คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8713/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) โดยระบุว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทด้วยนั้น เป็นการออกตามข้อเท็จจริงที่จำเลยซึ่งได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้ไปแจ้งต่อทางราชการเพื่อดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) กรณีจึงมิใช่เป็นการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนชื่อจำเลยออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ในส่วนที่ดินพิพาทนั้นจึงเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ได้แก้ไข เมื่อตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ประสงค์จะขอให้ศาลบังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินส่วนของโจทก์คืน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนสิทธิทางทะเบียนในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2966 ตำบลโนนคูณ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ที่เป็นที่ดินพิพาท เนื้อที่ 16 ไร่ 1 งาน 37 ตารางวา ให้แก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาโดยค่าใช้จ่ายของจำเลย หากจำเลยไม่ยอมดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2966 ตำบลโนนคูณ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เนื้อที่ 16 ไร่ 1 งาน 37 ตารางวา ด้านทิศตะวันตกภายในกรอบเส้นสีแดงในแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.2 ให้เพิกถอนชื่อจำเลยออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2966 ตำบลโนนคูณ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เนื้อที่ 16 ไร่ 1 งาน 37 ตารางวา กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามทางนำสืบของโจทก์จำเลยว่าจำเลยเป็นบุตรของโจทก์กับนายเทา ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2966 ตำบลโนนคูณ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 34 ไร่ 1 งาน 37 ตารางวา ซึ่งมีที่ดินพิพาทรวมอยู่ด้วยนั้น เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินเนื้อที่ประมาณ 110 ไร่ ซึ่งโจทก์และนายเทาร่วมกันจับจองและเข้าครอบครองทำประโยชน์คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเนื้อที่ 16 ไร่ 1 งาน 37 ตารางวา ภายในกรอบเส้นสีแดงตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.2 หรือไม่… เห็นว่า ตัวโจทก์ซึ่งเป็นมารดาจำเลยเบิกความยืนยันว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 16 ไร่ ภายในกรอบเส้นสีแดงในแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.2 เป็นของโจทก์ โดยได้มาจากการตกลงแบ่งที่ดินระหว่างโจทก์กับนายเทาสามี คำเบิกความของโจทก์ดังกล่าวสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ปากอื่นๆ โดยเฉพาะปากนายสมจิตรและนายจันทราซึ่งเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านท้องที่ซึ่งที่ดินพิพาทตั้งอยู่ก็เบิกความในทำนองเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทกับที่ดินส่วนของจำเลยเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินเนื้อที่ประมาณ 110 ไร่ ที่โจทก์และนายเทาร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ ซึ่งต่อมาได้แบ่งที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่บุตรทุกคน สำหรับที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของที่ดินที่จำเลยได้รับการยกให้จากโจทก์และนายเทานั้น นายเทาตกลงแบ่งให้แก่โจทก์ การที่พยานโจทก์ทั้งสองปากซึ่งเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้น่าเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่พยานทั้งสองเบิกความเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำนวนเนื้อที่ดินที่บุตรคนอื่นๆ ของโจทก์ได้รับก็ได้ความว่า แต่ละคนได้รับคนละประมาณ 14 ไร่ จำเลยซึ่งเป็นบุตรของโจทก์กับนายเทาคนหนึ่งก็ไม่น่าจะได้รับส่วนแบ่งมากกว่าบุตรคนอื่นๆ มากนัก ที่จำเลยอ้างว่าได้รับส่วนแบ่งที่ดินเนื้อที่ประมาณ 34 ไร่ ซึ่งมากกว่าบุตรคนอื่นๆ ถึง 2 เท่าเศษ จึงมีพิรุธน่าสงสัย ส่วนที่จำเลยอ้างว่า จำเลยร่วมก่นสร้างที่ดินแปลงที่โจทก์และนายเทานำมาแบ่งให้แก่จำเลยและบุตรคนอื่นๆ จำเลยจึงได้รับส่วนแบ่งมากกว่าคนอื่นๆ นั้น ได้ความจากแบบบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์เพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) โดยใช้รูปถ่ายทางอากาศว่า ที่ดินที่จำเลยขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทด้วยนั้น ที่ดินดังกล่าว ได้ก่นสร้างมาก่อนวันแจ้งประมาณ 25 ปี ซึ่งเมื่อเทียบกับอายุของจำเลยซึ่งขณะแจ้งมีอายุ 26 ปี แล้ว ขณะที่โจทก์และนายเทาเริ่มก่นสร้างที่ดินจำเลยมีอายุเพียง 1 ขวบ เท่านั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จำเลยจะร่วมก่นสร้างที่ดินแปลงดังกล่าวด้วย ส่วนการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในภายหลังนั้น ก็ถือเป็นเพียงการช่วยเหลือบิดามารดาทำงานตามหน้าที่ที่บุตรจะพึงกระทำ หาใช่เป็นเรื่องของการร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ไม่ เมื่อพิจารณาตามแผนที่วิวาทที่นายชัยณรงค์ ทรัพย์ภัย เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอคอนสารซึ่งเป็นพยานคนกลางทำขึ้นก็พบว่า ที่ดินส่วนที่จำเลยใช้ปลูกข้าวและปลูกกระท่อมจำนวน 2 หลัง ก็ล้วนแต่อยู่ในแนวเขตที่ดินที่โจทก์อ้างว่าโจทก์และนายเทายกให้แก่จำเลย ส่วนบ่อน้ำแม้จะมีส่วนหนึ่งอยู่ในที่ดินพิพาท แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยจากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้งของนาข้าว บ่อน้ำ และกระท่อมตามที่ปรากฏในแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.2 ดังกล่าว ส่อให้เห็นว่าจำเลยก็ตระหนักถึงสิทธิของโจทก์ในที่ดินพิพาท สำหรับที่พยานจำเลยปากนายพรมมามาเบิกความว่า โจทก์และนายเทายกที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2966 ทั้งแปลงให้แก่จำเลยและจำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา คำเบิกความของนายพรมมาดังกล่าวนี้ก็ไม่มีรายละเอียดว่าพยานทราบเรื่องดังกล่าวมาจากผู้ใด จึงเป็นการเบิกความลอยๆ ทั้งคำเบิกความในส่วนที่เกี่ยวกับการทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวก็ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.2 ส่วนที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่ได้ห้ามปรามเรื่องที่จำเลยขุดบ่อน้ำล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทและปลูกต้นไม้บนคันดินรอบบ่อนั้นก็น่าจะเนื่องมาจากโจทก์เห็นว่าจำเลยเป็นบุตรและได้ให้ดูแลที่ดินพิพาทแทนจึงไม่ได้ห้ามปรามหรือเคร่งครัดกับจำเลยในส่วนการชำระภาษีบำรุงท้องที่ในที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2966 ทั้งแปลง ซึ่งจำเลยอ้างว่าชำระตลอดมา การชำระภาษีบำรุงท้องที่ดังกล่าวก็มิใช่เป็นข้อที่แสดงว่าผู้ชำระภาษีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินที่ตนชำระภาษีบำรุงท้องที่ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักและเหตุผลดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเนื้อที่ 16 ไร่ 2 งาน 37 ตารางวา ส่วนที่อยู่ด้านทิศตะวันตกของที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2966 ตำบลโนนคูณ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยมิใช่ผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท การที่ที่ดินพิพาทมีชื่อจำเลยเพื่อแสดงว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองและได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จึงเป็นการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่คลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง แม้โจทก์จะมิได้ขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ในที่ดินพิพาทที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลก็มีอำนาจสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ในที่ดินพิพาทที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น เห็นว่า การที่ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) โดยระบุว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทด้วยนั้นเป็นการออกตามข้อเท็จจริงที่จำเลยซึ่งได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้ไปแจ้งต่อทางราชการเพื่อดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนซึ่งจำเลยออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ในส่วนที่ดินพิพาทนั้น จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ได้แก้ไข เมื่อตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ประสงค์จะขอให้ศาลบังคับจำเลยให้จดทะเบียนโอนที่ดินส่วนของโจทก์คืน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2966 ตำบลโนนคูณ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เนื้อที่ 16 ไร่ 1 งาน 37 ตารางวา ภายในกรอบเส้นสีแดงตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.2 ให้แก่โจทก์ โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยเอง หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 3,000 บาท แทนโจทก์

Share