แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้เยาว์ยังไม่บรรลุนิติภาวะและพักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นมารดา ผู้เสียหายที่ 1 ย่อมอยู่ใต้อำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 การที่จำเลยดึงผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปในห้องพักของจำเลยแล้วข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 รวม 2 ครั้ง เป็นการกระทำอันมีเจตนาล่วงล้ำอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 แล้ว เพราะจำเลยนำสืบรับว่ามีบุตรและภริยาอยู่แล้ว ย่อมไม่อยู่ในสถานะที่จะเลี้ยงดูผู้เสียหายที่ 1 ฉันสามีภริยาได้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากมารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร รวม 2 กระทง ส่วนการที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ในห้องน้ำของโรงเรียนที่เกิดเหตุระหว่างที่ผู้เสียหายที่ 2 มีกิจธุระจึงให้ผู้เสียหายที่ 1 ไปอยู่กับจำเลยนั้น จำเลยไม่ได้กระทำการใดอันจะเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปจากอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 คงมีเจตนาที่จะกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 เพียงอย่างเดียว การกระทำของจำเลยในครั้งนี้จึงไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อการอนาจาร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 317, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง ระวางโทษจำคุกกระทงละ 7 ปี รวม 3 กระทง จำคุก 21 ปี คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม อีก 3 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี เป็นจำคุก 15 ปี รวมเป็นจำคุก 36 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายที่ 1 เป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่า จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ครั้งแรกที่ในห้องน้ำของโรงเรียนดอนเมืองทหารอากาศบำรุงเมื่อวันที่ใดจำไม่ได้ เดือนพฤษภาคม 2546 เวลาประมาณ 15.30 นาฬิกา ต่อมาอีก 1 สัปดาห์ เวลาประมาณ 16 นาฬิกา จำเลยดึงมือผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปในห้องพักของจำเลยที่แฟลตของโรงเรียนดอนเมืองทหารอากาศบำรุงแล้วข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 โดยจำเลยใช้มือปิดปากผู้เสียหายที่ 1 ไว้ทั้งสองครั้ง และบอกห้ามมิให้ผู้เสียหายที่ 1 ไปบอกบิดามารดาของผู้เสียหายที่ 1 มิฉะนั้นจะทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ทำให้ผู้เสียหายที่ 1 กลัวไม่กล้าบอกใคร หลังจากนั้นอีก 1 เดือน เวลาประมาณ 19 นาฬิกา ขณะผู้เสียหายที่ 1 อยู่ที่แฟลตของโรงเรียนดอนเมืองทหารอากาศบำรุง ผู้เสียหายที่ 2 ใช้ให้ผู้เสียหายที่ 1 ไปขอกาแฟจากห้องพักของจำเลยซึ่งอยู่ใกล้กัน ครั้นผู้เสียหายที่ 1 ไปตะโกนบอกจำเลย จำเลยได้เปิดประตูออกมาดึงมือผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปในห้องพักของจำเลยแล้วใช้มือปิดปากผู้เสียหายที่ 1 มิให้ร้องและข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 อีก โดยผู้เสียหายที่ 1 ไม่ได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ผู้ใดฟัง เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 ขณะผู้เสียหายที่ 1 มาพักที่บ้านพักฉุกเฉินของสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ผู้เสียหายที่ 1 รู้สึกว่าประจำเดือนขาดไป 2 ถึง
3 เดือน และคิดว่าตนเองท้องจึงเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้นายกฤษตานนท์ พี่ชายของผู้เสียหายที่ 1 ฟัง นายกฤษตานนท์จึงโทรศัพท์แจ้งเรื่องดังกล่าวให้นางณัฐิยา เจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่บ้านพักฉุกเฉินดังกล่าวให้ทราบเรื่อง เมื่อนางณัฐิยามาสอบถามผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายที่ 1 ก็เล่าเรื่องดังกล่าวให้นางณัฐิยาฟัง ในข้อนี้โจทก์มีร้อยตำรวจโทธีรพงศ์ พนักงานสอบสวนคดีนี้คนแรกเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2548 เวลาประมาณ 14.30 นาฬิกา นางณัฐิยา เจ้าหน้าที่นักสังคมสงเคราะห์ได้พาผู้เสียหายที่ 1 มาแจ้งความต่อพยานกล่าวหาว่าจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 3 ครั้ง ต่างเวลากัน โดยครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2546 ครั้งที่สองประมาณเดือนพฤษภาคม 2548 และครั้งที่สามประมาณเดือนมิถุนายน 2548 แม้โจทก์มิได้นำนางณัฐิยามาเบิกความเป็นพยาน แต่โจทก์มีบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ ฯลฯ มาอ้างเป็นพยานซึ่งนางณัฐิยาให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า ได้ทราบเรื่องผู้เสียหายที่ 1 ถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราจากพี่ชายของผู้เสียหายที่ 1 เมื่อนางณัฐิยามาสอบถามผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายที่ 1 ได้เล่าให้ฟังว่าถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราในสถานที่ซึ่งผู้เสียหายที่ 1 เบิกความถึงและในวันเวลาตรงตามที่ร้อยตำรวจโทธีรพงศ์เบิกความด้วย ดังนั้นที่ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความถึงเวลาเกิดเหตุในครั้งที่ 2 และ ครั้งที่ 3 ว่าเป็น พ.ศ.2546 นั้นอาจเป็นเพราะผู้เสียหายที่ 1 ยังเป็นเด็กอายุน้อยเมื่อมาเบิกความเป็นพยานในศาลหลังเกิดเหตุเกือบ 2 ปี ก็ย่อมมีความตื่นเต้นตกใจทำให้หลงลืมเบิกความผิดพลาดเรื่อง พ.ศ.ที่เกิดเหตุไปบ้าง ซึ่งไม่ทำให้มีข้อพิรุธสงสัยจนน้ำหนักพยานหลักฐานโจทก์ต้องเสียไปแต่อย่างใด แม้ว่าในการตรวจร่างกายผู้เสียหายที่ 1 นั้น แพทย์จะตรวจไม่พบบาดแผลภายนอกร่างกาย คงพบร่องรอยขาดเดิมของเยื่อพรหมจารีและไม่พบตัวอสุจิกับส่วนประกอบของน้ำอสุจิตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ก็เป็นเรื่องไม่ผิดปกติเพราะแพทย์ตรวจร่างกายผู้เสียหายที่ 1 หลังวันเกิดเหตุครั้งที่สามเกือบ 3 เดือน หลักฐานร่องรอยการมีเพศสัมพันธ์ย่อมจะลบเลือนหายไป นอกจากนี้ยังได้ความจากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ในปี 2546 พยานพบว่าผู้เสียหายที่ 1 มีอาการผิดปกติจากเดิมที่เป็นคนร่าเริงสนุกสนาน กลายเป็นคนเก็บตัวพูดน้อยลง เมื่อพยานสอบถาม ผู้เสียหายที่ 1 ก็บอกว่าไม่เป็นอะไร ซึ่งอาการดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่าถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราในครั้งแรก จึงเป็นข้อสนับสนุนคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ให้มีน้ำหนักให้รับฟังมากยิ่งขึ้น เห็นว่า ผู้เสียหายทั้งสองรู้จักจำเลยมาก่อนเกิดเหตุและไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย ส่วนพยานโจทก์ปากอื่น ๆ นอกจากผู้เสียหายทั้งสองต่างก็ไม่รู้จักและไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยเช่นเดียวกัน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์ดังกล่าวจะเบิกความและให้การปรักปรำจำเลย โดยเฉพาะผู้เสียหายที่ 1 เป็นเด็กหญิงและเป็นนักเรียนจึงไม่มีเหตุที่ผู้เสียหายที่ 1 จะนำความเท็จซึ่งทำให้ตนเองต้องอับอายขายหน้ามากล่าวอ้างโดยไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 รวม 3 กระทง เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ยังเป็นผู้เยาว์ไม่ได้บรรลุนิติภาวะและพักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาผู้เสียหายที่ 1 ย่อมอยู่ใต้อำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 การที่จำเลยดึงผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปในห้องพักของจำเลยแล้วข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 รวม 2 ครั้ง เป็นการกระทำอันมีเจตนาล่วงล้ำอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 เพราะจำเลยนำสืบรับแล้วว่า จำเลยมีบุตรและภริยาอยู่แล้วจำเลยย่อมไม่อยู่ในสถานะที่จะเลี้ยงดูผู้เสียหายที่ 1 ฉันสามีภริยาได้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากมารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร รวม 2 กระทง ส่วนการที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ในห้องน้ำที่โรงเรียนในระหว่างที่ผู้เสียหายที่ 2 มีกิจธุระจึงให้ไปอยู่กับจำเลยนั้น จำเลยไม่ได้กระทำการใดอันเป็นการพาผู้เสียหายที่ 1 ไปอันจะเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปจากอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 จำเลยมีเจตนาที่จะกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 เพียงอย่างเดียว การกระทำของจำเลยในครั้งนี้จึงไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อการอนาจาร ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาในส่วนนี้ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม 2 กระทง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แล้ว คงจำคุกจำเลยรวม 31 ปี ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม 1 กระทง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.