คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9230/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้เสนอขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่ ส. ป. และ ฉ. บุคคลทั้งสามจึงเป็นผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3 ซึ่งมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 4 (4) เมื่อผู้บริโภคทั้งสามได้รับความเสียหายจากการประพฤติผิดสัญญาจะซื้อจะขายของจำเลยซึ่งเป็นผู้ขายและได้ยื่นคำร้องขอต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม โจทก์ย่อมมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการโดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมอัยการ เพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่จำเลยในศาลและมีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคทั้งสามที่ร้องขอได้ด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ขณะโจทก์นำเอกสารมาสืบ จำเลยไม่ได้คัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารว่าไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน หรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ จึงถือได้ว่าจำเลยได้ยอมรับถึงการมีอยู่และความแท้จริงของต้นฉบับเอกสารนั้น รวมทั้งยอมรับว่าสำเนานั้นถูกต้องกับต้นฉบับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 ศาลย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานแห่งเอกสารนั้นได้ตามมาตรา 93 (4) ((93 (1)) (เดิม))
โจทก์ระบุในคำฟ้องว่า เป็นเรื่องละเมิดสิทธิผู้บริโภค แต่ตามคำบรรยายฟ้องเป็นกรณีที่โจทก์ในฐานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคใช้สิทธิของผู้บริโภคทั้งสามที่ถูกจำเลยละเมิดสิทธิโดยไม่ดำเนินการก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จตามกำหนดและส่งมอบจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้บริโภคทั้งสามตามสัญญา เป็นการใช้สิทธิดำเนินคดีแทนผู้บริโภคทั้งสามในการบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขาย จึงต้องถืออายุความตามสัญญาจะซื้อจะขายไม่ใช่อายุความละเมิดตามที่จำเลยอ้างต่อสู้ เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างผู้บริโภคทั้งสามกับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อจำเลยไม่พร้อมที่จะชำระหนี้แก่ผู้บริโภคทั้งสาม ผู้บริโภคทั้งสามจึงยังไม่ต้องชำระหนี้ที่เหลือแก่จำเลย เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้แก่ผู้บริโภคทั้งสามภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากจำเลยไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนดให้ถือว่าหนังสือดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญา เมื่อจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้ว แต่เพิกเฉย จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัญญาจึงเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดตั้งแต่เวลาที่รับไว้ตามมาตรา 391

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับหนังสือร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวน 3 รายว่าได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและอาคารจากการจัดสรรของจำเลยในโครงการบ้านอักษรา รัตนาธิเบศร์ ผู้บริโภคแต่ละรายได้ชำระเงินตามสัญญาให้แก่จำเลยแล้ว แต่จำเลยไม่ก่อสร้างให้ตรงตามสัญญา โจทก์ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า สภาพอาคารในโครงการดังกล่าวถูกปล่อยทิ้งร้างมานานเชื่อว่าจำเลยไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ อันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค โจทก์จึงมีมติให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคดำเนินคดีแพ่งแก่จำเลยแทนผู้บริโภค โดยนายสมบุญได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงเลขที่ D4-49 พร้อมอาคารทาวน์เฮาส์ 1 หลัง เนื้อที่ 21 ตารางวา ราคา 1,030,000 บาท นายสมบุญได้ชำระเงินค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปแล้ว 206,000 บาท นายปรีชาทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงเลขที่ H7-110 พร้อมอาคารทาวน์เฮาส์ 1 หลัง เนื้อที่ 21 ตารางวา ราคา 1,170,000 บาท นายปรีชาได้ชำระเงินค่าที่ดินไปแล้ว 238,000 บาท และนายฉัตรชัยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงที่ H7-109 พร้อมอาคารทาวน์เฮาส์ 1 หลัง เนื้อที่ 29 ตารางวา ราคา 1,470,000 บาท นายฉัตรชัยได้ชำระเงินไปแล้ว 297,200 บาท รวมเงินที่จำเลยได้รับชำระจากผู้บริโภคทั้ง 3 รายจำนวน 741,200 บาท ก่อนฟ้องโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 206,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มกราคม 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายสมบุญ ให้จำเลยชำระเงิน 238,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 มกราคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายปรีชาและให้จำเลยชำระเงิน 297,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 มกราคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายฉัตรชัย
จำเลยให้การว่า โจทก์บรรยายฟ้องเป็นเรื่องผิดสัญญาจะซื้อจะขายมิใช่เรื่องละเมิดสิทธิ จึงไม่อยู่ในอำนาจที่โจทก์จะฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ และผู้บริโภคทั้ง 3 ราย มิได้มอบอำนาจให้เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือโจทก์ฟ้องคดีแก่จำเลย เนื่องจากผู้บริโภคทั้ง 3 ราย ชำระค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ถูกต้องตามสัญญา จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา อีกทั้งผู้บริโภคยังมิได้แจ้งจะขอชำระเงินทั้งหมดแก่จำเลย จำเลยจึงมิได้แจ้งวันนัดโอนแก่ผู้บริโภค จึงถือว่ายังไม่ถึงกำหนดเวลาโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยจึงยังไม่ผิดสัญญาและไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์มิได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับฐานะของโจทก์และโจทก์เกี่ยวข้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีนี้อย่างไร ผู้จะซื้อได้ชำระเงินให้จำเลยและจำเลยละเมิดสิทธิผู้บริโภคอย่างไร ทำให้จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดฐานละเมิด แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 206,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายสมบุญ ให้จำเลยชำระเงิน 238,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 มกราคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายปรีชา และให้จำเลยชำระเงิน 297,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 มกราคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายฉัตรชัย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า นายสมบุญ นายปรีชา และนายฉัตรชัย ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในโครงการบ้านอักษรารัตนาธิเบศร์ ซึ่งจำเลยระบุในใบโฆษณาโครงการว่าจะเริ่มก่อสร้างเดือนพฤศจิกายน 2547 และแล้วเสร็จโครงการในเดือนธันวาคม 2539 นายสมบุญ และนายฉัตรชัยได้วางเงินดาวน์และผ่อนชำระค่างวดตามสัญญาตั้งแต่เดือนกันยายน 2538 ถึงเดือนมกราคม 2540 ตามจำนวนงวดที่กำหนดในสัญญาแล้ว แต่จำเลยยังไม่สามารถก่อสร้างบ้านทาวน์เฮาส์ให้แล้วเสร็จตามสัญญา เมื่อนายสมบุญ และนายฉัตรชัยไปติดต่อสอบถามพนักงานของจำเลย ก็ได้รับการผัดผ่อนเรื่อยมาจนกระทั่งเดือนสิงหาคม 2545 นายสมบุญและนายฉัตรชัยจึงขอเงินที่ชำระไปแล้วคืน แต่จำเลยไม่คืนให้ นายสมบุญ นายปรีชา และนายฉัตรชัยจึงไปร้องเรียนต่อโจทก์
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ในข้อนี้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3 บัญญัติว่า ขาย หมายความรวมถึงให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือจัดหาให้ไม่ว่าด้วยประการใดโดยเรียกค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่น ตลอดจนการเสนอหรือการชักชวนเพื่อการดังกล่าวด้วย ผู้บริโภค หมายความว่า ผู้ซื้อหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจ และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการด้วย และผู้ประกอบธุรกิจ หมายความว่า ผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายหรือผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้า หรือผู้ให้บริการ และหมายความรวมถึงผู้ประกอบกิจการโฆษณาด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้เสนอขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่นายสมบุญนายปรีชา และนายฉัตรชัย บุคคลทั้งสามจึงเป็นผู้บริโภคตามบทนิยามในมาตรา 3 ดังกล่าว ซึ่งมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 4 (4) ซึ่งบัญญัติว่า สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหายเมื่อได้ความว่าผู้บริโภคทั้งสามได้รับความเสียหายจากการประพฤติผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยซึ่งเป็นผู้ขายและได้ยื่นคำร้องขอต่อโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้พิจารณาคำร้องขอของผู้บริโภคทั้งสามที่ถูกละเมิดสิทธิแล้วเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม โจทก์ย่อมมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการโดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมอัยการ (อัยการสูงสุด) เพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่จำเลยผู้กระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งสามในศาล และมีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคทั้งสามที่ร้องขอได้ด้วยโดยได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงตามมาตรา 39 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้โดยชอบ ส่วนที่จำเลยอ้างว่า โจทก์มิได้ส่งต้นฉบับเอกสารเกี่ยวกับคำสั่งแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อดำเนินคดีนี้ คงส่งแต่สำเนาเอกสารที่มีเพียงนางสาวศิริรักษ์ รับรองสำเนาซึ่งมิใช่รัฐมนตรี หัวหน้ากรม กอง หัวหน้าแผนกหรือผู้รักษาการแทน จึงต้องห้ามให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 นั้น เห็นว่า ขณะโจทก์นำเอกสารเหล่านี้มาสืบ จำเลยไม่ได้คัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารว่าไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน หรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับแต่อย่างใด จึงถือได้ว่าจำเลยได้ยอมรับถึงการมีอยู่และความแท้จริงของต้นฉบับเอกสารนั้น รวมทั้งยอมรับว่าสำเนานั้นถูกต้องกับต้นฉบับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 ศาลย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานแห่งเอกสารนั้นได้ตามมาตรา 93 (4) ((93 (1) (เดิม)) ไม่ใช่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ข้ออ้างของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ได้พิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์โดยตลอดแล้ว เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของโจทก์ที่จำดำเนินคดีแทนผู้บริโภคผู้ซึ่งถูกละเมิดสิทธิ และได้ร้องขอต่อโจทก์ว่า จำเลยเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งทำสัญญาจะซื้อจะขายกับผู้บริโภคทั้งสาม แล้วจำเลยไม่สามารถก่อสร้างบ้านทาวน์เฮาส์ในโครงการบ้านอักษรา รัตนาธิเบศร์ ให้เสร็จตามกำหนดเวลาในสัญญาและทิ้งงานไป ซึ่งโจทก์ตรวจสอบแล้วเห็นว่า การดำเนินคดีแก่จำเลยจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม จึงแต่งตั้งให้พนักงานอัยการดำเนินคดีแทน ซึ่งโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยให้แก่ผู้บริโภคทั้งสามที่ร้องขอได้ด้วย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 10 และ 39 โดยได้บรรยายรายละเอียดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ทำสัญญา และค่าเสียหายที่ผู้บริโภคทั้งสามได้รับ ฟ้องโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อนี้จำเลยอ้างว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องละเมิดสิทธิผู้บริโภคซึ่งสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดย่อมขาดอายุความเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ศาลฎีกาได้พิเคราะห์คำฟ้องแล้ว เห็นว่า แม้โจทก์จะระบุในคำฟ้องว่า เป็นเรื่องละเมิดสิทธิผู้บริโภคก็ตาม แต่ตามคำบรรยายฟ้องเป็นกรณีที่โจทก์ในฐานะคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคใช้สิทธิของผู้บริโภคทั้งสามที่ถูกจำเลยละเมิดสิทธิ โดยไม่ดำเนินการก่อสร้างบ้านทาวน์เฮาส์ให้แล้วเสร็จตามกำหนดและส่งมอบจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้บริโภคทั้งสามตามสัญญา ซึ่งโจทก์เห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวมคือเป็นการใช้สิทธิดำเนินคดีแทนผู้บริโภคทั้งสามในบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จึงต้องถืออายุความตามสัญญาจะซื้อจะขาย ไม่ใช่อายุความละเมิดตามที่จำเลยอ้างต่อสู้ เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงให้มีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นข้อสุดท้ายว่าจำเลยต้องรับผิดตามสัญญาและต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้บริโภคทั้งสามหรือไม่ ในข้อนี้ได้ความตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเอกสารหมาย จ.13, จ.16 และ จ.19 ซึ่งผู้บริโภคทั้งสามทำกับจำเลยระบุว่า ผู้บริโภคทั้งสามต้องวางเงินจองในวันทำสัญญาและจะชำระค่างวดอีก 16 งวด ภายในกำหนดเวลาที่ระบุในสัญญาซึ่งผู้บริโภคทั้งสามได้ชำระเงินจองและค่างวดตามจำนวนและภายในกำหนดตามสัญญาแล้วตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.14, จ.17 และ จ.20 โดยชำระค่างวดงวดที่ 16 ในเดือนมกราคม 2540 ซึ่งจำเลยในฐานะผู้ขายมีหน้าที่ต้องแจ้งวันและเวลาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ตกลงซื้อขายกันให้ผู้บริโภคทั้งสามทราบเพื่อจัดเตรียมเอกสารหลักฐานพร้อมเงินค่าซื้อขายงวดสุดท้ายมาชำระแก่จำเลย แต่ปรากฏว่าจำเลยไม่สามารถก่อสร้างบ้านทาวน์เฮาส์ให้แล้วตลอดมา แต่จำเลยก็เพิกเฉยไม่มีความคืบหน้าในการก่อสร้าง จนกระทั่งเดือนสิงหาคม 2545 ผู้บริโภคทั้งสามจึงไปร้องเรียนขอความคุ้มครองจากโจทก์ ซึ่งต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม 2545 โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยดำเนินการก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านให้แก่ผู้บริโภคทั้งสาม หากไม่ดำเนินการภายในกำหนดให้จำเลยใช้เงินที่ชำระไปแล้วคืนแก่ผู้บริโภคทั้งสามจำเลยได้รับหนังสือแล้ว แต่เพิกเฉยไม่ดำเนินการใด ๆ ตามสำเนาหนังสือบอกกล่าวและใบตอบรับทางไปรษณีย์เอกสารหมาย จ.26 และ จ.27 ระยะเวลานับแต่วันทำสัญญาจนถึงวันที่โจทก์บอกกล่าวทวงถามเป็นเวลาถึง 7 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เนิ่นนานและล่วงเลยกำหนดแล้วเสร็จโครงการที่จำเลยโฆษณาว่า จะเสร็จสิ้นในเดือนธันวาคม 2539 แสดงว่าจำเลยไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ แม้ผู้บริโภคทั้งสามมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าซื้อขายส่วนที่เหลือแก่จำเลยแต่สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างผู้บริโภคทั้งสามกับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อจำเลยไม่อยู่ในฐานะพร้อมที่จะชำระหนี้แก่ผู้บริโภคทั้งสาม ผู้บริโภคทั้งสามจึงยังไม่ต้องชำระหนี้ที่เหลือแก่จำเลย เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้แก่ผู้บริโภคทั้งสามภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากจำเลยไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนดให้ถือว่าหนังสือดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญา เมื่อจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้ว แต่เพิกเฉยไม่ดำเนินการก่อสร้างบ้านทาวน์เฮาส์และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่ผู้บริโภคทั้งสามภายในกำหนด จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาสัญญาจึงเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่รับไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยใช้คืนเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้บริโภคทั้งสามนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share