คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8960/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยฎีกาว่า โจทก์ซื้อที่ดินและตึกแถวจากการขายทอดตลาดโดยไม่สุจริต ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า โจทก์กระทำการโดยสุจริต ส่วนข้ออ้างของจำเลยที่ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีรู้เห็นเป็นใจกับโจทก์ขายทอดตลาดในราคาต่ำเป็นเรื่องนอกคำให้การ มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงไม่รับวินิจฉัย ซึ่งเป็นเหตุผลคนละเหตุกับศาลชั้นต้น การที่จำเลยฎีกาโดยคัดลอกข้อความในอุทธรณ์มาทั้งสิ้น มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบอย่างไร และด้วยเหตุผลใด จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินและตึกแถวโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโจทก์ย่อมได้สิทธิในที่ดินและตึกแถวที่ซื้อตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 การที่จำเลยและเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดก็เป็นเรื่องของการเพิกถอนการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 อีกส่วนหนึ่ง ตราบใดที่ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาด โจทก์ย่อมมีสิทธิในที่ดินและตึกแถวที่ซื้อจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสมบูรณ์ และมีสิทธิฟ้องขับไล่ผู้อาศัยอยู่ในที่ดินและตึกแถวโดยไม่มีสิทธิให้ออกไปได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย และแม้ว่าโจทก์จะได้โอนขายที่ดินและตึกแถวให้แก่บุคคลอื่นขณะคดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็ไม่มีผลทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์ที่มีอยู่แล้วในขณะยื่นคำฟ้องหมดสิ้นไปแต่อย่างใด
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและตึกแถวที่โจทก์ซื้อจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ (2) (ก) ท้าย ป.วิ.พ. การที่จำเลยให้การต่อสู้ว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวดังกล่าวยังเป็นของจำเลย เพราะการขายทอดตลาดไม่ชอบ และจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดไว้แล้ว ก็เพื่อประกอบข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าโจทก์ยังไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยเท่านั้น มิใช่เป็นเรื่องแย่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอันจะทำให้เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ จึงไม่ชอบที่จะมีคำสั่งให้เรียกเก็บค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จากจำเลยอย่างคดีมีทุนทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 241 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 31879 ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์อีกต่อไป
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 31876 พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นตึกแถวเลขที่ 241 ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์พิพาทอีก และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 โจทก์ถึงแก่กรรม น. ทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2544 โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 31876 ตำบลเขื่องคำ อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร พร้อมตึกแถวเลขที่ 241 หมู่ที่ 9 ตำบลเขื่องคำ เภอเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 513/2541 ของศาลชั้นต้น ในราคา 499,500 บาท โจทก์ชำระราคาครบถ้วนและจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์เป็นของโจทก์แล้ว แต่จำเลยยังคงอาศัยอยู่ในที่ดินและตึกแถวดังกล่าว
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่โดยจำเลยฎีกาประการแรกว่า โจทก์ซื้อที่ดินและตึกแถวจากการขายทอดตลาดโดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่า ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า โจทก์กระทำการโดยสุจริต ส่วนข้ออ้างของจำเลยที่ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีรู้เห็นเป็นใจกับโจทก์ขายทอดตลาดในราคาต่ำเป็นเรื่องนอกคำให้การ มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงไม่รับวินิจฉัย ซึ่งเป็นเหตุผลคนละเหตุกับศาลชั้นต้น แต่จำเลยฎีกาโดยคัดลอกข้อความในอุทธรณ์มาทั้งสิ้น มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบอย่างไร และด้วยเหตุผลใดจึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ที่จำเลยฎีกาอีกต่อไปว่า จำเลยและเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 513/2541 ของศาลชั้นต้น ต่างยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและคดีตามคำร้องดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด โจทก์ยังฟ้องขับไล่จำเลยไม่ได้ อีกทั้งในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 โจทก์ได้โอนขายที่ดินและตึกแถวให้แก่บุคคลอื่นไปแล้วนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินและตึกแถวโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล โจทก์ย่อมได้สิทธิในที่ดินและตึกแถวที่ซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 การที่จำเลยและเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีที่มีการขายทอดตลาดยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ก็เป็นเรื่องของการเพิกถอนการขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 อีกส่วนหนึ่ง ตราบใดที่ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาด โจทก์ย่อมมีสิทธิในที่ดินและตึกแถวที่ซื้อจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสมบูรณ์ และมีสิทธิฟ้องขับไล่ผู้อาศัยอยู่ในที่ดินและตึกแถวโดยไม่มีสิทธิให้ออกไปได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย และแม้ว่าโจทก์จะได้โอนขายที่ดินและตึกแถวให้แก่บุคคลอื่นขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ดังที่จำเลยฎีกา ก็ไม่มีผลทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์ที่มีอยู่แล้วในขณะยื่นคำฟ้องหมดสิ้นไปแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและตึกแถวที่โจทก์ซื้อจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ (2) (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า กรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวดังกล่าวยังเป็นของจำเลย เพราะการขายทอดตลาดไม่ชอบ และจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดไว้แล้ว ก็เพื่อประกอบข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าโจทก์ยังไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยเท่านั้น มิใช่เป็นเรื่องแย่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอันจะทำให้เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้เรียกเก็บค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จากจำเลยอย่างคดีมีทุนทรัพย์จึงไม่ถูกต้อง และปรากฏว่าในชั้นฎีกาจำเลยเสียค่าขึ้นศาลมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์เช่นเดียวกันจึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกิน 200 บาท ในแต่ละชั้นศาลแก่จำเลย”
พิพากษายืน แต่ให้ยกคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่ให้เรียกเก็บค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท ในแต่ละชั้นศาลแก่จำเลย

Share