คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3873/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่ธนาคารผู้ออกบัตร ATM ทั้งหลายต่างออกแบบให้ด้านหลังของบัตร ATM มีช่องให้เจ้าของบัตรลงลายมือชื่อไว้นั้น นอกจากจะมีวัตถุประสงค์มีไว้เพื่อระบุตัวเจ้าของบัตรแล้วยังอาจมีวัตถุประสงค์เป็นประการอื่น ๆ ด้วย การที่จำเลยปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วมในบัตร ATM ของโจทก์ร่วม แม้ลายมือชื่อปลอมจะมิใช่สาระสำคัญของการใช้บัตร ATM ในการทำรายการเบิกถอนเงินที่ตู้เบิกถอนเงิน ATM ก็ตาม การกระทำของจำเลยที่ลงลายมือชื่อปลอมที่หลังบัตร ATM ของโจทก์ร่วมก็ถือได้ว่าน่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมและธนาคารผู้ออกบัตร และได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารแท้จริง อันเป็นการครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 264, 265, 268, 91 และคืนบัตรเงินสดทันใจท่องโลก (ATM) ของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายชาลี ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268 ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 ตามมาตรา 268 วรรคสอง ให้จำคุก 1 ปี ยกฟ้องข้อหาลักทรัพย์ คืนของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ให้จำคุก 6 เดือน ยกฟ้องฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ฎีกาของจำเลยประการแรกซึ่งจำเลยฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์พอสรุปความได้ว่า การที่จำเลยลงลายมือชื่อปลอมที่หลังบัตรเงินสดทันใจท่องโลก (ATM) ของโจทก์ร่วมไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน นั้น เห็นว่า พยานโจทก์จะเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่าบัตร ATM นั้น หากมีการเขียนข้อความใด ๆ ลงไปในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับแถบแม่เหล็กก็ยังคงนำไปใช้เบิกถอนเงินได้อีก และภายหลังผู้ขอใช้บัตรได้บัตรและรหัสลับมาแล้ว ผู้ใช้บัตรสามารถใช้บัตรเบิกถอนเงินจากตู้เบิกถอนเงินอัตโนมัติได้ทุกแห่งและหากผู้ใช้บัตรไม่พอใจรหัสลับที่ธนาคารออกให้ ก็สามารถเปลี่ยนรหัสใหม่ได้ที่ตู้เบิกถอนเงิน ATM นั้น อันเป็นการสอดคล้องกับข้ออ้างในฎีกาของจำเลยที่โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า การเขียนชื่อหลังบัตร ATM เป็นเพียงสัญลักษณ์เพื่อให้ทราบว่าเป็นบัตรของผู้ใดเท่านั้น หามีส่วนเป็นสาระในการเบิกถอนเงินแต่อย่างใด ส่วนสำคัญในการเบิกถอนเงินอยู่ที่รหัสลับเท่านั้น ดังนั้น การปลอมลายมือชื่อโจทก์ร่วมลงบนหลังบัตร ATM จึงมิใช่สาระสำคัญที่จะทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อ และไม่เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นและประชาชนก็ตาม แต่การที่ธนาคารผู้ออกบัตร ATM ทั้งหลายต่างออกแบบให้ด้านหลังของบัตร ATM มีช่องให้เจ้าของบัตรลงลายมือชื่อไว้นั้นนอกจากจะมีวัตถุประสงค์มีไว้เพื่อระบุตัวเจ้าของบัตรแล้ว ยังอาจมีวัตถุประสงค์เป็นประการอื่น ๆ ด้วย เช่น หากมีกรณีทำรายการในการเบิกถอนเงินผิดพลาด เป็นเหตุให้ตู้เบิกถอน ATM ไม่คืนบัตรให้ และเจ้าของบัตรมาขอคืนจากธนาคาร ธนาคารก็อาจตรวจสอบโดยเพียงให้ผู้มาขอคืนลงลายมือชื่อเพื่อตรวจสอบว่าตรงกับลายมือชื่อเจ้าของบัตรในบัตร ATM นั้น หรือไม่ เป็นต้น อีกทั้งองค์ประกอบความผิดของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ในส่วนนี้ก็บัญญัติเพียงว่า “…โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารแท้จริง…” เท่านั้น หาใช่มีองค์ประกอบความผิดว่าต้องได้กระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดด้วยไม่ ดังนั้น การที่จำเลยปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วมในบัตร ATM ของโจทก์ร่วม แม้ลายมือชื่อปลอมจะมิใช่สาระสำคัญของการใช้บัตร ATM ในการทำรายการเบิกถอนเงินที่ตู้เบิกถอนเงิน ATM ก็ตาม การกระทำของจำเลยที่ลงลายมือชื่อปลอมที่หลังบัตร ATM ของโจทก์ร่วม ก็ถือได้ว่าน่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมและธนาคารผู้ออกบัตร และได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารแท้จริง อันเป็นการครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งเป็นเงิน 3,000 บาท สำหรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี โดยให้คุมความประพฤติของจำเลย 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟังโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 6 เดือน ต่อหนึ่งครั้ง ตลอดระยะเวลาที่ศาลรอการลงโทษไว้ กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่จำเลยและพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด มีกำหนดระยะเวลา 30 ชั่วโมง และให้จำเลยละเว้นการประพฤติอันใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share