คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3384/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ที่เปิดบัญชีไว้กับธนาคารเพื่อประโยชน์ของโจทก์ในวันเดียวกับที่โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการที่โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสอง จึงเป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพันซึ่งผู้ให้ไม่อาจถอนคืนการให้เพราะเหตุเนรคุณได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 535 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นมารดาของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 และเป็นหลานของโจทก์ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2533 โจทก์ยกที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์โฉนดเลขที่ 1605 เนื้อที่ประมาณ 24 ไร่ 2 งาน 69 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 1 และยกที่ดินโฉนดเลขที่ 16347 เนื้อที่ประมาณ 19 ไร่ 3 งาน 8 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 2 และนายทองสุข โดยเสน่หา ต่อมาจำเลยที่ 2 แบ่งแยกที่ดินเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ ที่ได้รับการยกให้ดังกล่าวออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 63327 เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2539 เป็นต้นมา จำเลยทั้งสองประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ไม่ยอมให้เงินที่โจทก์ฝากให้จำเลยที่ 1 เก็บรักษาไว้เพื่อโจทก์จะนำไปใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาล และจำเลยที่ 1 พูดว่า “ไม่มีให้ ปากดีนัก ต่อไป จะไม่ให้กิน จะปล่อยให้อดตายห่า” โจทก์จึงขอที่ดินคืน จำเลยที่ 1 ก็พูดว่า “ยกที่ดินให้แล้วหมาที่ไหนจะคืนให้ พูดไม่มีศีลธรรม ไม่นับเป็นแม่ลูกกันอีกต่อไป” อันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง และจำเลยทั้งสองอยู่ในฐานะจะช่วยเหลือโจทก์ได้แต่ไม่ช่วยเหลือกลับปล่อยให้โจทก์อยู่อย่างยากไร้โดยไม่มีสิ่งจำเป็นในการเลี้ยงชีพ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 1605 ตำบลคลองหก (คลองหกวาสายบนฝั่งใต้) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เฉพาะส่วนที่โจทก์ยกให้คืนแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 63327 ตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ที่โจทก์ยกให้คืนแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติ โจทก์ขอถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์เป็นมารดาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยังมีพี่น้องร่วมบิดาและมารดาเดียวกันอีก 2 คน คือนายต่อม และนายทองสุข หลังจากที่นายต่อมและนายทองสุขแยกครอบครัวออกไป โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงพักอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน โดยทำการค้าและการเกษตรร่วมกันจนสามารถซื้อขายที่ดินร่วมกันได้หลายแปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 9789 เนื้อที่ 12 ไร่ 1 งาน 72 ตารางวา ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ที่ดินโฉนดเลขที่ 1605 เนื้อที่ 46 ไร่ 1 งาน 38 ตารางวา ใส่ชื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน และที่ดินยังไม่ทราบหมายเลขโฉนด ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ประมาณ 60 ไร่ ใส่ชื่อโจทก์เพียงผู้เดียวเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต่อมาโจทก์ยกที่ดินยังไม่ทราบหมายเลขโฉนดดังกล่าวให้แก่นายทองสุข และนายต่อม คนละกึ่ง และยกที่ดินโฉนดเลขที่ 9789 ให้แก่นายต่อม ทั้งที่เป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ร่วมกันซื้อมา โจทก์จึงสัญญาว่าจะยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1605 เฉพาะส่วนของโจทก์ และที่ดินเลขที่ 16347 อันเป็นทรัพย์มรดกของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 ประมาณ 10 ไร่ เพื่อทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 9789 ที่โจทก์ยกกรรมสิทธิ์ให้แก่นายต่อมไป ต่อมาโจทก์ยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินเฉพาะส่วนโฉนดเลขที่ 1605 ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ดินโฉนดเลขที่ 16347 เฉพาะส่วนเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์เป้ฯเงิน 250,000 บาท ในวันโอนกรรมสิทธิ์ จึงเป็นการให้โดยมีค่าตอบแทน จำเลยทั้งสองไม่เคยประพฤติเนรคุณโจทก์ ไม่เคยพูดจาต่อว่าโจทก์ ตามที่โจทก์ฟ้อง และไม่เคยพูดจาดูหมิ่นเหยียดหยามหรือหมิ่นประมาทโจทก์ จำเลยทั้งสองร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูคอยดูแลโจทก์มาโดยตลอด ก่อนที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โจทก์มิได้เป็นผู้ยากไร้เพราะโจทก์อาศัยอยู่กับนายสำเริง ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้มีฐานะดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 โจทก์ถึงแก่ความตาย นายทองสุข ยื่นคำขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นมารดาของจำเลยที่ 1 นายต่อมหรือพระภิกษุต่อม และนายทองสุข ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นมารดาของจำเลยที่ 2 และนายสำเริงหรือณัฐ โจทก์พักอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 1 มาโดยตลอด เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2533 โจทก์จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1605 ตำบลบึงตะเคียน (เดิม) หรือตำบลคลองหก (คลองหกวาสายบนฝั่งใต้) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เฉพาะส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.2 และโจทก์จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 16347 ตำบลคลองหก (คลองหกวาฝั่งใต้) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.8 ให้แก่จำเลยที่ 2 หลังจากนั้น 3 ปี โจทก์ไม่อาศัยอยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 โดยย้ายไปอยู่บ้านนายสำเริง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่โจทก์ให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยทั้งสองเป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพันหรือไม่ โจทก์เบิกความว่า นอกจากโจทก์ยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยทั้งสองแล้ว โจทก์ยังยกทรัพย์สินอื่นให้แก่จำเลยที่ 1 อีก คือ ทองคำ จำนวน 8 บาท ปืนสั้น 1 กระบอก ปืนยาว 1 กระบอก บ้านจำนวน 3 หลัง และยังฝากเงินสดไว้ให้อีกจำนวน 250,000 บาท หลังจากยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ไม่ดูแลและเลี้ยงดูโจทก์ โจทก์จึงประสงค์จะขอถอนคืนการให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจากจำเลยทั้งสอง ส่วนจำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน คือจำเลยที่ 1 นายต่อมหรือพระภิกษุต่อม และนายทองสุข ทั้งนายต่อมและนายทองสุขต่างมีครอบครัวและแยกตัวออกไปอาศัยอยู่ที่อื่น โดยบิดามารดาได้แบ่งที่ดินให้แก่บุตรทั้งสองคนไปแล้ว ส่วนจำเลยที่ 1 ยังคงอาศัยอยู่ร่วมกับบิดาและมารดา ต่อมาจำเลยที่ 1 และโจทก์ได้ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 โดยใส่ชื่อจำเลยที่ 1 และโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ต่อมาโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้รับส่วนแบ่งที่ดินจึงประสงค์จะยกที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 ในส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์บอกให้จำเลยที่ 1 มอบเงินจำนวน 250,000 บาท ให้แก่โจทก์เพื่อไว้ใช้แล้วจึงโอนกรรมสิทธิ์ให้ จำเลยที่ 1 ตกลงยินยอมและได้นำเงินจำนวนดังกล่าวฝากเข้าบัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาวังน้อย ให้แก่โจทก์ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2533 ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันที่โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 เฉพาะส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 หลังจากนั้นโจทก์ก็ได้เบิกถอนเงินในบัญชีดังกล่าวไปใช้โดยครั้งที่ถอนมากที่สุดเป็นเงิน 188,500 บาท ซึ่งโจทก์ให้นายทองสุขนำใบถอนเงินมาให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อ จำเลยที่ 2 เบิกความว่า โจทก์ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แปลงหนึ่ง ส่วนอีกแปลงหนึ่งยกให้แก่จำเลยที่ 2 โดยยกให้ในวันเดียวกัน และจำเลยทั้งสองได้มอบเงินจำนวน 250,000 บาท ให้แก่โจทก์ เห็นว่า โจทก์เบิกความยืนยันว่าโจทก์ยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยทั้งสองโดยเสน่หาส่วนจำเลยทั้งสองเบิกความยืนยันว่าได้มอบเงินจำนวน 250,000 บาท ให้ไว้แก่โจทก์ ตามที่โจทก์เรียกร้องเพื่อตอบแทนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลง โดยจำเลยทั้งสองได้นำเงินจำนวน 250,000 บาท ฝากเข้าในบัญชีเงินฝากของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาวังน้อย ในวันที่ 22 สิงหาคม 2533 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยทั้งสอง สมุดบัญชีเงินฝากดังกล่าวระบุชื่อบัญชีว่า “นางอุดร (คือจำเลยที่ 1) เพื่อนางกิมลี้ (คือโจทก์) เปิดบัญชีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2532 จำนวนเงิน 50,000 บาท ซึ่งในชั้นไต่สวนคำร้องขออนาถาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1676/2540 ของศาลชั้นต้น โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่าโจทก์มีบัญชีเงินฝากตามเอกสารหมาย ล.1 เปิดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2532 มีเงินจำนวน 50,000 บาท จำเลยที่ 1 เป็นผู้ฝากเงินในบัญชีเพื่อโจทก์ และนายทองสุขตอบทนายโจทก์ถามติงในสำนวนคดีดังกล่าวว่า เงินในบัญชีเอกสารหมาย ล.1 จำนวน 50,000 บาท นั้น จำเลยที่ 1 คืนให้โจทก์เนื่องจากจำเลยที่ 1 ขอยืมเงินโจทก์ไปซื้อที่นา แล้วจำเลยที่ 1 ก็เปิดบัญชีดังกล่าวคืนเงินจำนวน 50,000 บาท ให้ และการถอนเงินในบัญชีเอกสารหมาย ล.1 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถอนเนื่องจากโจทก์เขียนหนังสือไม่ได้ และโจทก์ยังเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านในคดีดังกล่าวอีกว่า ในวันที่ 22 สิงหาคม 2533 ซึ่งเป็นวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 นำเงินจำนวน 250,000 บาท ฝากเข้าในบัญชีดังกล่าว โจทก์มีบัญชีเงินฝากเอกสารหมาย ล.1 เพียงบัญชีเดียว ไม่มีบัญชีอื่น และโจทก์เบิกเงินในบัญชีดังกล่าวมารักษาตัว นายทองสุขเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านในคดีดังกล่าวว่า นายทองสุขเคยถอนเงินจากบัญชีเอกสารหมาย ล.1 จำนวน 188,500 บาท แล้วนำเงินไปให้โจทก์ และโจทก์นำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้จ่าย และในชั้นพิจารณาคดีนายทองสุขก็เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า เมื่อปี 2539 นายทองสุกเคยเบิกเงินจากธนาคารจำนวนประมาณ 180,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในใบเบิกเงินดังกล่าว และมอบให้นายทองสุขไปเบิก เมื่อเบิกได้เงินจากธนาคารแล้วได้นำเงินทั้งหมดไปให้แก่โจทก์ และพระภิกษุต่อมหรือนายต่อมเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านในคดีนี้ว่า จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในใบถอนเงินจากบัญชีในธนาคาร และมอบให้นายทองสุขไปเบิกเงินจำนวน 100,000 บาท เพื่อนำไปใช้ค่ารักษาพยาบาลโจทก์ ส่วนที่ในชั้นพิจารณาคดีนี้โจทก์ตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่าเงินจำนวน 250,000 บาท มิใช่เงินที่จำเลยที่ 1 โอนเข้าบัญชีให้แก่โจทก์ซึ่งขัดแย้งกับคำเบิกความโจทก์ตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านในชั้นไต่สวนคำร้องขออนาถาจึงเป็นพิรุธ พยานหลักฐานจำเลยทั้งสองจึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าบัญชีเงินฝากตามเอกสารหมาย ล.1 นั้น จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีโดยระบุชื่อบัญชีว่า “นางอุดร เพื่อนางกิมลี้” ก็เพื่อเก็บรักษาเงินของโจทก์ไว้ เพราะโจทก์อ่านและเขียนหนังสือไม่ได้ ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน โจทก์จึงให้ใช้ชื่อจำเลยที่ 1 เปิดบัญชี ซึ่งบุคคลอื่นของโจทก์ทั้งนายทองสุขและพระภิกษุต่อมต่างก็ยอมรับว่า การเบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้เบิกแทนโจทก์ และเงินที่เบิกได้จะนำมาให้โจทก์เป็นผู้ใช้จ่าย จึงเป็นที่ประจักษ์ว่าเงินในบัญชีตามเอกสารหมาย ล.1 เป็นเงินส่วนของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจเบิกถอนแทนให้เท่านั้นเอง ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองนำเงินจำนวน 250,000 บาท ฝากเข้าในบัญชีตามเอกสารหมาย ล.1 ในวันเดียวกับที่โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ก็เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการที่โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยทั้งสอง การให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงของโจทก์แก่จำเลยทั้งสองจึงเป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน ซึ่งผู้ให้ไม่อาจถอนคืนการให้เพราะเหตุเนรคุณได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตาม 535 (2) กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์เรียกถอนคืนการให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพราะเหตุจำเลยทั้งสองประพฤติเนรคุณได้หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share