าที่ใดก็ตามถือว่าทำงานเกี่ยวกับงานขนส่งทั้งสิ้น เนื่องจากงานหลักที่ท่าเรือกรุงเทพเป็นงานลำเลียง ขนถ่าย เคลื่อนย้ายสินค้าที่ใช้เครื่องทุ่นแรงซึ่งเป็นอุปกรณ์การขนส่งเป็นหลัก การทำงานของพนักงานจำเลยที่ท่าเรือกรุงเทพเกี่ยวเนื่องจากการลำเลียงขนถ่ายสินค้า ถ้าไม่มีงานหลักแล้วพนักงานที่ท่าเรือกรุงเทพก็ไม่มีงานที่จะต้องทำ แม้พนักงานซึ่งทำงานที่ท่าเรือกรุงเทพจะไม่มีหน้าที่โดยตรงในการลำเลียง ขนถ่าย เคลื่อนย้ายสินค้าโดยการยกขน ลำเลียง ขนถ่าย เคลื่อนย้ายด้วยเครื่องมือทุ่นแรงก็ตาม ก็ถือว่าทำงานในหน่วยงานขนส่งที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหรือทำงานขนส่งด้วยเพราะเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ อีกทั้งเพื่อมิให้เกิดความเสียเปรียบได้เปรียบต่อกันในระหว่างพนักงานที่ทำงานอยู่ที่ท่าเรือกรุงเทพ มติของคณะกรรมการดังกล่าวถือได้ว่าชอบธรรมแล้ว ซึ่งต่อมาคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ได้วางระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 28 กำหนดให้พนักงานซึ่งรัฐวิสาหกิจให้ทำงานขนส่งไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ 25 และ ข้อ 26 เว้นแต่รัฐวิสาหกิจตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงาน เมื่อจำเลยกำหนดให้งานของท่าเรือกรุงเทพเป็นงานขนส่งและถือว่าพนักงานของจำเลยรวมทั้งโจทก์แต่ละคนที่ทำงานที่ท่าเรือกรุงเทพเป็นพนักงานที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหรือทำงานขนส่งแล้ว การที่จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์แต่ละคนตามที่จำเลยกำหนดจึงมิใช่เป็นการจ่ายขาดไปตามฟ้อง ส่วนปัญหาเรื่องอายุความนั้น เดิมคู่ความแถลงรับกันแต่เนื่องจากเอกสารหมาย ล.1 ที่คู่ความยอมรับกันนั้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริงตามที่คู่ความแถลง ซึ่งจำเลยจะแถลงจำนวนเงินที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับในกรณีที่ฝ่ายโจทก์ชนะคดีเข้ามาใหม่แล้วจำเลยไม่แถลงเข้ามา จึงถือว่าคู่ความไม่ยอมรับกันในประเด็นนี้ แต่เมื่อได้วินิจฉัยประเด็นข้อแรกดังกล่าวแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยประเด็นนี้ต่อไป อย่างไรก็ตามเพื่อมิให้เกิดปัญหาต้องวินิจฉัยประเด็นนี้อีกในกรณีที่ศาลฎีกาไม่เห็นด้วยกับประเด็นข้อแรกเมื่อฝ่ายโจทก์อุทธรณ์ จึงวินิจฉัยต่อไปว่า ค่าล่วงเวลาในวันทำงาน ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามฟ้องเป็นค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่นซึ่งลูกจ้างมีสิทธิเรียกร้องภายในกำหนดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) โจทก์แต่ละคนจึงคงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าล่วงเวลาในวันทำงาน ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดพร้อมดอกเบี้ยได้ภายในกำหนด 2 ปี ก่อนฟ้องคือนับแต่วันฟ้องวันที่ 23 กรกฎาคม 2547 ถอยหลังไปถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2545 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 ที่ 13 ถึงที่ 15 ที่ 17 ถึงที่ 20 ที่ 24 ถึงที่ 27 ที่ 30 ถึงที่ 33 และที่ 35 ถึงที่ 37 รวม 29 คน อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่าลักษณะการทำงานของโจทก์แต่ละคนที่ท่าเรือกรุงเทพเป็นงานขนส่งตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ อยู่ในบังคับพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 และระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (1) และมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุคดีนี้ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 95 วรรคหนึ่ง โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 เป็นพนักงานปากเรือ มีหน้าที่ขับเรือยนต์ โจทก์ที่ 6 เป็นพนักงานปากเรือ มีหน้าที่เป็นคนงานลูกเรือประจำเรือยนต์ ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาและที่คู่ความไม่โต้แย้งกันปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ขับเรือยนต์จากท่าเรือกรุงเทพออกไปรับเชือกเรือสินค้าจากต่างประเทศโดยทำงานประสานกับเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าให้ทราบว่าเรือสินค้าผ่านร่องน้ำเจ้าพระยาเวลาใดเพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าและพนักงานปากเรือบริการนำร่องเรือสินค้าเข้ามาเทียบท่า พนักงานปากเรือมีหน้าที่ขับเรือชี้ตำแหน่งเรือสินค้า แสดงว่าเรือยนต์ที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 ทำหน้าที่พนักงานปากเรือมีหน้าที่ชี้ตำแหน่งเรือสินค้าและรับเชือกเพื่อให้เรือสินค้าผ่านร่องน้ำเจ้าพระยาเข้าเทียบท่าเท่านั้น สำหรับโจทก์ที่ 8 ถึงที่ 11 ที่ 13 ถึงที่ 15 ที่ 17 ที่ 24 และที่ 36 มีหน้าที่ขับรถเครื่องมือทุ่นแรงและยกขนสินค้าด้วยเครื่องมือทุ่นแรงจากเรือสินค้าไปเก็บไว้ที่โกดังสินค้าหรือที่ลานกลางแจ้ง โจทก์ที่ 19 ที่ 26 ที่ 27 และที่ 37 มีหน้าที่ขับรถลากจูงพ่วงรถบรรทุก ปรากฏตามข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่าจำเลยไม่มีหน้าที่ขนสินค้าไปส่งให้ลูกค้า จำเลยกำหนดระเบียบให้ลูกค้ามารับสินค้าเองที่ท่าเรือ การเคลื่อนย้ายสินค้าจากเรือสินค้าขึ้นท่าแล้วเก็บไว้ที่โกดังสินค้าหรือที่ลานกลางแจ้งเพื่อรอให้เจ้าของสินค้ามารับไป เป็นการเอาสินค้าออกจากที่หนึ่งไปใส่อีกที่หนึ่งซึ่งเป็นการขนถ่ายสินค้าจากเรือขึ้นมาเก็บไว้ที่โกดังสินค้าหรือลานกลางแจ้ง โดยไม่ได้ทำให้สินค้าเคลื่อนที่พ้นจากบริเวณของท่าเรือเพื่อให้ถึงผู้รับหรือเจ้าของสินค้าจึงไม่ใช่การส่งสินค้า การเคลื่อนย้ายสินค้าตามข้างต้นเป็นเพียงการขนถ่ายสินค้าจากเรือสินค้าขึ้นท่าเพื่อให้มีการเชื่อมต่อการขนส่งระหว่างเรือสินค้ากับการขนส่งด้วยยานพาหนะอื่นเท่านั้น ดังนั้นแม้การปฏิบัติงานของโจทก์ที่ 8 ถึงที่ 11 ที่ 13 ถึงที่ 15 ที่ 17 ที่ 19 ที่ 24 ที่ 26 ที่ 27 ที่ 36 และที่ 37 มีการเคลื่อนย้ายสินค้าด้วยยานพาหนะหรืออุปกรณ์เคลื่อนย้ายสินค้าซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น แต่เมื่อเป็นการเคลื่อนย้ายสินค้าอยู่ในบริเวณของท่าเรือไม่ได้ส่งสินค้าพ้นจากบริเวณของท่าเรือเพื่อให้ถึงผู้รับหรือเจ้าของสินค้าจึงไม่ใช่การขนส่ง ส่วนโจทก์ที่ 18 มีหน้าที่จัดเก็บสินค้า โจทก์ที่ 20 มีหน้าที่ตรวจสอบบัตรค่าภาระและค่ายานพาหนะบรรทุกสินค้าและตู้สินค้า โจทก์ที่ 25 มีหน้าที่ตรวจสอบภาระตู้สินค้าและตรวจสอบสินค้า เป็นการปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับการขนถ่ายสินค้า ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายและส่งสินค้า จึงไม่ใช่การขนส่งสินค้าเช่นกัน สำหรับโจทก์ที่ 30 ถึงที่ 33 และที่ 35 ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในบริเวณท่าเรือ ไม่ใช่การทำงานขนส่ง ดังนั้นงานที่โจทก์รวม 29 คน ทำจึงไม่ใช่งานขนส่งตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 28 (2) (ซึ่งกำหนดให้พนักงานรัฐวิสาหกิจไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา) โจทก์รวม 29 คน มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ 25, 26
มีปัญหาวินิจฉัยประการที่สองว่าโจทก์รวม 29 คน มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดหรือไม่ เห็นว่า โจทก์รวม 29 คน ฟ้องเรียกค่าทำงานในวันหยุด จำเลยไม่ให้การต่อสู้ในเรื่องนี้ ข้อเท็จจริงยุติว่าโจทก์รวม 29 คน ทำงานในวันหยุด ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 30 (1) ระบุว่ารัฐวิสาหกิจที่ให้พนักงานซึ่งมีสิทธิได้รับเงินเดือนค่าจ้างเป็นรายชั่วโมงหรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่นทำงานในวันหยุด ให้รัฐวิสาหกิจนั้นจ่ายค่าทำงานในวันหยุดแก่พนักงานเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 1 เท่า ของเงินเดือนค่าจ้างในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงทำงานในวันหยุด เมื่อโจทก์รวม 29 คน ทำงานในวันหยุดจึงมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดตามข้อ 30 ไม่จำต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์รวม 29 คนต่อไปว่าในกรณีที่จำเลยตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงานที่จำเลยให้ทำงานขนส่งตามข้อ 28 แล้วจำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาตามอัตราในข้อ 25, 26 หรือไม่ และคำพิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยถึงค่าทำงานในวันหยุดแล้วหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง อุทธรณ์ของโจทก์ร่วม 29 คน ฟังขึ้น
อนึ่ง ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ค่าล่วงเวลาในวันทำงาน ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) โจทก์แต่ละคนจึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าล่วงเวลาในวันทำงาน ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดพร้อมดอกเบี้ยได้ภายในกำหนด 2 ปี ก่อนฟ้องคือนับแต่วันฟ้องวันที่ 23 กรกฎาคม 2547 ถอยหลังไปถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2545 โจทก์รวม 29 คน อุทธรณ์ขอให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาในวันทำงาน ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดโดยไม่อุทธรณ์ในประเด็นอายุความ ดังนั้นโจทก์แต่ละคนจึงมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาในวันทำงาน ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2545 ถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2547 แต่โจทก์แต่ละคนบรรยายฟ้องเกี่ยวกับเงินดังกล่าวมาเพียงถึงเดือนธันวาคม 2546 และฟ้องขอดอกเบี้ยของเงินดังกล่าวมาด้วย ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงมาแล้วบางส่วนว่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2545 ถึงเดือนธันวาคม 2546 โจทก์แต่ละคนได้รับเงินเดือนเดือนละเท่าใด มีวันทำงานปกติและหยุดเดือนละเท่าใด ทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและทำงานล่วงเวลาในวันหยุดกี่ชั่วโมง ทำงานในวันหยุดกี่วัน จำเลยจ่ายให้แล้วคนละเท่าใด แต่ยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงในส่วนของกำหนดวันจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาในวันทำงาน ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด อันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ในการเริ่มนับอายุความและเป็นวันผิดนัดที่จะเริ่มคิดดอกเบี้ยได้ ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงให้แน่ชัดว่าโจทก์แต่ละคนทำงานในวันหยุดในช่วงเวลาทำงานปกติกี่ชั่วโมง และในปี 2545 ในช่วงเวลาที่ไม่ขาดอายุความโจทก์แต่ละคนทำงานในวันทำงาน ทำงานในวันหยุด และทำงานล่วงเวลาในวันหยุดกี่ชั่วโมง มีเวลาพักหรือไม่ ศาลฎีกาจึงไม่อาจคำนวณค่าล่วงเวลาในวันทำงาน ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และค่าทำงานในวันหยุดที่จำเลยจะต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์แต่ละคนได้ จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงในปัญหาดังกล่าวโดยให้คำนวณจำนวนค่าล่วงเวลาในวันทำงาน ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และค่าทำงานในวันหยุดที่จำเลยจะต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์แต่ละคนด้วย”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในส่วนของกำหนดวันจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาในวันทำงาน ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด โจทก์แต่ละคนทำงานในวันหยุดในช่วงเวลาทำงานปกติกี่ชั่วโมง และในปี 2545 ในช่วงเวลาที่ไม่ขาดอายุความโจทก์แต่ละคนทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน ทำงานในวันหยุด และทำงานล่วงเวลาในวันหยุดกี่ชั่วโมง มีเวลาพักหรือไม่ และให้คำนวณจำนวนค่าล่วงเวลาในวันทำงาน ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และค่าทำงานในวันหยุดที่จำเลยจะต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์แต่ละคนด้วยแล้วให้ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีในส่วนค่าล่วงเวลาในวันทำงาน ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดไปตามรูปความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (3 ) (ข) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 3

Share