คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 740/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยอุทธรณ์ว่า ว. ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่โดยไม่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง ถือว่าเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลภาษีอากรกลางในเรื่องการมอบอำนาจให้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ อันเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯมาตรา 25

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินตามใบแจ้งรายการประเมินประจำปีภาษี 2547 (ที่ถูกประจำปีภาษี 2548) เล่มที่ 1 เลขที่ 5 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2548 และใบแจ้งคำชี้ขาด เล่มที่ 1 เลขที่ 1 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2548 ให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแก่โจทก์จำนวน 19,125 บาท ภายในสามเดือน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดเวลาดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจต้องอยู่ในบังคับตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 31 วรรคท้าย เมื่อโจทก์ไม่พอใจคำชี้ขาดจะต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดและมติของคณะรัฐมนตรีย่อมเป็นที่สุด การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลโดยมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ดังกล่าว ถือว่าโจทก์ยอมรับว่าคำชี้ขาดถูกต้อง อีกทั้งโจทก์ไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2540 และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 ที่กำหนดให้โจทก์ส่งเรื่องที่พิพาทแก่สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการส่งให้คณะกรรมการชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาตัดสินชี้ขาดแล้วเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และโจทก์มิได้มอบอำนาจให้นายอนุรุต หรือนายวีระวัฒน์ เป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ จึงถือว่าโจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงเป็นที่สุด โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลตามมาตรา 7และมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 หมายถึง สิ่งปลูกสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้นอาจมีลักษณะเป็นการถาวรหรือเป็นส่วนควบกับที่ดินหรือไม่ก็ได้ ที่ทำให้ที่ดินนั้นเปลี่ยนแปลงสภาพไปจากธรรมชาติที่เคยเป็นอยู่ และไม่จำเป็นต้องเป็นที่อยู่อาศัยหรือใช้เป็นที่ไว้สินค้า แต่เป็นสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ในการประกอบกิจการตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ที่โจทก์ปลูกสร้างเพื่อให้ประชาชนที่ใช้บริการโทรศัพท์ได้รับความสะดวกแก่การใช้บริการและเพื่อป้องกันมิให้โทรศัพท์เสียหาย ก่อให้เกิดประโยชน์และรายได้แก่โจทก์ จึงเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ และไม่ถือว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือสาธารณะที่จะได้รับยกเว้นภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 9 (2) การประเมินและคำชี้ขาดการประเมินของจำเลยจึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยตามใบแจ้งรายการประเมิน ประจำปีภาษี 2547(ที่ถูกประจำปีภาษี 2548) เล่มที่ 1 เลขที่ 5 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2548และใบแจ้งคำชี้ขาด เล่มที่ 1 เลขที่ 1 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2548 ให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีจำนวน 19,125 บาท ภายในสามเดือน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดสามเดือนจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกมีว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากไม่ได้มอบอำนาจให้นายวีระวัฒน์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่หรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า นายวีระวัฒน์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาประเมินใหม่โดยไม่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลภาษีอากรกลางในเรื่องการมอบอำนาจให้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่อันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อคดีนี้โจทก์ขอให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน 19,125 บาท จึงเป็นคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาท ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 25 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประการต่อไปมีว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจไม่ได้รับยกเว้นที่จะไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่11 มีนาคม 2540 และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 ต้องส่งเรื่องที่พิพาทให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการ และกรณีที่โจทก์ไม่พอใจคำชี้ขาดต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำชี้ขาด การที่โจทก์ไม่ดำเนินการถือว่าโจทก์ยอมรับคำชี้ขาด ค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามคำชี้ขาดจึงเป็นจำนวนเด็ดขาดและเป็นที่สุด ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 31 วรรคท้าย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีในเรื่องการยุติการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2540 และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 ไม่ใช่กฎหมายที่จะตัดอำนาจฟ้องของผู้ถูกโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายแพ่ง เมื่อตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าถูกโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ส่วนปัญหาว่ากรณีที่โจทก์ไม่พอใจคำชี้ขาดต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 31 วรรคท้าย หรือไม่นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับการประเมินและคำชี้ขาดเพราะเป็นการประเมินและคำชี้ขาดโดยไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยโจทก์เห็นว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือใช้ในกิจการสาธารณะซึ่งมีไว้เพื่อประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันย่อมได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาด ถือว่าเป็นการฟ้องอ้างว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ไม่ใช่กรณีที่โจทก์เห็นว่าจำนวนเงินที่ประเมินและตามคำชี้ขาดสูงเกินสมควรแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่ต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาลดหย่อนค่ารายปีตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 31 วรรคท้าย และคำชี้ขาดดังกล่าวยังไม่เด็ดขาด โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามที่จำเลยประเมินหรือไม่จำเลยอุทธรณ์ว่า ตู้โทรศัพท์สาธารณะเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 5 และตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ไม่ใช่ทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือสาธารณะ จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 9 (2) เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 5 บัญญัตินิยามของคำว่าโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นให้กินความถึงแพด้วย เท่านั้น โดยมิได้กำหนดความหมายไว้โดยเฉพาะ เมื่อพิจารณาลักษณะตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์แล้ว เห็นได้ว่า มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างหนึ่ง แม้จะวางอยู่บนแท่นคอนกรีตและสามารถยกเคลื่อนย้ายได้ไม่ยากเพราะไม่ได้เชื่อมติดกับทางสาธารณะหรือพื้นดินเป็นการถาวรและไม่มีลักษณะเป็นส่วนควบกับที่ดิน ทั้งไม่มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่เข้าอยู่อาศัยได้หรือใช้เป็นที่ไว้สินค้า แต่พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ก็มิได้กำหนดให้จัดเก็บภาษีเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะติดอยู่กับที่ดินเป็นการถาวรหรือเป็นส่วนควบกับที่ดินเท่านั้น และในขณะที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินภาษีนั้น ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์มิได้มีการเคลื่อนย้ายแต่ได้ใช้คุ้มครองป้องกันมิให้เครื่องโทรศัพท์เสียหาย และให้บริการประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์ให้มีความปลอดภัย สะดวกสบาย จึงเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบกิจการก่อให้เกิดประโยชน์และรายได้แก่โจทก์และถือเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 5 ส่วนกรณีทรัพย์สินที่จะได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามมาตรา 9 (2) นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือสาธารณะ เมื่อโจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจและกฎหมายมิได้บัญญัติให้ยกเว้นภาษีดังเช่นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการรถไฟโดยตรง ตู้โทรศัพท์สาธารณะซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 9 (2) ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share