แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 3 ให้ยกเลิก พ.ร.บ.น้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 และบัญญัติไว้ในมาตรา 49 วรรคสอง ให้การที่ผู้ค้าน้ำมันปลอมปนน้ำมันเพื่อจำหน่ายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ พ.ร.บ.น้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 มาตรา 25 ตรี วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบัญญัติวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาท ถึงสองแสนบาท กรณีจึงต้องถือว่า พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 49 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ แต่โทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าจึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายในความผิดฐานนี้ให้ถูกต้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 มาตรา 4, 6 ทวิ, 13, 21, 25 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 มาตรา 6 ทวิ, 25 ตรี วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 25 ตรี วรรคสองและวรรคสาม) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83 จำเลยที่ 1 ปรับจำนวน 100,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 2 ปี จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์จำเลยที่ 1 บังคับคดี ของกลางริบ ข้อหาและคำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยได้รับอนุญาตจากกรมทะเบียนการค้า เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2542 นางระรินทิพย์รับราชการที่กระทรวงพาณิชย์ตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ 4 กับพวกและเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจสอบน้ำมันที่สถานีบริการน้ำมันของจำเลยที่ 1 และใส่กุญแจหัวจ่ายห้ามจำหน่ายน้ำมันเบนซินชนิด 95 ซึ่งอยู่ในถัง 1,800 ลิตร ที่ด้านหลังอ้างว่าน้ำมันเบนซินดังกล่าวคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานและดำเนินคดีจำเลยทั้งสอง สำหรับความผิดฐานเป็นผู้ค้าน้ำมันจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงมีคุณภาพต่ำกว่าคุณภาพที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คู่ความไม่อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจำหน่ายตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาหรือไม่ โจทก์มีนางระรินทิพย์เบิกความยืนยันว่า พยานกับพวกขอตรวจสอบน้ำมันโดยสุ่มตรวจที่หัวจ่ายน้ำมัน นำน้ำมันมาต้มกลั่นด้วยไฟฟ้า และดูอุณหภูมิการระเหยของน้ำมันที่จุดเดือนสุดท้าย ถ้าอุณหภูมิไม่เกิน 200 องศาเซลเซียส เป็นน้ำมันที่ได้คุณภาพ ซึ่งน้ำมันที่นำมาตรวจสอบนั้นเป็นน้ำมันเบนซินชนิด 91, 95 และน้ำมันดีเซล ชนิดละ 1 หัวจ่าย เมื่อตรวจดูน้ำมันบริเวณด้านหน้าสถานีบริการน้ำมันที่จำหน่าย ไม่พบว่ามีคุณภาพผิดปกติ ต่อมาได้ไปตรวจดูทางด้านหลังของสถานีบริการพบว่ามีกำแพงกั้นอยู่ด้านหลังกำแพงมีหัวจ่าย 1 หัว ซึ่งจำหน่ายน้ำมันเบนซิน ชนิด 95 เมื่อนำมาตรวจสอบผลปรากฏว่าการระเหยของน้ำมันในจุดเดือดสุดท้ายมีอุณหภูมิ 215 องศาเซลเซียส แสดงว่าคุณภาพของน้ำมันไม่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด เพราะมีสารอื่นเข้ามาเจือปนในน้ำมันทำให้เครื่องยนต์สึกหรอได้ง่าย ในถังยังมีน้ำมันเหลืออยู่ประมาณ 1,800 ลิตร เจ้าพนักงานตำรวจจึงใส่กุญแจหัวจ่ายเพื่อไม่ให้จำหน่ายต่อไป พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองไม่อาจฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจำหน่าย ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า ในความผิดฐานเป็นผู้ค้าน้ำมันทำการปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจำหน่าย จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 มาตรา 25 ตรี วรรคสอง นั้น ปรากฏว่าภายหลังจากวันที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2542 ได้มีพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 และบัญญัติไว้ในมาตรา 49 วรรคสอง ให้การที่ผู้ค้าน้ำมันปลอมปนน้ำมันเพื่อจำหน่ายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่พระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 มาตรา 25 ตรี วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบัญญัติวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสองแสนบาท กรณีจึงต้องถือว่าพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 49 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ แต่โทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าจึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายในความผิดฐานนี้ให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานเป็นผู้ค้าปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจำหน่ายจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 มาตรา 25 ตรี วรรคสอง และพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 49 วรรคสอง จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6