แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ซึ่งเป็นมารดาของผู้ร้องและจำเลยเนื่องจากจำเลยอ้างว่า บ. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้จำเลย แล้วจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยและนำไปจำนองเป็นประกันหนี้ต่อโจทก์ต่อมาศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์และให้ยึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดซึ่งโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเพื่อบังคับคดีแล้ว แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องในคดีที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกขอให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ศาลไต่สวนและมีคำสั่งถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกเนื่องจากพินัยกรรมที่จำเลยอ้างเป็นโมฆะ และตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแทน คดีถึงที่สุดแล้ว กรณีจึงต้องถือว่าขณะจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทให้แก่ตนเองในฐานะส่วนตัวทั้งที่ตนไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมที่อ้าง เป็นการทำนิติกรรมซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของ บ. อันเป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โดยถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลยกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังเป็นของกองมรดกของ บ. อยู่ตามเดิม สัญญาจำนองที่จำเลยในฐานะส่วนตัวทำกับโจทก์ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ แก่โจทก์ที่จะบังคับเอาแก่ที่ดินพิพาท เพราะผู้จำนองไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่จำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 แม้โจทก์จะอ้างว่ารับจำนองโดยสุจริตก็ตาม
เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องในคดีที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเพื่อบังคับคดีโดยอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าว และขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดี จึงเป็นคำร้องที่มีความหมายว่า โจทก์ขอหมายบังคับคดีเอาแก่ที่ดินพิพาทซึ่งมิใช่กรรมสิทธิ์ของจำเลยที่เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา และโจทก์ไม่ได้เป็นผู้รับจำนองไว้โดยชอบ เพราะไม่ได้รับจำนองไว้จากผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ แต่เป็นการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของบุคคลภายนอก อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 282 วรรคหนึ่ง ถือได้ว่าผู้ร้องกล่าวอ้างว่าหมายบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ยื่นคำขอเจาะจงว่าให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาท และศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้ตามขอ ถือได้ว่าเป็นการออกหมายบังคับคดีโดยไม่ชอบตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลชอบที่จะเพิกถอนหมายบังคับคดีดังกล่าวได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 4,560,140 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 3,850,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 9161 ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนอง ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้ตามขอ และต่อมาโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองเพื่อนำออกขายทอดตลาด
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 9161 ที่จำเลยจำนองไว้แก่โจทก์เดิมเป็นของนางบัวคลี่ซึ่งเป็นมารดาผู้ร้องและจำเลย จำเลยปลอมพินัยกรรมของนางบัวคลี่และนำไปประกอบในการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกจนศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางบัวคลี่ และจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย แล้วนำไปจำนองไว้แก่โจทก์เป็นประกันหนี้เงินกู้ ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางบัวคลี่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพินัยกรรมที่จำเลยอ้างในการขอเป็นผู้จัดการมรดกเป็นโมฆะ และถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางบัวคลี่คดีถึงที่สุดแล้ว ขณะยื่นคำร้องนี้ผู้ร้องกำลังดำเนินการรวบรวมเอกสารเพื่อยื่นฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาท ขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีและหรืองดการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 9161 ไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีที่ผู้ร้องยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองถึงที่สุด
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ได้กล่าวอ้างในคำร้องว่าการออกหมายบังคับคดีและหรือคำสั่งให้ขายทอดตลาดที่ดินพิพาทของศาลไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนหมายบังคับคดีและหรืองดการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท หนี้จำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์จึงชอบที่จะบังคับจำนองได้ ส่วนการร้องขอให้เพิกถอนผู้จัดการมรดกเป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องกับจำเลย หากกระทบถึงสิทธิในการบังคับคดีของโจทก์ไม่ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีตามคำร้องไม่ปรากฏว่าการบังคับคดีหรือคำสั่งศาลในชั้นบังคับคดีหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ทั้งไม่เข้าเหตุที่จะต้องงดการบังคับคดีไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292 หรือมีเหตุที่จะต้องเพิกถอนหรือแก้ไขคำสั่งศาลในชั้นบังคับคดีตาม มาตรา 296 และ 309 ทวิ วรรคสอง ส่วนการที่จำเลยถูกถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกรวมทั้งปัญหาว่าจำเลยมีสิทธิจำนองที่ดินพิพาทหรือไม่ เป็นเรื่องที่ผู้ร้องต้องไปว่ากล่าวเอากับจำเลยเอง หากระทบสิทธิของโจทก์ในการบังคับคดีไม่ ให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยกคำร้องของผู้ร้องโดยเห็นว่า ตามคำร้องผู้ร้องมิได้กล่าวอ้างว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งจึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 นั้นเป็นการชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำเลยไม่ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ โจทก์จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยจำนองไว้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 16 มีนาคม 2548 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าที่ดินพิพาทที่จำเลยจำนองไว้แก่โจทก์เดิมเป็นของนางบัวคลี่ซึ่งเป็นมารดาผู้ร้องและจำเลย จำเลยปลอมพินัยกรรมของนางบัวคลี่และนำไปประกอบในการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก จนศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางบัวคลี่ และจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย จากนั้นได้นำไปจำนองไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางบัวคลี่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พินัยกรรมที่จำเลยอ้างว่าเจ้ามรดกผู้ตายยกทรัพย์สินให้แก่จำเลยและตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกเป็นโมฆะ โดยมีคำสั่งถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก และตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแทน คดีถึงที่สุดแล้ว เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นในคดีที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางบัวคลี่วินิจฉัยแล้วว่าพินัยกรรมที่จำเลยใช้อ้างในการยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางบัวคลี่เป็นโมฆะ และถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางบัวคลี่คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว กรณีจึงต้องถือว่าขณะที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของนางบัวคลี่ให้แก่ตนเองในฐานะส่วนตัวทั้งที่ตนไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมที่ยกขึ้นกล่าวอ้าง เป็นการทำนิติกรรมซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของนางบัวคลี่อันเป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 โดยถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลย กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท จึงยังคงเป็นของกองมรดกของนางบัวคลี่อยู่ตามเดิมสัญญาจำนองที่จำเลยในฐานะส่วนตัวทำกับโจทก์ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ แก่โจทก์ที่จะบังคับเอาแก่ที่ดินพิพาทเพราะผู้จำนองไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่จำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 705 แม้โจทก์จะอ้างว่ารับจำนองไว้โดยสุจริตก็ตาม ดังนั้น การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องอ้างว่า ที่ดินพิพาทที่จำเลยจำนองไว้แก่โจทก์ เดิมเป็นของนางบัวคลี่ซึ่งเป็นมารดาผู้ร้องและจำเลย จำเลยปลอมพินัยกรรมของนางบังคลี่และนำไปยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกจนศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก และจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยแล้วนำไปจำนองเพื่อประกันหนี้เงินกู้แก่โจทก์ ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพินัยกรรมที่จำเลยอ้างขอเป็นผู้จัดการมรดกเป็นโมฆะ และมีคำสั่งถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดี เป็นคำร้องที่มีความหมายว่าโจทก์ขอออกหมายบังคับคดีเอาแก่ที่ดินพิพาทซึ่งมิใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและโจทก์ไม่ได้เป็นผู้รับจำนองไว้โดยชอบเพราะไม่ได้รับจำนองไว้จากผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ แต่เป็นการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของบุคคลภายนอก อันเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 282 วรรคหนึ่ง ถือได้ว่าผู้ร้องกล่าวอ้างว่าหมายบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคหนึ่งแล้ว การที่โจทก์ยื่นคำขอโดยระบุเฉพาะเจาะจงว่าให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาท และศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้ตามขอนั้นถือได้ว่าเป็นการออกหมายบังคับคดีโดยไม่ชอบตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองให้ยกคำร้องของผู้ร้องนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวแล้วก็ไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของผู้ร้องอีก”
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนหมายบังคับคดีของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ทั้งสามศาลให้เป็นพับ