แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ.การเล่นแชร์ฯ มาตรา 6 (3) ประกอบกฎกระทรวง (พ.ศ.2534) ที่ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าสามแสนบาท เป็นการห้ามนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้น ส่วนสมาชิกผู้เข้าเล่นแชร์ด้วยกันหาได้มีบทบัญญัติห้ามเล่นแชร์แต่อย่างใดไม่ ทั้งมาตรา 7 ยังระบุว่าบทบัญญัติมาตรา 6 ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สมาชิกวงแชร์จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์อีกด้วย การเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งอันเกิดจากการตกลงระหว่างสมาชิกผู้เล่นซึ่งมีผลผูกพันและบังคับกันได้ตามกฎหมาย
เมื่อ ด. นายวงแชร์ถึงแก่ความตาย มีผู้ที่ยังไม่ได้ประมูลแชร์ 3 ราย คือ โจทก์ ท. และ ส. ดังนั้นบุคคลทั้งสามเท่าที่ได้รับผลกระทบจากการที่ไม่มีผู้จัดให้มีการประมูลแชร์และผู้ที่จะเสนอคำประมูลแชร์ได้ก็มีเพียงสามคนนี้เท่านั้น ผู้เล่นแชร์คนอื่นๆ ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อไม่มีผู้จัดให้มีการประมูลแชร์ การที่โจทก์ ท. และ ส. ตกลงกันใช้วิธีจับสลากอันดับก่อนหลังแทนการให้ดอกเบี้ย นับเป็นวิธีการที่ทำให้การเล่นแชร์วงนี้สามารถดำเนินต่อไปได้จนจบโดยผู้เล่นแชร์ได้รับเงินจนครบทุกคน และผู้เล่นแชร์คนอื่นๆ ไม่ได้รับความเสียหายหรือผลกระทบแต่อย่างใดดังนั้น ความรับผิดของผู้เล่นแชร์คนอื่นๆ จึงยังคงต้องมีอยู่อีกต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ตกลงร่วมเล่นแชร์กับนายดำริห์ ซึ่งเป็นนายวงแชร์ และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 กับบุคคลอื่น 8 คน รวมเป็น 14 คน ระหว่างการเล่นแชร์นายดำริห์ถึงแก่กรรม ผู้ร่วมเล่นแชร์ตกลงให้วงแชร์ล้มเลิก โจทก์ยังไม่ได้ประมูลแชร์จึงนำเช็คของนายดำริห์ และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ซึ่งนำมาแลกเงินค่าแชร์ที่ประมูลได้รวม 6 ฉบับ ไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคาร ปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายดำริห์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 และที่ 7 กับจำเลยที่ 9 ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 8 ในฐานะผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็ค และจำเลยที่ 4 ที่ 5 ในฐานะผู้ร่วมเล่นแชร์ต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าแชร์ตามจำนวนเงินในเช็คต่อโจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินต้น นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินต้น พร้อมดอกเบี้ย นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 7 จำเลยที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 และจำเลยที่ 6 ต่างร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินต้น พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 ให้การในทำนองเดียวกันว่านายดำริห์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ไม่เคยตกลงร่วมเล่นแชร์กับโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้ร่วมเล่นแชร์วงเดียวกับโจทก์ และโจทก์ไม่ได้เป็นผู้ประมูลแชร์ได้ จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าแชร์และไม่มีสิทธินำเช็คของจำเลยที่ 3 ไปเรียกเก็บเงิน สัญญาเล่นแชร์ตามฟ้องมีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดมากกว่า 300,000 บาท เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่สามารถบังคับได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 8 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 8 จำเลยที่ 8 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 8 ไม่เคยตกลงร่วมเล่นแชร์กับโจทก์ เช็คของจำเลยที่ 8 ไม่มีมูลหนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 9 ให้การว่า จำเลยที่ 9 ไม่เคยตกลงร่วมเล่นแชร์กับโจทก์ จำเลยที่ 9 ลงลายมือชื่อในเช็คในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 8 จำเลยที่ 9 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 11,720,416.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 11,500,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 ตุลาคม 2538) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินดังกล่าวจำนวน 509,583.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 500,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินดังกล่าวจำนวน 2,038,333.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 4 และที่ 7 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินดังกล่าวจำนวน 2,038,333.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 5 ที่ 8 ที่ 9 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินดังกล่าวจำนวน 2,038,333.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 6 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินดังกล่าวจำนวน 2,038,333.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งเก้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 35,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 1 ให้รับผิดไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน
จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ถึงที่ 9 และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 9 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 9 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 และจำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 30,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่าเมื่อปี 2537 โจทก์ร่วมเล่นแชร์กับบุคคลอื่นโดยมีนายดำริห์ สามีของจำเลยที่ 1 เป็นนายวง มีข้อตกลงว่านายวงเก็บเงินจากลูกวงทุกคน หุ้นละ 3,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 39,000,000 บาท ไปก่อน โดยไม่มีการประมูล และนายวงจะออกเช็คสั่งจ่ายเงินฉบับละ 3,000,000 บาท โดยไม่ลงวันที่ในเช็คมอบให้แก่ลูกวงทุกคนงวดถัดไปทุกวันที่ 14 ของเดือน นายวงจะจัดให้ลูกวงทำการประมูลแชร์ จำนวนหุ้นละ 2,000,000 บาท ผู้ที่เสนอให้ดอกเบี้ยสูงสุดเป็นผู้ประมูลได้ นายวงมีหน้าที่เก็บรวบรวมเงินค่าแชร์จากลูกวงและมีหน้าที่ชำระค่าแชร์ให้แก่ผู้ที่ประมูลได้จนครบถ้วนตามจำนวนหุ้น ลูกวงที่ประมูลแชร์ได้จะต้องออกเช็คสั่งจ่ายเงินฉบับละ 2,000,000 บาท โดยไม่ลงวันที่ในเช็ค ตามจำนวนของลูกวงที่ยังมิได้ประมูลแชร์แล้วมอบเช็คไว้แก่นายวง เพื่อให้นายวงสลักหลังเช็คเป็นการค้ำประกันและนำเช็คนั้นมอบให้แก่ลูกวงที่ยังมิได้ประมูลแชร์ ลูกวงที่ยังมิได้ประมูลแชร์จะจ่ายเงินตามจำนวนหุ้น หุ้นละ 2,000,000 บาท หักจำนวนดอกเบี้ยแชร์ที่ผู้ประมูลได้เสนอ โดยนายวงนำไปให้แก่ลูกวงที่ประมูลแชร์ได้ สำหรับเช็คของนายวงและผู้ประมูลแชร์ได้นั้น ลูกวงมีสิทธิกรอกวันที่ลงในเช็คนำไปเรียกเก็บเงินได้เมื่อลูกวงคนนั้นประมูลแชร์ได้ในภายหลังหรือเมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้ว ทั้งนี้ ให้ลงเป็นวันที่ 18 ของเดือน โจทก์ได้ส่งเงินค่าแชร์ไปแล้วจำนวน 11 งวด ในการนี้โจทก์ได้รับเช็คของนายดำริห์และผู้ประมูลแชร์ได้ยึดถือไว้รวม 11 ฉบับ ต่อมาวันที่ 14 มิถุนายน 2538 นายดำริห์ถึงแก่กรรม โจทก์ นายทรงชัย และนายสุวิทย์ ผู้ที่ยังมิได้ประมูลแชร์รวม 3 คน จึงตกลงจับสลากหาผู้ที่จะนำเช็คไปเรียกเก็บเงินก่อนหลังกัน ปรากฏว่าโจทก์จับสลากได้เป็นอันดับที่สอง โจทก์จึงลงวันที่ในเช็คทั้ง 11 ฉบับ เป็นวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 แล้วนำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน 6 ฉบับ ฉบับแรกเป็นเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาสวนมะลิ จำนวนเงิน 3,000,000 บาท มีนายดำริห์ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายฉบับที่สองเป็นเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนรางน้ำ จำนวนเงิน 2,000,000 บาท มีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายและนายดำริห์ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็ค ฉบับที่สามเป็นเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาลาดพร้าว 67 จำนวนเงิน 2,000,000 บาท มีจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายและนายดำริห์ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็ค ฉบับที่สี่เป็นเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาสวนมะลิ จำนวนเงิน 2,000,000 บาท มีจำเลยที่ 7 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่าย และมีนายดำริห์ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็ค ฉบับที่ห้าเป็นเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาราชวงศ์ จำนวนเงิน 2,000,000 บาท มีจำเลยที่ 8 โดยนายดำริห์และจำเลยที่ 9 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ร่วมกันลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัท ฉบับที่หกเป็นเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาสวนมะลิ จำนวนเงิน 2,000,000 บาท มีจำเลยที่ 6 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายและนายดำริห์ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็ค โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งเก้าแล้ว จำเลยที่ 2 นำเงินชำระหนี้แก่โจทก์เพียง 1,500,000 บาท ส่วนจำเลยอื่นเพิกเฉยไม่ชำระ
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า การเล่นแชร์วงนี้ฝ่าฝืนต่อกฎหมายทำให้ตกเป็นโมฆะโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3) ประกอบกฎกระทรวง (พ.ศ.2534) ที่ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าสามแสนบาท เป็นการห้ามนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้น ส่วนสมาชิกผู้เข้าเล่นแชร์ด้วยกันหาได้มีบทบัญญัติห้ามเล่นแชร์แต่อย่างใดไม่ ทั้งมาตรา 7 ยังระบุว่าบทบัญญัติมาตรา 6 ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สมาชิกวงแชร์จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์อีกด้วยการเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่ง อันเกิดจากการตกลงกันระหว่างสมาชิกผู้เล่นซึ่งมีผลผูกพันและบังคับกันได้ตามกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมเล่นแชร์ด้วยหรือไม่ โจทก์เบิกความประกอบรายชื่อผู้ร่วมเล่นแชร์ว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมเล่นแชร์ด้วย ซึ่งจำเลยที่ 4 และที่ 5 ก็นำสืบทำนองเดียวกันว่า นายดำริห์นายวงแชร์เป็นอาของจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 5 มีศักดิ์เป็นพี่เขยของนายดำริห์ นายดำริห์ขอชื่อของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ไปเป็นสมาชิกวงแชร์โดยนายดำริห์เป็นผู้ดำเนินการต่างๆ แทน ทั้งการรับเงินและจ่ายเงิน อันเป็นการเจือสมพยานโจทก์กรณีฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 รู้แล้วยอมให้นายดำริห์กระทำการเป็นตัวแทนเชิดของตน จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงต้องรับผิดในฐานะตัวการ และการกระทำของนายดำริห์ในการเล่นแชร์ได้ลุล่วงไปตั้งแต่นายดำริห์ประมูลแชร์ในนามของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ความรับผิดของจำเลยที่ 4 และที่ 5 เกิดขึ้นตั้งแต่เวลานั้นแล้ว แม้ภายหลังต่อมานายดำริห์จะถึงแก่ความตาย ก็ไม่กระทบถึงความรับผิดของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ดังที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ฎีกาว่าโจทก์ไม่ใช่เป็นผู้ประมูลแชร์ได้และไม่ใช่ผู้เล่นแชร์คนสุดท้ายจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนั้น เห็นว่า เมื่อนายดำริห์นายวงแชร์ถึงแก่ความตาย มีผู้ที่ยังไม่ได้ประมูลแชร์ 3 ราย คือ โจทก์นายทรงชัย และนายสุวิทย์ ดังนั้นบุคคลทั้งสามเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากการที่ไม่มีผู้จัดให้มีการประมูลแชร์และผู้ที่จะเสนอคำประมูลแชร์ได้ก็มีเพียงสามคนนี้เท่านั้นผู้เล่นแชร์คนอื่นๆ ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อไม่มีผู้จัดให้มีการประมูลแชร์ การที่โจทก์ นายทรงชัย และนายสุวิทย์ตกลงกันใช้วิธีจับสลากอันดับก่อนหลังแทนการให้ดอกเบี้ย นับเป็นวิธีการที่ทำให้การเล่นแชร์วงนี้สามารถดำเนินต่อไปได้จนจบโดยผู้เล่นแชร์ได้รับเงินจนครบทุกคน และผู้เล่นแชร์คนอื่นๆ ไม่ได้รับความเสียหายหรือผลกระทบแต่อย่างใด ดังนั้น ความรับผิดของผู้เล่นแชร์คนอื่นๆ รวมทั้งนายดำริห์ จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 จึงยังคงต้องมีอยู่ต่อไป โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับคดีได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ