คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3055/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยขับรถขณะเมาสุราอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (2), 160 วรรคสาม กับการที่จำเลยขับรถด้วยความเร็วสูงในขณะเมาสุราจนไม่สามารถลดความเร็วของรถลงและหยุดรถเพื่อให้รถยนต์ของผู้ตายเลี้ยวขวาผ่านไปก่อน ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของการกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้รถยนต์ของจำเลยพุ่งเข้าเฉี่ยวชนรถยนต์ที่ผู้ตายขับ และผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 และ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (4), 157 นั้น เป็นการกระทำที่เกี่ยวกันและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2549 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน กต 9148 ขอนแก่น ไปตามถนนมิตรภาพ จากทางอำเภอเมืองขอนแก่นมุ่งหน้าไปทางจังหวัดอุดรธานี ในขณะเมาสุรา ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ กล่าวคือ จำเลยขับรถด้วยความเร็วสูงน่าหวาดเสียวในขณะที่จำเลยมีอาการเมาสุราโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายและความเดือดร้อนของผู้อื่น เมื่อจำเลยขับรถไปถึงบริเวณหน้าสถานีบริการน้ำมันบางจากที่เกิดเหตุ ซึ่งทางเดินรถดังกล่าวได้แบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกัน มุ่งหน้าไปจังหวัดอุดรานีไว้ 2 ช่อง ขณะนั้นมีนายสันทัดขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน กฉ 5847 ขอนแก่น แล่นอยู่ในช่องเดินรถด้านซ้ายและกำลังขับรถเลี้ยวขวาผ่านด้านหน้ารถของจำเลยเพื่อกลับรถไปทางจังหวัดขอนแก่น ในภาวะเช่นนั้น จำเลยควรจะต้องใช้ความระมัดระวังโดยลดความเร็วของรถลง และหยุดรถให้รถของนายสันทัดแล่นผ่านพ้นไปก่อน ซึ่งจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ เป็นเหตุให้รถของจำเลยพุ่งเข้าเฉี่ยวชนรถของนายสันทัดได้รับความเสียหายและนายสันทัดถึงแก่ความตาย เหตุเกิดที่ตำบลศิลา อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157, 160
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นายสันฐาน บุตรของนายสันทัด ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต (ที่ถูกเฉพาะข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2) (4), 157, 160 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 4 ปี ปรับ 20,000 บาท ฐานขับรถขณะเมาสุรา ปรับ 2,000 บาท รวมจำคุก 4 ปี ปรับ 22,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี และปรับ 11,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้คุมความประพฤติจำเลย โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง มีกำหนด 1 ปี และให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร เป็นเวลา 20 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 สำหรับโทษในความผิดฐานนี้และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นกับให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า การกระทำของจำเลยในความผิดฐานขับรถขณะเมาสุรากับความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเป็นการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยขับรถขณะเมาสุราอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 160 วรรคสาม กับการที่จำเลยขับรถด้วยความเร็วสูงในขณะเมาสุราจนไม่สามารถลดความเร็วของรถลงและหยุดรถเพื่อให้รถยนต์ของผู้ตายเลี้ยวขวาผ่านไปก่อน ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของการกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้รถยนต์ของจำเลยพุ่งเข้าเฉี่ยวชนรถยนต์ที่ผู้ตายขับ และผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 นั้น เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share