คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2161/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามบันทึกข้อตกลงเป็นเพียงบันทึกที่แสดงว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ส. (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธ.) ประสบปัญหาไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปอย่างมั่นคงได้ จึงขอให้จำเลยเข้าช่วยเหลือ โดยมีข้อตกลงที่ต่างฝ่ายต่างจะต้องปฏิบัติตามที่ระบุในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ไม่มีข้อตกลงที่ระบุว่าจำเลยจะเข้าไปดำเนินกิจการของบริษัทด้วยตนเองหรือจะส่งตัวแทนเข้าไปบริหารกิจการของบริษัท การที่ให้จำเลยพิจารณากำหนดชื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าไปเพื่อที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการหรือกรรมการบริหารของบริษัทนั้น เป็นแต่เพียงต้องผ่านการพิจารณาจากจำเลยเสียก่อนว่าบุคคลนั้นๆ มีความเหมาะสมที่จะเข้าไปบริหารกิจการของบริษัทได้หรือไม่ เนื่องจากเป็นกรณีที่บริษัทประสบปัญหาทางการเงินและต้องขอความช่วยเหลือจากจำเลย จึงต้องมีการพิจารณาบุคคลที่จะเข้าไปบริหารกิจการของบริษัทเพื่อให้ที่ประชุมใหญ่ของบริษัทแต่งตั้งอีกชั้นหนึ่ง บุคคลที่จำเลยเสนอชื่อเข้าไปไม่ได้กระทำการในฐานะตัวแทนบริหารงานบริษัทแทนจำเลย จำเลยไม่มีอำนาจในการควบคุมกรรมการบริหารบริษัท และการบริหารงานของบริษัทก็ไม่ได้กระทำตามคำสั่งของจำเลย ดังนั้น กรรมการและกรรมการบริหารบริษัทจึงมิใช่ตัวแทนของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในการบริหารงานของกรรมการบริษัท ธ.
ค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นจำนวนที่อยู่ระหว่างอัตราขั้นสูงและขั้นต่ำตามที่ระบุไว้ในตาราง 6 (เดิม) ท้าย ป.วิ.พ. เมื่อคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการต่อสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวงแล้ว ค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นกำหนดมาเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 498,324,255 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยคืนใบหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,000,000 หุ้น หากคืนไม่ได้ให้ชำระเงินแทนจำนวน 65,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 150,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ประการแรก จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพราะบุคคลที่จำเลยเสนอเข้าไปเป็นกรรมการบริษัทบริหารงานผิดพลาดหรือไม่ โจทก์ฎีกา โจทก์และจำเลยทำบันทึกข้อตกลงให้จำเลยจัดการกำหนดตัวบุคคลที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการหรือกรรมการบริหารของบริษัทกับมีอำนาจในการบริหารงานอื่น ๆ ของบริษัท จำเลยแต่งตั้งตัวแทนของจำเลยเข้ามาบริหารกิจการของบริษัท เมื่อตัวแทนของจำเลยซึ่งเป็นกรรมการบริษัทบริหารงานผิดพลาดทำให้บริษัทหรือผู้ถือหุ้นของบริษัทและโจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ เห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลงเป็นเพียงบันทึกที่แสดงว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามธนาการ จำกัด (ต่อมาเปลี่ยนเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด (มหาชน)) ประสบปัญหาไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปอย่างมั่นคงได้ ขอให้จำเลยเข้าช่วยเหลือหาทางให้กิจการของบริษัทดำเนินต่อไป โดยมีข้อตกลงที่ต่างฝ่ายต่างจะต้องปฏิบัติตามที่ระบุในบันทึกข้อตกลง ไม่มีข้อตกลงที่ระบุว่าจำเลยจะเข้าไปดำเนินกิจการของบริษัทด้วยตนเองหรือจะส่งตัวแทนเข้าไปบริหารกิจการของบริษัท การที่ให้จำเลยพิจารณากำหนดชื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าไปเพื่อที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการหรือกรรมการบริหารของบริษัท เป็นแต่เพียงต้องผ่านการพิจารณาจากจำเลยเสียก่อนว่าบุคคลนั้น ๆ มีความเหมาะสมที่จะเข้าไปบริหารกิจการของบริษัทได้หรือไม่ เนื่องจากเป็นกรณีที่บริษัทประสบปัญหาทางการเงินและต้องขอความช่วยเหลือจากจำเลย ต้องมีการพิจารณาบุคคลที่จะเข้าไปบริหารกิจการของบริษัทเพื่อให้ที่ประชุมใหญ่ของบริษัทแต่งตั้งอีกชั้นหนึ่ง บุคคลที่จำเลยเสนอชื่อเข้าไปไม่ได้กระทำการในฐานะเป็นตัวแทนบริหารงานบริษัทแทนจำเลย จำเลยไม่มีอำนาจในการควบคุมกรรมการบริหารบริษัท และการบริหารงานของบริษัทไม่ได้กระทำตามคำสั่งของจำเลย ดังนั้น กรรมการและกรรมการบริหารบริษัทมิใช่ตัวแทนของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในการบริหารงานของกรรมการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด (มหาชน) ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไป โจทก์มีสิทธิเรียกหุ้นคืนหรือเรียกราคาหุ้นจากจำเลยตามฟ้องได้หรือไม่ ตามคำฟ้องโจทก์ข้อ 5 อ้างว่า ข้อตกลงตามข้อ 1 และข้อ 2 เกิดขึ้นเพราะจำเลยบีบบังคับโจทก์โดยข่มขู่กรรโชกทรัพย์ให้โจทก์จำยอมโดยไม่สมัครใจให้ทำข้อตกลง โจทก์ได้จัดการโอนหุ้นให้จำเลยทั้งหมด 240,000 หุ้น มีราคา 24,000,000 บาท แต่จำเลยชำระเงินให้โจทก์เพียง 14,000,000 บาท เป็นการเอารัดเอาเปรียบโจทก์ จำเลยมีหน้าที่จะต้องคืนหุ้นทั้งหมดแก่โจทก์ 100,000 หุ้น ต่อมามีการแตกหุ้นใหม่จาก 1 หุ้นเดิมเป็น 10 หุ้นใหม่ เนื่องจากตัวแทนจำเลยบริหารงานผิดพลาด จำเลยต้องคืนหุ้นให้โจทก์จำนวน 1,000,000 หุ้น หรือใช้ค่าเสียหายแทนเป็นเงิน 65,000,000 บาท จำเลยให้การ หุ้นที่จำเลยได้มาเป็นไปตามบันทึกข้อตกลง โจทก์อ้างว่าถูกจำเลยบีบบังคับนั้นไม่จริง โจทก์เป็นฝ่ายขอร้องให้จำเลยช่วยพยุงฐานะด้วยความสมัครใจ จำนวนเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เป็นไปตามมูลค่าหุ้นในขณะนั้นเพราะบริษัทขาดทุนเกินกว่าทุน ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ตามฟ้องโจทก์อ้างว่าถูกจำเลยข่มขู่กรรโชกทรัพย์ เท่ากับอ้างว่าบันทึกข้อตกลงตกเป็นโมฆียะ โจทก์มีสิทธิบอกล้างและเรียกหุ้นคืนทั้งหมด ไม่มีสิทธิปฏิบัติตามสัญญาบางส่วนและเรียกหุ้นคืนบางส่วน ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย การโอนหุ้นตามฟ้องเป็นไปตามบันทึกข้อตกลงข้อ 1 และข้อ 2 เป็นการโอนหุ้นให้จำเลยเพื่อให้จำเลยเข้าดำเนินการแก้ไขพยุงฐานะของบริษัทให้คงอยู่ดำเนินกิจการต่อไปได้ ไม่ใช่การซื้อขายหุ้นตามปกติทั่วไป การที่จำเลยชำระราคาค่าหุ้น 14,000,000 บาท จึงเป็นไปตามข้อตกลง ซึ่งผูกพันโจทก์และบริษัท หาได้เป็นการโอนหุ้นเกินจำนวนให้แก่จำเลยตามฟ้องไม่ ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยในผล พิพากษายกคำขอ โจทก์ฎีกา ตอนแรกฝ่ายโจทก์ถือหุ้นในบริษัทร้อยละ 80 จำเลยถือหุ้นร้อยละ 10 โจทก์บริหารงานผิดพลาด จำเลยบีบบังคับให้โจทก์ต้องรับผิดตามข้อตกลงต่อมาโจทก์โอนหุ้นให้จำเลยและจำเลยเป็นฝ่ายถือหุ้นในบริษัทถึงร้อยละ 80 ผู้บริหารที่จำเลยแต่งตั้งเข้าไปบริหารงานผิดพลาด ทำให้บริษัทขาดทุนมาก จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เช่นเดียวกับที่โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยมาแล้วตามบันทึกข้อตกลงเห็นว่า ข้อที่โจทก์ฎีกาเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่เคยกล่าวอ้างมาก่อนในคำฟ้องของโจทก์ จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ในเรื่องนี้ไว้ เป็นข้อที่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ต้องห้ามมิให้ฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้าย ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นแก่จำเลยจำนวน 150,000 บาท เป็นจำนวนที่สูงเกินไปหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทตามฟ้องโจทก์ 563,324,255 บาท ค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นจำนวนที่อยู่ระหว่างอัตราขั้นสูงและขั้นต่ำตามที่ระบุไว้ในตาราง 6 (เดิม) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวงแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า ค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นกำหนดมาเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท

Share