คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8316/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 ไปในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงกรณีตามคำร้องของจำเลยที่ 2 ต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ซึ่งในวรรคสามของมาตราดังกล่าวให้นำวรรคห้าของมาตรา 296 มาใช้บังคับแก่การยื่นคำร้องตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง โดยอนุโลม มาตรา 296 วรรคห้า บัญญัติว่า “ในการยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรานี้… ฯลฯ… ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลนั้นได้ ถ้าผู้ยื่นคำร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสีย คำสั่งของศาลที่ออกตามความในวรรคนี้ให้เป็นที่สุด” เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยที่ 2 นำเงินจำนวน 4,000,000 บาท มาวางเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ภายในวันที่ 11 กันยายน 2549 จำเลยที่ 2 ไม่นำเงินมาวางภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด แต่กลับยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินออกไปอีก เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งยกคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 2 ดังนี้ คำสั่งยกคำร้องดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคห้า ประกอบมาตรา 309 ทวิ วรรคสาม จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์หรือฎีกาต่อไปอีก
การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ก่อนที่ศาลจะสั่งคำร้องจะต้องไต่สวนคำร้องดังกล่าวเสียก่อน ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจว่า จะทำการไต่สวนคำร้องดังกล่าวหรือไม่ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 21 (4) การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้ไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 2 โดยเห็นว่าจำเลยที่ 2 โดยเห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้นจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 9,605,757.75 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของเงินต้น 7,144,800 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยจำเลยทั้งสองสัญญาว่าจะร่วมกันชำระให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากครบกำหนดแล้วจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระยอมให้โจทก์บังคับคดียึดทรัพย์จำนองคือที่ดินโฉนดเลขที่ 96, 390, 1237 ถึง 1242 ตำบลผักปัง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ พร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนกว่าจะครบ แต่จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองคือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรวม 8 แปลงดังกล่าวทำการขายทอดตลาดได้เงินจำนวน 7,510,000 บาท
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไปในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงทั้งที่จำเลยที่ 2 ได้คัดค้านการขายแล้ว ราคาที่แท้จริงของทรัพย์จำนองไม่ต่ำกว่า 20,000,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดโดยฉ้อฉลเป็นการไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
โจทก์ยื่นคำคัดค้านและขอให้ศาลสั่งให้จำเลยที่ 2 วางเงินหรือหาประกันต่อศาลเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่อาจจะได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 นำเงินจำนวน 4,000,000 บาท หรือหลักประกันเทียบเท่าจำนวนเงินดังกล่าวมาวางต่อศาลเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2549 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสาม ประกอบมาตรา 296 วรรคห้า ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินดังกล่าวต่อไปอีก 2 ครั้ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและให้ขยายระยะเวลาวางเงินถึงวันที่ 11 กันยายน 2549 เป็นครั้งสุดท้าย ต่อมาวันที่ 11 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นวันนัดไต่สวนคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินออกไปอีก 30 วัน และแถลงขอให้ศาลส่งประเด็นไปสืบพยานที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า ศาลอนุญาตให้วางเงินเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนในวันนี้เป็นวันสุดท้าย เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคห้า ประกอบมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง (ที่ถูกมาตรา 309 ทวิ วรรคสาม) จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คำสั่งศาลดังกล่าวเป็นที่สุดแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคห้า จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อไป จึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 200 บาท แก่จำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง (ที่ถูกต้องทำเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง) ที่ไม่รับอุทธรณ์
อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 มีคำสั่งยกอุทธรณ์คำสั่ง (ที่ถูกคือคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง) ของจำเลยที่ 2 ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎาของจำเลยที่ 2 ว่า คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่ให้ยกอุทธรณ์คำสั่ง (ที่ถูกคือคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง) ที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 ไปในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง กรณีตามคำร้องของจำเลยที่ 2 ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ซึ่งในวรรคสามของมาตราดังกล่าวให้นำวรรคห้าของมาตรา 296 มาใช้บังคับแก่การยื่นคำร้องตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง โดยอนุโลม มาตรา 296 วรรคห้า บัญญัติว่า “ในการยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรานี้…ฯลฯ… ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลนั้นได้ ถ้าผู้ยื่นคำร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสีย คำสั่งของศาลที่ออกตามความในวรรคนี้ให้เป็นที่สุด” เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยที่ 2 นำเงินจำนวน 4,000,000 บาท มาวางเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ภายในวันที่ 11 กันยายน 2549 จำเลยที่ 2 ไม่นำเงินมาวางภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด แต่กลับยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินออกไปอีก เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งยกคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 2 ดังนี้ คำสั่งยกคำร้องดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคห้า ประกอบมาตรา 309 ทวิ วรรคสาม จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์หรือฎีกาต่อไปอีก ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าศาลชั้นต้นไม่ได้ไต่สวนคำร้อง คงพิจารณาไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินแล้วมีคำสั่งยกคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทั้งที่ยังไม่พ้นระยะเวลาวางเงินหรือหาประกันมาวางศาล เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ก่อนที่ศาลจะสั่งคำร้องจะต้องไต่สวนคำร้องดังกล่าวเสียก่อน ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจว่า จะทำการไต่สวนคำร้องดังกล่าวหรือไม่ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 (4) การที่ศาลชั้นต้นไม่ไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 2 โดยเห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้นจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ส่วนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ส่งประเด็นไปสืบพยานจำเลยที่ 2 ที่ศาลจังหวัดขอนแก่นนั้น เห็นได้ว่าสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดนั่นเอง หาใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไม่ คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่ให้ยกอุทธรณ์คำสั่ง (ที่ถูกคือคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง) ของจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share