แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๗/๒๕๕๓
วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดสกลนคร
ระหว่าง
ศาลปกครองขอนแก่น
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสกลนครส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๑ นายสังข์ ศรีจันทร์ โจทก์ ยื่นฟ้องผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑๐ตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ที่ ๑ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑๕ ตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์จังหวัดสกลนคร ที่ ๒ นายแนน ประเทพา ที่ ๓ นายหงศ์ ประเทพา ที่ ๔ นายภูมิ ประทะมาตย์ ที่ ๕นายลอน ชัยมุงคุณ ที่ ๖ นายสมชัย ประเทพา ที่ ๗ นายชาญ โคตรบิน ที่ ๘ นายเอนก รักกระโทก ที่๙ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอุ่มจาน ที่ ๑๐ นายอำเภอกุสุมาลย์ ที่ ๑๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสกลนครที่ ๑๒ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ที่ ๑๓ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑๔ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ ๑๕ จำเลย ต่อศาลจังหวัดสกลนคร เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๖๐๖/๒๕๕๑ความว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ เนื้อที่ ๓๗ ไร่ ๑๐ ตารางวา ตั้งอยู่บ้านบ่อพังแคน หมู่ที่ ๑๕ (๒) ตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร โดยบิดาโจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ ก่อนการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๗๘ และประมวลกฎหมายที่ดิน โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ต่อมาจำเลยทั้งสิบห้าได้ร่วมกันกระทำการรบกวนสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงดังกล่าวของโจทก์ โดยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดิน จัดทำบัญชีสำรวจที่ดินสาธารณประโยชน์ และจัดทำบันทึกคำชี้แจงเรื่องตรวจและชี้แผนที่ระวาง ตลอดจนดำเนินการรังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง(น.ส.ล.) และปักหลักหมุดทับที่ดินที่โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ โดยอ้างว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ประจำหมู่บ้านสำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันและเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ (ดอนโนนตูมหรือโนนตูม) ซึ่งต่อมาจำเลยที่ ๑๒ ได้ประกาศสำนักงานที่ดินจังหวัดสกลนครเรื่องแจกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง(น.ส.ล.) แปลงสาธารณประโยชน์ดอนโนนตูมหรือโนนตูม หมู่ที่ ๑๕ บ้านบ่อพังแคนทับที่ดินของโจทก์ซึ่งโจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ระวาง ๕๘๔๓ IV ๑๐๑๖ แปลงมหาดไทย (โนนตูม) หมู่ที่ ๑๕ (๒) ตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร เนื้อที่ ๓๗ ไร่ ๑๐ตารางวา แล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสิบห้าเป็นการรบกวนการครอบครองของโจทก์โดยปกติสุขและเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งว่าที่ดินตามฟ้องเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครอง และห้ามจำเลยทั้งสิบห้าพร้อมบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวหรือรบกวนสิทธิครอบครองของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสิบห้ารื้อถอนหลักหมุดที่นำมาปักไว้ในที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครอง ให้เพิกถอนการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ในส่วนที่ออกทับที่ดินของโจทก์ กับขอให้บังคับจำเลยที่ ๑๒ ถึงที่๑๕ หรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสกลนครออกโฉนดที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครอง เนื้อที่ ๓๗ ไร่ ๑๐ตารางวา ให้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ถึงที่ ๑๕ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนทั่วไปในท้องที่เกิดเหตุใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยแต่เดิมใช้เป็นที่ฝังและเผาศพ ต่อมาใช้เป็นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านทั่วไปตลอดมาหลายชั่วอายุคนตั้งแต่ก่อนประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินพ.ศ. ๒๔๗๘ และประมวลกฎหมายที่ดิน และทางราชการได้ขึ้นบัญชีสำรองที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ไว้ บิดาโจทก์บุกรุกที่ดินพิพาทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหลังประมวลกฎหมายที่ดินมีผลใช้บังคับแล้ว บิดาโจทก์จึงไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายในที่ดินพิพาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิของบิดาโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทด้วยเช่นเดียวกัน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยทั้งสิบห้ายื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) (๒) และ (๓) อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสกลนครพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ตามคำฟ้องของโจทก์อ้างว่า การที่จำเลยที่ ๑๐ และที่ ๑๑ จัดทำบัญชีสำรวจที่ดินพิพาท จำเลยที่ ๙ ที่ ๑๐ และที่ ๑๒ จัดทำบันทึกคำชี้แจงเรื่องการตรวจและชี้แผนที่ระวางที่สาธารณประโยชน์โนนตูม และจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ นำจำเลยที่ ๙ ปักหมุดลงในที่ดินพิพาท เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยดังกล่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ตามที่จำเลยให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น และมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน อันเนื่องมาจากจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ และมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด และคดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง ดังนั้น เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจึงต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้นสำหรับคดีนี้ จำเลยที่ ๑๐ และที่ ๑๑ มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน มิให้ผู้ใดเกียดกันเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว ตามมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๑ ประกอบกับข้อ ๕ (๒) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๔ ส่วนการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เป็นการรับรองเขตที่ดินของรัฐ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๑๔ ซึ่งต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘ ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดินประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๕ (พ.ศ.๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ และระเบียบกรมที่ดิน ว่าด้วยการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง พ.ศ. ๒๕๑๗ ดังนั้น การดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ของจำเลยที่ ๑๐และที่ ๑๑ และการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงของจำเลยที่ ๑๔ เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสิบห้าได้ร่วมกันกระทำการรบกวนสิทธิครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงพิพาทของโจทก์ โดยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ และดำเนินการรังวัดสอบเขตและปักหลักหมุดลงในที่ดินของโจทก์โดยไม่ถูกต้องตามระเบียบและมิได้ดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครอง และห้ามจำเลยทั้งสิบห้าพร้อมบริวารเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือรบกวนสิทธิครอบครองของโจทก์ในที่ดินพิพาท ให้จำเลยทั้งสิบห้ารื้อถอนหลักหมุดที่ได้นำมาปักลงในที่ดินของโจทก์ ให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงที่ออกทับที่พิพาท และให้มีคำสั่งให้จำเลยที่ ๑๒ ถึงที่ ๑๕ หรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสกลนครออกเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินในที่ดินที่โจทก์ครอบครองให้แก่โจทก์ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือดำเนินกิจการทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง(๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) (๓) และ (๔) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว สำหรับประเด็นปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์หรือเป็นที่สาธารณประโยชน์โนนตูมนั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดีอันเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่า การดำเนินการรังวัดสอบเขตและปักหลักหมุดลงในที่ดินพิพาทเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงของจำเลยทั้งสิบห้าเป็นการกระทำการที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งแม้จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดิน แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด ศาลปกครองก็นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยในคดีนี้ได้ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือ
ศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยทั้งสิบห้า
ซึ่งเป็นเอกชนและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ เนื้อที่ ๓๗ ไร่ ๑๐ ตารางวา ตั้งอยู่บ้านบ่อพังแคน หมู่ที่ ๑๕ (๒) ตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ซึ่งบิดาโจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ก่อนการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๗๘ และประมวลกฎหมายที่ดิน โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ต่อมาจำเลยทั้งสิบห้าได้ร่วมกันกระทำการรบกวนสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงดังกล่าวของโจทก์ โดยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดิน จัดทำบัญชีสำรวจที่ดินสาธารณประโยชน์ และจัดทำบันทึกคำชี้แจงเรื่องตรวจและชี้แผนที่ระวาง ตลอดจนดำเนินการรังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) และปักหลักหมุดทับที่ดินที่โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ โดยอ้างว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ประจำหมู่บ้านสำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันและเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ (ดอนโนนตูมหรือโนนตูม) ซึ่งต่อมาจำเลยที่ ๑๒ ได้ประกาศสำนักงานที่ดินจังหวัดสกลนครเรื่องแจกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) แปลงสาธารณประโยชน์ดอนโนนตูมหรือโนนตูม หมู่ที่ ๑๕ บ้านบ่อพังแคน ทับที่ดินของโจทก์ โจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ดังกล่าวแล้ว ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งว่าที่ดินตามฟ้องเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครอง และห้ามจำเลยทั้งสิบห้าพร้อมบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวหรือรบกวนสิทธิครอบครองของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสิบห้ารื้อถอนหลักหมุดที่นำมาปักไว้ในที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครอง ให้เพิกถอนการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ในส่วนที่ออกทับที่ดินของโจทก์ กับขอให้บังคับจำเลยที่๑๒ ถึงที่ ๑๕ หรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสกลนครออกโฉนดที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ถึงที่ ๑๕ ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนทั่วไปในท้องที่เกิดเหตุใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยแต่เดิมใช้เป็นที่ฝังและเผาศพ ต่อมาใช้เป็นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านทั่วไปตลอดมาหลายชั่วอายุคนตั้งแต่ก่อนประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๗๘ และประมวลกฎหมายที่ดิน และทางราชการได้ขึ้นบัญชีสำรองที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ไว้ บิดาโจทก์บุกรุกที่ดินพิพาทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหลังประมวลกฎหมายที่ดินมีผลใช้บังคับแล้ว บิดาโจทก์จึงไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายในที่ดินพิพาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิของบิดาโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทด้วยเช่นเดียวกัน ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาตามที่โจทก์มีคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายสังข์ ศรีจันทร์ โจทก์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑๐ ตำบล
อุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ที่ ๑ กับพวกรวม ๑๕ คน จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ