แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔/๒๕๕๓
วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๓
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดนครสวรรค์
ระหว่าง
ศาลปกครองพิษณุโลก
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนครสวรรค์ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๑ นางสาวเบญจาหรือเบ็ญจา วงศ์สุฤทธิ์ โจทก์ ยื่นฟ้องนายนิตย์ จันทร์อิ่ม ที่ ๑ นายณรงค์ แพทย์รัตน์ ที่ ๒ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครสวรรค์ ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๓๙๑/๒๕๕๑ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๙๕๗ ตำบลหนองปลิง อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ เนื้อที่ ๑ ไร่ ๓ งาน ๙๓ ตารางวา โดยซื้อมาจากนายทรงวุฒิ จันทรวรชาติ เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๒๙ และเข้าครอบครองทำประโยชน์เรื่อยมา เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๔๗ จำเลยที่ ๑ แต่งตั้งจำเลยที่ ๒ เป็นทนายความให้ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ โดยอ้างว่าได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็นความเท็จ และอ้างต่อศาลโดยเจตนาปกปิดภูมิลำเนาของโจทก์เพื่อมิให้โจทก์เข้ามาคัดค้านว่า ไม่สามารถส่งหมายเรียกและสำเนาคำร้องให้โจทก์ได้ ขอให้ศาลอนุญาตให้ประกาศทางหนังสือพิมพ์แทน ศาลจังหวัดนครสวรรค์มีคำสั่งในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๒/๒๕๔๘ ว่า จำเลยที่ ๑ ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๙๕๗ โดยการครอบครองปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ ต่อมาจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวตามคำสั่งศาล และจำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้จำเลยที่ ๒ กึ่งหนึ่ง โดยไม่มีค่าตอบแทน จำเลยที่ ๓ จดทะเบียนให้ตามคำร้องดังกล่าว โดยไม่ดำเนินการเรียกให้โจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินฉบับผู้ถือให้แก่จำเลยที่ ๓ เพื่อนำมาจดทะเบียน แต่กลับออกใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ การกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นการร่วมกันทุจริตแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จและเบิกความเท็จต่อศาล ทั้งร่วมกันจดทะเบียนใส่ชื่อถือกรรมสิทธิ์และแบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยมิชอบ และการกระทำของจำเลยที่ ๓ เป็นการกระทำที่ไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้จำเลยที่ ๑ และการจดทะเบียนนิติกรรมที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ รวมถึงเพิกถอนการออกใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๙๕๗ ตำบลหนองปลิง อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ กับขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ อนึ่ง ก่อนยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ โจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ในมูลคดีเดียวกันกับคดีนี้ เป็นคดีอาญาของศาลจังหวัดนครสวรรค์ หมายเลขดำที่ ๑๙๒๙/๒๕๔๙ ข้อหาเบิกความเท็จเกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว ศาลจังหวัดนครสวรรค์มีคำพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗ ลงโทษจำคุก ๒ ปี ปรับ ๕,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี (คดีอาญาของศาลจังหวัดนครสวรรค์ หมายเลขแดงที่ ๒๖๓๘/๒๕๕๐)
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า โจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๙๕๗ โจทก์สละการถือครองกรรมสิทธิ์โดยมิได้ทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่เคยแถลงเท็จต่อศาลเกี่ยวกับที่อยู่ของโจทก์ คดีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ เบิกความเท็จนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า จำเลยที่ ๑ สุจริต การที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามระเบียบของทางราชการ เป็นไปโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่เคยร่วมกันแสดงพยานหลักฐานเท็จและเบิกความเท็จต่อศาล โจทก์ไม่อาจเรียกค่าเสียหายได้ ทั้งค่าเสียหายนั้นขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ ไม่มีข้อพิพาทโดยตรงกับโจทก์ การที่จำเลยที่ ๓ ออกใบแทนโฉนดที่ดินนั้นได้ประกาศให้โจทก์ทราบแล้วซึ่งโจทก์ก็ไม่คัดค้าน และไม่มีกฎหมาย ระเบียบ หรือคำสั่งของกรมที่ดิน ให้เรียกโจทก์ส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินเพื่อจดทะเบียนตามที่โจทก์กล่าวอ้าง การกระทำของจำเลยที่ ๓ จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งกรมที่ดินแล้ว และไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหาย ทั้งฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายขาดอายุความแล้ว โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้แจ้งชัดว่าเสียหายอย่างไร ฟ้องโจทก์ในข้อนี้จึงเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนที่ดิน และขอให้เพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดิน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ ๓ อันเป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ ๓ กระทำการโดยไม่สุจริตและมิชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดนครสวรรค์พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลจะมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามอ้างอยู่หรือไม่ จึงจะพิจารณาว่าจะเพิกถอนการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม การเพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินและพิจารณาว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีเป็นการฟ้องว่าเจ้าพนักงานที่ดินไม่เรียกโฉนดที่ดินของโจทก์ก่อนออกใบแทนโฉนดที่ดิน จึงเป็นการฟ้องว่าเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมไม่เป็นไปตามขั้นตอนหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เมื่อโจทก์ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและเพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินพิพาท จึงเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง รวมทั้งขอให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหาย ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง และการที่ศาลปกครองมีคำวินิจฉัยในคดีนี้ไม่ว่าในทางใด ย่อมไม่มีผลเป็นการแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของคู่ความหรือมีผลเป็นการลบล้างคำสั่งศาลจังหวัดนครสวรรค์ที่แสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทที่ได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นเอกชนด้วยกัน จำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสาม กรณีจำเลยที่ ๑ แต่งตั้งจำเลยที่ ๒ เป็นทนายความ ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ โฉนดเลขที่ ๕๙๕๗ อันเป็นการร่วมกันทุจริตแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จและเบิกความเท็จต่อศาล ทำให้ศาลจังหวัดนครสวรรค์มีคำสั่งให้จำเลยที่ ๑ ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวด้วยการครอบครองปรปักษ์ ทั้งยังร่วมกันยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ ๓ ขอจดทะเบียนใส่ชื่อถือกรรมสิทธิ์และแบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยมิชอบ จำเลยที่ ๓ จดทะเบียนให้ตามคำร้องของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยไม่เรียกให้โจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินฉบับผู้ถือให้แก่จำเลยที่ ๓ เพื่อนำมาจดทะเบียน แต่กลับออกใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ อันเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้จำเลยที่ ๑ และการจดทะเบียนนิติกรรมที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ รวมถึงเพิกถอนการออกใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๙๕๗ กับขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า โจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท โจทก์สละการถือครองกรรมสิทธิ์โดยมิได้ทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวแล้ว และจำเลยที่ ๓ ให้การว่า การกระทำของจำเลยที่ ๓ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งกรมที่ดินแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมุ่งประสงค์ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้รับรองและคุ้มครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ และเป็นกรณีที่คู่ความยังโต้แย้งกันเกี่ยวกับกรรมสิทธิในที่ดินพิพาท ซึ่งการที่ศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาตามที่โจทก์มีคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกันเป็นสำคัญแล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปได้ คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางสาวเบญจาหรือเบ็ญจา วงศ์สุฤทธิ์ โจทก์ นายนิตย์ จันทร์อิ่ม ที่ ๑ นายณรงค์ แพทย์รัตน์ ที่ ๒ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครสวรรค์ ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ