คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8795/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำให้การของจำเลยทั้งห้านอกจากจะให้การปฏิเสธว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว จำเลยทั้งห้ายังได้อธิบายถึงเหตุที่ฟ้องโจทก์ขาดอายุความไว้ด้วยว่า ตามภาระหนี้ต้นเงินโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้าเกินกว่า 3 ปี และในส่วนดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยทั้งห้าก็เกินกว่า 5 ปี นับแต่วันครบกำหนดตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยทั้งห้าได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธไว้โดยชัดแจ้งแล้ว เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งห้ารับผิดตามมูลหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินเพียงอย่างเดียว จำเลยทั้งห้าก็ไม่จำเป็นต้องระบุไว้ในคำให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเรื่องอะไร
ตั๋วสัญญาใช้เงินกำหนดวันชำระต้นเงินเมื่อทวงถามตาม ป.พ.พ. มาตรา 913 (3) ประกอบกับมาตรา 985 อายุความจึงเริ่มนับเมื่อเจ้าหนี้เดิม หรือโจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องได้ใช้สิทธิทวงถามจำเลยที่ 1 ผู้ออกตั๋วให้ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงจากหนังสือฉบับลงวันที่ 19 เมษายน 2539 ว่าเจ้าหนี้เดิมส่งหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่ได้มีการทวงถามให้ชำระหนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 29 มีนาคม 2544 ซึ่งพ้นกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1001 และแม้คดีนี้จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 มิได้ฎีกา แต่เมื่อคดีโจทก์ขาดอายุความ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 8,333,621.92 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 4,800,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเป็นลายมือชื่อปลอม รวมทั้งตราสำคัญที่ประทับในหนังสือมอบอำนาจก็ไม่ไช่ตราสำคัญที่ได้จดทะเบียนไว้ ผู้รับมอบอำนาจช่วงจึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินที่กู้ยืมตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ต้นเงินจำนวน 4,800,000 บาท นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2542 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ใช่ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2537 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินและรับเงินไปจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวงเครดิต จำกัด (มหาชน) จำนวน 5,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทเลขที่ 001/2537 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2537 สัญญาจะใช้เงินจำนวน 5,000,000 บาท เมื่อทวงถามและชำระดอกเบี้ยในอัตราของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวงเครดิต จำกัด (มหาชน) บวกด้วย 3.5 ต่อปี ทุกวันสิ้นเดือนหากผิดนัดให้ผิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่บริษัทเงินทุนเรียกเก็บได้ตามที่มีประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการกำหนดให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ซึ่งขณะทำสัญญาดอกเบี้ยอัตราผิดนัดเท่ากับร้อยละ 21 ต่อปี มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามตั๋วสัญญาใช้เงินและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.10 ถึง จ.14 ต่อมากระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวงเครดิต จำกัด (มหาชน) และต่อมาบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวงเครดิต จำกัด (มหาชน) โดยองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินได้โอนสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ รวมทั้งสิทธิเรียกร้องในคดีนี้ให้แก่โจทก์
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 เป็นประการแรกว่า คำให้การของจำเลยที่ 3 ในประเด็นเรื่องอายุความเป็นคำให้การที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง หรือไม่ จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ให้การในประเด็นเรื่องอายุความโดยแสดงเหตุให้เห็นโดยชัดแจ้งแล้วว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่า 3 ปี นับแต่วันครบกำหนดตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท และในส่วนของดอกเบี้ยโจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่า 5 ปี นับแต่วันครบกำหนดตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทจึงเป็นคำให้การที่ชอบด้วยประมาลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำให้การไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าคดีขาดอายุความเรื่องอะไร เพราะเหตุใด จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชอบนั้น เป็นการไม่ถูกต้องเห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยทั้งห้านอกจากจะให้การปฏิเสธว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว จำเลยทั้งห้ายังได้อธิบายถึงเหตุที่ฟ้องโจทก์ขาดอายุความไว้ด้วยว่าตามภาระหนี้ต้นเงินโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้าเกินกว่า 3 ปี และในส่วนดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยทั้งห้าก็เกินกว่า 5 ปี นับแต่วันครบกำหนดตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยทั้งห้าได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธไว้โดยชัดแจ้งแล้ว และเมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งห้ารับผิดตามมูลหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินเพียงอย่างเดียว จำเลยทั้งห้าก็ไม่จำเป็นต้องระบุไว้ในคำให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเรื่องอะไร ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำให้การของจำเลยทั้งห้าในส่วนนี้ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทเรื่องอายุความนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1801/2539 (ประชุมใหญ่) ที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นอ้างนั้น ข้อเท็จจริงแตกต่างกับคดีนี้ ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการต่อไปมีว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ปัญหานี้แม้ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย แต่เมื่อฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยสืบพยานจนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อน ซึ่งเห็นว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทเอกสารหมาย จ.10 กำหนดวันชำระต้นเงินเมื่อทวงถามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 913 (3) ประกอบกับมาตรา 985 อายุความจึงเริ่มนับเมื่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวงเครดิต จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิม หรือโจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องได้ใช้สิทธิทวงถามจำเลยที่ 1 ผู้ออกตั๋วให้ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงจากหนังสือฉบับลงวันที่ 19 เมษายน 2539 เอกสารหมาย ล.2 ว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวงเครดิต จำกัด (มหาชน) ส่งหนังสือฉบับดังกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน อายุความจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่ได้มีการทวงถามให้ชำระหนี้ เมื่อโจทก์มาฟ้องคดีนี้ในวันที่ 29 มีนาคม 2544 ซึ่งพ้นกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001 เมื่อคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วก็ไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยในประเด็นอื่น ๆ อีกต่อไป และแม้คดีนี้จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 มิได้ฎีกา แต่เมื่อคดีโจทก์ขาดอายุความ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ได้ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247”
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share