แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การคิดดอกเบี้ยให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคาร อ. ในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้นและมาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันได้ตามมาตรา 10 ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขาย ดังนั้น เมื่อศาลวินิจฉัยให้โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นจากจำนวนที่ฝ่ายจำเลยกำหนด จำเลยทั้งสองจึงต้องชำระดอกเบี้ย สำหรับเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินเนื้อที่ 41.70 ตารางวา ตามมาตรา 10 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2540 แล้วทำสัญญาซื้อขายที่ดินเนื้อที่ 17.30 ตารางวา ตามมาตรา 10 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2540 นับแต่วันดังกล่าวไป 120 วัน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ฝ่ายจำเลยจะต้องจ่ายเงินแก่โจทก์คือ วันที่ 25 ตุลาคม 2540 และวันที่ 2 มกราคม 2541 ตามลำดับ อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าวหาใช่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยก่อนวันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนจำนวน 16,750,964.57 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปีของต้นเงิน 16,225,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนเป็นราคาที่เป็นธรรมแล้ว และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินของต้นเงินตามฟ้อง หากจะต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่ม ก็ต้องชำระดอกเบี้ยในวันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำของธนาคารออมสินไม่ใช่อัตราที่โจทก์ระบุในฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,085,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินร้อยละ 8.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จ และในจำนวนเงิน 865,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินร้อยละ 8.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 มกราคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 2,085,000 บาท นับแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2540 และให้ชำระดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 865,000 บาท นับแต่วันที่ 2 มกราคม 2541 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า อัตราเงินค่าทดแทนที่ดินที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยเพิ่มให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ 200,000 บาท เป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมหรือไม่โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่าอัตราเงินค่าทดแทนที่ดินที่ฝ่ายจำเลยกำหนดให้ตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในปี 2539 ถึงปี 2542 ของกรมที่ดิน ตารางวาละ 150,000 บาท ถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว เห็นว่า คดีนี้ทั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้ง กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตามราคาประเมินของกรมที่ดินที่กำหนดไว้เพื่อการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม แม้จำเลยทั้งสองจะนำสืบว่า ที่ดินบริเวณดังกล่าวไม่ปรากฏราคาที่ซื้อขายกัน เนื่องจากเป็นที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และเป็นที่วังปลายเนิน แต่ฝ่ายจำเลยก็ควรคำนึงถึงสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์กับเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนด้วย ได้ความจากคำเบิกความของนายอนันต์ ประกอบใบโฆษณาของวงศ์สวัสดิ์พลาซ่าว่า มีสิ่งปลูกสร้างใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์คือโครงการวงศ์สวัสดิ์พลาซ่า อยู่แยกจากถนนพระราม 4 เข้าไปในซอยสุวรรณสวัสดิ์ 40 เมตร ห่างจากที่ดินของโจทก์ประมาณ 200 เมตรเปิดโครงการขายที่ดินเมื่อปี 2539 ในราคาสูงถึงตารางวาละ 400,000 บาท ทั้งที่ดินของโจทก์อยู่ติดถนนพระราม 4 อันเป็นย่านธุรกิจการค้า ดังจะเห็นได้จากมีกลุ่มอาคารพาณิชย์ตั้งอยู่ทั้งสองฟากถนนดังกล่าว แสดงว่าทำเลที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ อยู่ในทำเลที่ดี เชื่อได้ว่าที่ดินของโจทก์มีราคาสูงกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ในปี 2539 ถึงปี 2542 ของกรมที่ดิน เมื่อคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) เห็นว่า อัตราเงินค่าทดแทนที่ดินที่ศาลล่างทั้งสองเพิ่มให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ 200,000 บาท เป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยก่อนวันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น เห็นว่า การคิดดอกเบี้ยให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้นและมาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าในกรณีที่มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันได้ตาม มาตรา 10 ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขาย ดังนั้น เมื่อศาลวินิจฉัยให้โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นจากจำนวนที่ฝ่ายจำเลยกำหนด จำเลยทั้งสองจึงต้องชำระดอกเบี้ยสำหรับเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินเนื้อที่ 41.70 ตารางวา ตามมาตรา 10 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2540 ตามสำเนาสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ เอกสารหมาย จ.5 แล้วทำสัญญาซื้อที่ดินเนื้อที่ 17.30 ตารางวา ตามมาตรา 10 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2540 ตามสำเนาสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ เอกสารหมาย จ.9 นับแต่วันดังกล่าวไป 120 วัน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ฝ่ายจำเลยจะต้องจ่ายเงินแก่โจทก์คือวันที่ 25 ตุลาคม 2540 และวันที่ 2 มกราคม 2541 ตามลำดับอันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าวในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินเป็นต้นไป หาใช่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยก่อนวันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน แต่ที่ศาลอุทธรณ์ให้คิดดอกเบี้ยของต้นเงิน 865,000 บาท นับแต่วันที่ 2 มกราคม 2541 จากที่ศาลชั้นต้นให้คิดนับแต่วันที่ 3 มกราคม 2541 โดยที่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ขอในส่วนดังกล่าวนั้นไม่ชอบ จึงเห็นสมควรแก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ดอกเบี้ยของต้นเงิน 865,000 บาท ให้คิดนับแต่วันที่ 3 มกราคม 2541 เป็นต้นไป นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ