คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6356/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แสตมป์ยาสูบนั้น มีผู้อื่นทำปลอมขึ้นและได้ถูกนำมาใช้ปิดอยู่บนซองบรรจุยาสูบของกลางแต่ละซองแล้ว โดยจำเลยที่ 1 มียาสูบของกลางแต่ละซองดังกล่าวไว้เพื่อขาย ซึ่งในการขายยาสูบของกลางแต่ละซองนั้น แม้จะมีแสตมป์ยาสูบปิดอยู่บนซองบรรจุยาสูบด้วยก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะมียาสูบของกลางแต่ละซองนั้น แม้จะมีแสตมป์ยาสูบปิดอยู่บนซองบรรจุยาสูบด้วยก็ถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะมีแสตมป์ยาสูบปลอมดวงนั้น ๆ ไว้เพื่อขายตามความหมายในมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.ยาสูบ ฯ เพราะบทมาตราดังกล่าวมุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดที่มีแสตมป์ยาสูบปลอมไว้ในครอบครองเพื่อขายหรือนำออกใช้เท่านั้น หาได้ประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่มียาสูบซึ่งมีผู้อื่นทำปลอมแสตมป์ยาสูบขึ้นแล้วนำมาปิดอยู่บนซองยาสูบดังกล่าวไม่
การที่จำเลยที่ 1 ช่วยซ่อนเร้น หรือรับไว้ซึ่งบุหรี่เครื่องหมายการค้า L&M ของกลางที่มีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร แล้วจำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งบุหรี่จำนวนเดียวกันดังกล่าวนั้น ซึ่งเป็นยาสูบที่มีน้ำหนักเกินกว่าห้าร้อยกรัมและมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมาย แม้การกระทำนั้นจะผิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายหลายฉบับ แต่ก็เป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกัน คือการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ต้องเสียภาษีอากรตามกฎหมาย ถือว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานช่วยซ่อนเร้น พาเอาไปเสียหรือรับไว้ซึ่งยาสูบซึ่งมีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรตาม พ.ร.บ.ศุลกากร ฯ มาตรา 27 ทวิ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4,108 และ 110 พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 4, 5, 5 ทวิ, 5 ตรี, 16, 19, 23, 24, 41, 43, 44, 49, 50 และ 53 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 2 และ 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8 และ 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 91 ริบบุหรี่ซิกาแรต จำนวน 8,650 ซอง ของกลางให้เป็นของกรมสรรพสามิต ริบรถยนต์พร้อมกุญแจของกลาง และจ่ายเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบด้วยมาตรา 108 ฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม จำคุก 3 เดือน และปรับ 100,000 บาท พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 19, 49 และมาตรา 24, 50 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักตามมาตรา 24, 50 ฐานมียาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบไว้ในครอบครองเพื่อขาย ปรับสิบห้าเท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิด (227,062.50 คูณ 15) เป็นเงิน 3,405,937.50 บาท พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ ฐานพาเอาไปเสียซึ่งของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ปรับสี่เท่าของราคาของซึ่งรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว (1,600 คูณ 4) เป็นเงิน 6,400 บาท และพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 43, 53 ฐานมีแสตมป์ยาสูบปลอมไว้ในครอบครอง จำคุก 3 เดือน และปรับ 4,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 3,516,337.50 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 1,756,168.75 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 โดยให้คุมความประพฤติจำเลยที่ 1 ไว้ ให้จำเลยที่ 1 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ตลอดเวลาที่รอการลงโทษ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 โดยหากต้องมีการกักขังแทนค่าปรับให้กักขังจำเลยที่ 1 แทนค่าปรับไม่เกิน 1 ปี ริบยาสูบของกลาง 8,650 ซอง เป็นของกรมสรรพสามิต และริบรถยนต์หมายเลขทะเบียน บน 6932 ราชบุรี พร้อมกุญแจ ให้จ่ายเงินรางวัลร้อยละสิบห้าของราคาของกลางตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ.2489 มาตรา 5 (2) มาตรา 6, 7 และมาตรา 8 ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ก่อนที่จะวินิจฉัยปัญหาว่าควรลดโทษปรับให้จำเลยที่ 1 หรือไม่ จำต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าปัญหาประการแรก การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานมีแสตมป์ยาสูบปลอมไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 43 ประกอบมาตรา 53 ตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว มาตรา 43 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งแสตมป์ยาสูบปลอมหรือใช้แล้วเพื่อขายหรือเพื่อนำออกใช้ โดยรู้ว่าเป็นแสตมป์ยาสูบปลอมหรือใช้แล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ว่า แสตมป์ยาสูบนั้นมีผู้อื่นทำปลอมขึ้นและได้ถูกนำมาใช้ปิดอยู่บนซองบรรจุยาสูบของกลางแต่ละซองแล้ว โดยจำเลยที่ 1 มียาสูบของกลางแต่ละซองดังกล่าวไว้เพื่อขาย ซึ่งในการขายยาสูบของกลางแต่ละซองนั้น แม้จะมีแสตมป์ยาสูบปิดอยู่บนซองบรรจุยาสูบด้วยก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะมีแสตมป์ยาสูบปลอมดวงนั้น ๆ ไว้เพื่อขายตามความหมายในมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 เพราะบทมาตราดังกล่าวมุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดที่มีแสตมป์ยาสูบปลอมไว้ในครอบครองเพื่อขายหรือเพื่อนำออกใช้เท่านั้น หาได้ประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่มียาสูบซึ่งมีผู้อื่นทำปลอมแสตมป์ยาสูบขึ้นแล้วนำมาปิดแสดงอยู่บนซองยาสูบดังกล่าวไม่ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งแสตมป์ยาสูบปลอมเพื่อขายตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 43 ประกอบด้วยมาตรา 53 มาด้วยนั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ส่วนปัญหาประการที่สอง การกระทำของจำเลยที่ 1 ฐานช่วยซ่อนเร้นและรับไว้ซึ่งยาสูบบุหรี่ซิกาแรตเครื่องหมายการค้า L&M จำนวน 200 ซอง ซึ่งมีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร และฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งยาสูบบุหรี่ซิกาแรตเครื่องหมายการค้า L&M จำนวน 200 ซอง ซึ่งเป็นจำนวนเดียวกันดังกล่าวซึ่งมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมายเป็นการกระทำกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ช่วยซ่อนเร้นหรือรับไว้ซึ่งบุหรี่เครื่องหมายการค้า L&M ของกลางที่มีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร แล้วจำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งบุหรี่จำนวนเดียวกันดังกล่าวนั้น ซึ่งเป็นยาสูบที่มีน้ำหนักเกินกว่าห้าร้อยกรัมและมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมาย แม้การกระทำนั้นจะผิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายหลายฉบับ แต่ก็เป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกัน คือการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ต้องเสียภาษีอากรตามกฎหมาย ถือว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานช่วยซ่อนเร้นพาเอาไปเสีย หรือรับไว้ซึ่งยาสูบซึ่งมีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2548 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปัญหาทั้งสองประการดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานมีแสตมป์ยาสูบปลอมไว้ในครอบครองได้ ส่วนความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งยาสูบบุหรี่ซิกาแรตเครื่องหมายการค้า L&M จำนวน 200 ซอง ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางลงโทษปรับตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มานั้น จึงไม่ถูกต้องศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 215 โดยความผิดฐานมียาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบไว้ในครอบครองเพื่อขาย ปรับสิบห้าเท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิด ยาสูบเครื่องหมายการค้า KRONG THIP 90 กรองทิพย์ 90 จำนวน 8,450 ซอง ค่าแสตมป์ยาสูบที่ต้องปิดซองละ 26.25 บาท เป็นเงินค่าแสตมป์ยาสูบที่ต้องปิด (8,450 คูณ 26.25) จำนวน 221,812.50 บาท ปรับสิบห้าเท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิด (221,812.50 คูณ 15) เป็นเงิน 3,327,187.50 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงปรับ 1,663,593.75 บาท ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ลดโทษปรับให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า การลงโทษปรับจำเลยที่ 1 ฐานมียาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบไว้ในครอบครองเพื่อขายดังกล่าวเป็นการกำหนดโทษปรับตามที่กฎหมายบัญญัติ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่อาจลดค่าปรับฐานนี้ให้เบาลงได้อีก
ส่วนความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น พาเอาไปเสียหรือรับไว้ซึ่งของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรซึ่งบุหรี่เครื่องหมายการค้า L&M จำนวน 200 ซอง ของกลางที่มีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2448 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางลงโทษปรับ 6,400 บาท ก่อนลดโทษนั้น ก็เป็นการกำหนดโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงไม่อาจลดโทษปรับฐานนี้ให้เบาลงได้อีกเช่นกัน
ส่วนความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ต้องโทษปรับก่อนลดสำหรับความผิดฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบเป็นจำนวนเงินสูงถึง 3,327,187.50 บาท ต่อการกระทำในคราวเดียวกันจากการที่มียาสูบจำนวน 8,450 ซอง ไว้เพื่อขายไปแล้ว ซึ่งโทษดังกล่าวเป็นการที่กฎหมายบังคับให้ศาลต้องลงโทษแก่จำเลยที่ 1 ตามอัตราที่กำหนดในกฎหมาย และเป็นมาตรการการลงโทษทางเศรษฐกิจแก่จำเลยที่ 1 ที่หนักเพียงพอแก่สภาพการกระทำผิดครั้งนี้แล้ว การกำหนดโทษปรับแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมอีก จะทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับโทษปรับหนักเกินไปกว่าสภาพการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ก่อนลดโทษให้จำคุก 3 เดือน และปรับ 100,000 บาท มานั้นจึงหนักเกินไป ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรกำหนดโทษจำเลยที่ 1 สำหรับความผิดฐานนี้เสียใหม่ให้เหมาะสมแก่ความผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นสมควรให้งดลงโทษปรับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้เสีย โดยคงให้ลงโทษจำคุกสถานเดียว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ขอให้ลงโทษในความผิดฐานนี้ให้เบาลงฟังขึ้น
อนึ่ง คดีนี้เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ได้พร้อมด้วยยาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตตรากรองทิพย์ 90 ที่มีเครื่องหมายทางการค้าปลอม และมีแสตมป์ยาสูบปลอมจำนวน 8,450 ซอง และบุหรี่ซิกาแรตต่างประเทศเครื่องหมายการค้า L&M ซึ่งมีแสตมป์ยาสูบปลอม จำนวน 200 ซอง และรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน บน 6932 ราชบุรี พร้อมกุญแจ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้ริบรถยนต์ของกลางพร้อมกุญแจ ทั้งที่ตามคำฟ้องดังกล่าวไม่ปรากฏว่ารถยนต์ของกลางพร้อมกุญแจได้ถูกใช้ในลักษณะของหีบห่อสำหรับบรรจุบุหรี่ซิกาแรตอันเป็นทรัพย์ที่พึงริบตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 44 อย่างไรทั้งไม่ปรากฏว่ารถยนต์ของกลางพร้อมกุญแจถูกใช้ในลักษณะเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำอันพึงริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิดโดยตรงด้วย จึงถือไม่ได้ว่ารถยนต์พร้อมกุญแจเป็นทรัพย์อันพึงริบ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ริบจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกคำขอของโจทก์ที่ขอให้ริบรถยนต์พร้อมกุญแจเสียได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 215”
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 เดือน ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน 15 วัน เมื่อรวมกับโทษฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบที่ปรับ 1,663,593.75 บาท กับฐานช่วยซ่อนเร้น พาเอาไปเสียหรือรับไว้ซึ่งของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ที่ปรับ 3,200 บาท แล้ว จึงรวมเป็นจำคุก 1 เดือน 15 วัน และปรับ 1,666,793.75 บาท โดยให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ตามเดิม และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งแสตมป์ยาสูบปลอมเพื่อขายตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 43 ประกอบด้วยมาตรา 53 ไม่ริบรถยนต์พร้อมกุญแจของกลาง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share