คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 748/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เหตุละเมิดเกิดขึ้นก่อนที่ พ.ร.บ.ความทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มีผลใช้บังคับ แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้ในวันที่ 18 มกราคม 2544 ซึ่งพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแล้ว แต่เมื่อ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มิได้มีบทบัญญัติให้ใช้บังคับแก่คดีละเมิดที่เกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ความรับผิดทางละเมิดของผู้ทำละเมิดที่เกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับจึงต้องอยู่ภายในบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมงานจ้างก่อสร้างถนน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง แต่ผู้รับจ้างก่อสร้างถนนไม่ถูกต้องตามแบบทำให้ถนนชำรุด การที่จำเลยที่ 1 ไม่ทำหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างถนน ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 มิได้ไปตรวจรับงานจ้างพร้อมกันไม่ชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ถือว่าจำเลยทั้งหกประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายอำเภอสรรคบุรีเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งหกจึงต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 432 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 เป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์ตำแหน่งเจ้าพนักงานพัฒนาชุมชน จำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการครู จำเลยที่ 5 เป็นกำนัน ตำบลโพงาม อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2538 โจทก์ได้แจ้งจังหวัดชัยนาททราบว่าจะอนุมัติเงินงบประมาณประจำปี 2539 ให้จังหวัดก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมไม้ไผ่ หมู่ที่ 5 ตำบลโพงาม อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เป็นเงิน 1,400,000 บาท จังหวัดชัยนาทจึงมอบหมายให้นายอำเภอสรรคบุรีเป็นผู้ประกวดราคาจ้างก่อสร้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ต่อมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2539 นายอำเภอสรรคบุรีมีคำสั่งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รับซองสอบราคา กรรมการเปิดซองสอบราคา และแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมงานให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างงานก่อสร้างถนนดังกล่าว หลังจากนั้นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2539 อำเภอสรรคบุรีได้ทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดแสงเทียนชัยเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างถนนดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 13 พฤษภาคม 2539 ปรากฏว่าผู้รับจ้างได้ส่งมอบงานให้แก่อำเภอสรรคบุรีภายในกำหนดเวลาตามสัญญาและวันที่ 15 พฤษภาคม 2539 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ได้ร่วมกันจัดทำใบตรวจรับงานจ้างและรับรองผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างว่าผู้รับจ้างได้ก่อสร้างงานเสร็จเรียบร้อยแล้วสมควรได้รับเงินค่าจ้าง 1,400,000 บาท เสนอต่อนายอำเภอสรรคบุรี และวันที่ 14 มิถุนายน 2539 ผู้รับจ้างได้รับเงินค่าจ้างไปครบถ้วนแล้ว หลังจากนั้นไม่ถึง 1 ปี ทางราชการตรวจพบว่าถนนดังกล่าวเกิดการชำรุดเสียหายและได้ประมาณราคาค่าซ่อมแซมถนน 970,599 บาท ส่วนสาเหตุเพราะผู้รับจ้างทำการก่อสร้างถนนไม่ถูกต้องตามแบบรูป รายการละเอียด และข้อกำหนดในสัญญาจ้างโดยจำเลยที่ 1 ผู้ควบคุมงานได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ทำการตรวจและควบคุมการปฏิบัติงานก่อสร้างของผู้รับจ้าง ทำให้ผู้รับจ้างทำการก่อสร้างถนนไม่เป็นไปตามแบบรูป รายการละเอียดและข้อกำหนดในสัญญาเป็นเหตุให้ถนนชำรุดเสียหาย ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่และตรวจรับงานก่อสร้างที่ไม่ถูกต้องตามสัญญา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 970,599 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2539 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 334,856.63 บาท รวมเป็นเงิน 1,305,455.63 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชดใช้เงิน 1,305,455.63 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 970,599 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 72 ถูกต้องแล้ว ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมานั้นเกินความเป็นจริง โจทก์ละเลยไม่เรียกร้องให้ผู้รับจ้างทำการซ่อมแซมหรือบังคับเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้รับจ้างเป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหายเป็นความผิดของโจทก์เอง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5 และที่ 6 ไม่ทราบมาก่อนว่าตนเป็นกรรมการตรวจการจ้างเพราะไม่เคยเห็นคำสั่งจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์รู้ตัวผู้ที่จะต้องรับผิดทางแพ่งและรู้ผลการละเมิดแล้ว แต่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเกินกว่า 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 72 ถูกต้องแล้วไม่ได้ประมาทเลินเล่อ โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายมาเกินความเป็นจริง เหตุที่ถนนชำรุดเสียหายเกิดจากอุทกภัยธรรมชาติและเนื่องจากชาวบ้านทำนาปีละ 3 ครั้ง ได้ถากถางไหล่ถนนสูบน้ำไหลเซาะทำให้ไหล่ถนนขาด นอกจากนี้ยังเกิดจากรถยนต์บรรทุกสิบล้อบรรทุกลูกรังน้ำหนักเกินแล่นผ่านถนนพิพาทเป็นเหตุให้ถนนทรุดตัวและชำรุดเสียหาย จำเลยที่ 5 ตรวจพบความเสียหายดังกล่าวและได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ว่าจ้างมีหนังสือถึงผู้รับจ้างให้มาทำการซ่อมแซมถนนพิพาทแล้วแต่ผู้รับจ้างไม่ดำเนินการ ผู้รับจ้างจึงต้องรับผิดชอบในความเสียหายของถนนหลังจากที่มีการรับมอบงานแล้วตามสัญญาจ้าง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 150,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 มกราคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ชำระเงินคนละ 25,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรม โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางวิไลวรรณ์หรือสิรภัทร ทายาทของจำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 250,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ชำระเงินคนละ 30,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลสังกัดกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์ ตำแหน่งเจ้าพนักงานพัฒนาชุมชนประจำสำนักงานพัฒนาชุมชน อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท จำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการครูประจำโรงเรียนคุรุประชาสรรค์ จังหวัดชัยนาท จำเลยที่ 5 เป็นกำนันตำบลโพงาม อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท และจำเลยที่ 6 เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ตำบลโพงาม อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท โจทก์ได้รับเงินงบประมาณประจำปี 2539 ให้ก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมไม้ไผ่ หมู่ที่ 5 ตำบลโพงาม อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท โจทก์จึงแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาททราบว่าจะอนุมัติเงินงบประมาณนี้ให้แก่จังหวัดชัยนาทดำเนินการก่อสร้างถนนดังกล่าวเป็นเงิน 1,400,000 บาท จังหวัดชัยนาทจึงมอบให้นายอำเภอสรรคบุรีดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างถนนดังกล่าวในวงเงิน 1,400,000 บาท ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ต่อมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2539 นายอำเภอสรรคบุรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รับซองสอบราคา ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมงานและให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2539 อำเภอสรรคบุรีทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดแสงเทียนชัยให้ก่อสร้างถนนดังกล่าว เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดแสงเทียนชัยก่อสร้างถนนดังกล่าวจนแล้วเสร็จและขอส่งมอบงาน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ตรวจรับงานจ้างและรับรองผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2539 โจทก์จึงจ่ายเงินค่าจ้าง 1,400,000 บาท ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดแสงเทียนชัยผู้รับจ้าง หลังจากมีการตรวจรับงานจ้างไม่ถึง 1 ปี ปรากฏว่าถนนดังกล่าวชำรุด คณะกรรมการตรวจสอบพบว่าการก่อสร้างถนนดังกล่าวไม่ถูกต้องตามแบบรูป รายการละเอียดและข้อกำหนดในสัญญาจ้างหลายรายการกับประมาณการค่าซ่อมแซมถนนเป็นเงิน 970,599 บาท ความเสียหายดังกล่าวเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยทั้งหก
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหนี้ที่ พ.ศ.2539 ใช้บังคับแก่คดีนี้หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่าวันที่ 15 พฤษภาคม 2539 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ได้ร่วมกันจัดทำใบตรวจรับงานจ้างและรับรองผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง ต่อมาวันที่ 14 มิถุนายน 2539 โจทก์ได้จ่ายเงินค่าจ้าง 1,400,000 บาท ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดแสงเทียนชัยผู้รับจ้าง ดังนั้นเหตุละเมิดเกิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2539 ก่อนวันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มีผลใช้บังคับ จึงต้องนำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับ แม้โจทก์จะรู้ตัวผู้ต้องรับผิด เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2543 และฟ้องคดีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2544 หลังจากที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มีผลใช้บังคับนั้น ก็เป็นเพียงขั้นตอนในการไต่สวนหาตัวผู้รับผิดตามระเบียบของทางราชการเท่านั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 นำพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยทั้งหกจึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า เหตุละเมิดคดีนี้เกิดขึ้นก่อนที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มีผลใช้บังคับ แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้ในวันที่ 18 มกราคม 2544 ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้วก็ตาม แต่เมื่อพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มิได้มีบทบัญญัติให้ใช้บังคับแก่คดีละเมิดที่เกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับความรับผิดทางละเมิดของผู้ทำละเมิดที่เกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับจึงต้องอยู่ภายในบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 นำพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยทั้งหกจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายมีว่า จำเลยทั้งหกจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใดนั้น เห็นว่า การที่นายอำเภอสรรคบุรีมีคำสั่งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รับซองสอบราคา ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมงานและให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมไม้ไผ่ หมู่ที่ 5 ตำบลโพงาม อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ตามคำสั่งอำเภอสรรคบุรี เอกสารหมาย จ.4 ก็เพื่อให้จำเลยทั้งหกร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ควบคุมและตรวจสอบการก่อสร้างถนนของห้างหุ้นส่วนจำกัดแสงเทียนชัยผู้รับจ้างให้เป็นไปตามแบบรูป รายการละเอียด และข้อกำหนดในสัญญาจ้างและระเบียบของทางราชการ ขณะก่อสร้างถนนดังกล่าวจำเลยที่ 1 ไม่ทำหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างถนนดังกล่าวจริงตามที่ได้รับมอบหมายและเมื่อห้างหุ้นส่วนแสงเทียนชัยก่อสร้างถนนดังกล่าวจนแล้วเสร็จและขอส่งมอบงาน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ตรวจรับงานจ้างและรับรองผลการปฏิบัติของผู้รับจ้าง โดยระบุว่า คณะกรรมการตรวจการจ้างได้พร้อมกันตรวจรับงานเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2539 ปรากฏว่างานแล้วเสร็จเรียบร้อยตามสัญญาทุกประการ จึงออกหนังสือสำคัญฉบับนี้ให้ไว้ ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2539 และผู้รับจ้างควรได้รับเงินงวดสุดท้ายเป็นเงิน 1,400,000 บาท จึงรายงานต่อนายอำเภอสรรคบุรี เพื่อทราบตามนัยข้อ 72 (4) แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ไว้ตามใบตรวจรับงานจ้างฯ เอกสารหมาย จ.8 อันเป็นเหตุให้โจทก์จ่ายค่าจ้าง 1,400,000 บาท ให้แก่ห้างหุ้นส่วนแสงเทียนชัยผู้รับจ้าง หลังจากตรวจรับงานจ้างไม่ถึง 1 ปี ปรากฏว่าถนนดังกล่าวชำรุด คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ พบว่าการก่อสร้างถนนดังกล่าวไม่ถูกต้องตามแบบรูป รายการละเอียด และข้อกำหนดในสัญญาจ้างหลายรายการกับประมาณค่าซ่อมแซมถนนเป็นเงิน 970,599 บาท ตามบันทึกข้อความของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ระบุว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ไปควบคุมตรวจสอบการก่อสร้างงานจริงจึงทำให้เกิดความเสียหาย ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 มิได้ไปตรวจรับงานจ้างพร้อมกัน ไม่ชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ตามบันทึกข้อความของคณะกรรมการตรวจสอบเอกสารหมาย จ.18 และจ.13 ถือว่าจำเลยทั้งหกประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายอำเภอสรรคบุรีเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งหกจึงต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 432 วรรคแรก สำหรับค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยทั้งหกจะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์เพียงใดนั้น ได้ความว่า หลังจากมีการตรวจรับงานจ้างไม่ถึง 1 ปี ปรากฏว่าถนนดังกล่าวชำรุด จำเลยที่ 5 มีหนังสือลงวันที่ 11 ธันวาคม 2539 แจ้งเรื่องถนนดังกล่าวเกิดการชำรุด มีรอยแตกร้าวและให้สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสรรคบุรีเร่งดำเนินการให้ผู้รับจ้างมาทำการซ่อมแซมถนนดังกล่าวต่อนายอำเภอสรรคบุรีแล้วตามเอกสารหมาย ล.5 แต่โจทก์กลับเพิกเฉยไม่รีบดำเนินการให้ผู้รับจ้างมาทำการซ่อมแซมภายในกำหนด 2 ปี นับถัดจากวันที่ได้รับมอบงานดังกล่าวตามสัญญาจ้างข้อ 6 เอกสารหมาย จ.5 หรือมีการฟ้องร้องผู้รับจ้างให้รับผิดตามสัญญาดังกล่าว กรณีจึงเป็นความผิดหรือความบกพร่องของโจทก์ด้วย ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า ผู้รับจ้างทำถนนไม่มีตัวตนแล้วนั้นไม่มีเหตุผลรับฟังได้ เพราะโจทก์อาจฟ้องหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดของห้างให้ร่วมรับผิดได้อยู่แล้ว ดังนั้น โจทก์ควรจะได้รับค่าสินไหมทดแทนมากน้อยเพียงใด จึงต้องอาศัยพฤติการณ์ดังกล่าวนี้เป็นประมาณ เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 400,000 บาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคแรก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงิน 400,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และให้จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่ชนะคดีในชั้นฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความให้ 6,000 บาท

Share