คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2110/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สิทธิของผู้ประสบภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ และสิทธิของผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ เป็นสิทธิตามกฎหมายแต่ละฉบับมีวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนที่แตกต่างกัน การก่อให้เกิดสิทธิจากเบี้ยประกันภัยและเงินสมทบและการจ่ายเงินแก่ผู้มีสิทธิได้รับก็ต่างกันไปตามกฎหมายแต่ละฉบับ ทั้งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ และตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ก็ไม่ได้บัญญัติตัดสิทธิมิให้ผู้ที่ได้รับเงินตามกฎหมายอื่นแล้วมารับค่าเสียหายเบื้องต้นหรือประโยชน์ทดแทนอีก สิทธิได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นกับสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจึงมิได้หมายความว่าเมื่อมีสิทธิได้รับตามกฎหมายฉบับหนึ่งแล้วจะไม่มีสิทธิได้รับตามกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์เข้ารับการรักษาพยาบาลที่เกิดจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนที่โรงพยาบาลเมืองเพชร – ธนบุรี ซึ่งเป็นสถานพยาบาลที่จำเลยกำหนดให้โจทก์ได้รับบริการทางการแพทย์ โดยโจทก์เป็นผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 63 แต่เมื่อโรงพยาบาลเมืองเพชร – ธนบุรี ดำเนินการตามสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคัมฯ ข้อ 12 ที่โรงพยาบาลเมืองเพชร – ธนบุรี ทำกับจำเลยโดยเรียกเก็บเงินค่าเสียหายเท่าที่จ่ายจริงแทนโจทก์ในฐานะผู้ประสบภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ ค่ารักษาพยาบาล จำนวน 11,190 บาท ที่โรงพยาบาลเมืองเพชร – ธนบุรี ได้รับไปจึงเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ มาตรา 4 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากผู้ก่อความเสียหายตาม ป.พ.พ. แม้ว่าโจทก์จะเข้ารับการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลเมืองเพชร – ธนบุรี ซึ่งเป็นสถานพยาบาลที่จำเลยกำหนดให้โจทก์รับการบริการทางการแพทย์แต่จำเลยมิได้ให้ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเป็นค่าบริการทางการแพทย์จากกองทุนประกันสังคม จึงจะถือว่าโจทก์ได้รับประโยชน์ทดแทนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 58 และมาตรา 59 มิได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ประกันตนและเป็นผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 (ที่ถูก 2548) โจทก์ประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ขับชนกับรถจักรยานยนต์ที่นายทุเรียน ขับ โจทก์เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเมืองเพชร – ธนบุรี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิที่จะได้รับบริการทางการแพทย์ตั้งแต่วันเกิดเหตุและไปรักษาต่อเนื่องในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2547 (ที่ถูก 2548) ในวันที่ 1 มีนาคม 2548 โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานประกันสังคม จังหวัดเพชรบุรีขอรับประโยชน์ทดแทน แต่จำเลยมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนสำหรับค่าบริการทางการแพทย์ โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง ต่อมาคณะกรรมการอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการที่โจทก์ประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ชนดังกล่าวโจทก์ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เป็นการปฏิบัติตามสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่โรงพยาบาลเมืองเพชร – ธนบุรีทำไว้กับจำเลยซึ่งกำหนดให้โรงพยาบาลเมืองเพชร – ธนบุรีมีสิทธิเรียกเก็บเงินค่าเสียหายอันเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในฐานะผู้ประสบภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ได้เท่าที่จ่ายจริงแทนโจทก์ในฐานะผู้ประสบภัยตามจำนวนที่มีสิทธิที่จะได้รับและโรงพยาบาลเมืองเพชร – ธนบุรีจะเรียกเก็บเงินจากโจทก์มิได้ และยังคงมีหน้าที่ในการให้การบริการทางการแพทย์ต่อไปแม้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเกินกว่าสิทธิที่โจทก์จะได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ก็ตาม เมื่อโจทก์เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเมืองเพชร – ธนบุรี โดยใช้สิทธิในฐานะผู้ประกันตนและไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล จึงไม่มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลตามขอ วินิจิฉัยยกอุทธรณ์ของโจทก์ ปรากฏตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 653/2548 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เนื่องจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการละเมิดของนายทุเรียนโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาลจากนายทุเรียนผู้ทำละเมิดต่อโจทก์ได้โดยตรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กับขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่เป็นค่าบริการทางการแพทย์ได้อีกทางหนึ่ง และเห็นว่าการเรียกร้องค่าเสียหายจากนายทุเรียนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 โจทก์ร้องขอรับค่าเสียหายจากบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด ที่โจทก์ทำประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยไว้ ซึ่งโรงพยาบาลเมืองเพชร – ธนบุรีได้เรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด เป็นการชำระค่าสินไหมทดแทนจากนายทุเรียนให้แก่โจทก์ไปแล้วก็ตาม แต่โรงพยาบาลเมืองเพชร – ธนบุรีไม่ได้เรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลโจทก์จากกองทุนประกันสังคัม และไม่มีกฎหมายใดยกเว้นว่าผู้ประกันตนซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการประสบภัยจากรถไม่มีสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมอีก ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 653/2548 และให้โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนสำหรับค่าบริการทางการแพทย์ (ค่ารักษาพยาบาล) เป็นจำนวนเงิน 11,190 บาท
จำเลยให้การว่า การที่โจทก์ได้รับอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ชนได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2548 ในส่วนที่โจทก์เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเมืองเพชร – ธนบุรีมีค่ารักษาพยาบาลเกิดขึ้นทั้งสิ้น 11,190 บาท เมื่อโรงพยาบาลเมืองเพชร – ธนบุรีได้ตั้งเบิกเงินจำนวนดังกล่าวจากบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 โดยโจทก์ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามสัญญาจ้างให้การบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลเมืองเพชร – ธนบุรีทำไว้กับจำเลยแล้ว ไม่มีกฎหมาย ประกาศหรือระเบียบใดตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 กำหนดให้โรงพยาบาลตามสิทธิที่เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 โดยไม่ได้เบิกจากกองทุนประกันสังคม ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลหรือค่าใช้จ่ายทางการแพทย์จากจำเลยหรือกองทุนประกันสังคมซ้ำเต็มจำนวนได้อีก โจทก์มีสิทธิเรียกร้องอะไรได้จำนวนเท่าใดต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้สิทธิไว้ คำวินิจฉัยของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเพชรบุรีตามหนังสือที่ พบ 0025/03672 ลงวันที่ 1 มีนาคม 2548 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 653/2548 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 7 วินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าเสียหายเป็นค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ส่วนสิทธิที่โจทก์จะได้รับประโยชน์ทดแทนค่าบริการทางการแพทย์จากจำเลยเป็นสิทธิตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 โดยโจทก์ต้องเสียเบี้ยประกันภัยและส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมตามที่กฎหมายแต่ละฉบับบัญญัติไว้ เมื่อพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ไม่มีบทบัญญัติตัดสิทธิไม่ให้ผู้ได้รับเงินทดแทนตามกฎหมายอื่นมารับประโยชน์ทดแทนอีก และพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 บัญญัติขึ้นเพื่อสงเคราะห์แก่ลูกจ้างหรือบุคคลอื่นซึ่งประสบอันตรายเจ็บป่วยทุพพลภาพ หรือตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ไม่ใช่เป็นการเปิดช่องให้มีการมุ่งแสวงหากำไรจากสิทธิที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนค่าบริการทางการแพทย์จากจำเลยตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 พิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเพชรบุรีตามหนังสือ ที่ พบ 0025/03672 ลงวันที่ 1 มีนาคม 2548 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 653/2548 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ และให้จำเลยจ่ายค่าบริการทางการแพทย์แก่โจทก์จำนวน 11,190 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การที่โจทก์เข้ารับการรักษาพยาบาลโดยโรงพยาบาลเมืองเพชร – ธนบุรี ซึ่งเป็นสถานพยาบาลที่จำเลยกำหนดให้โจทก์ได้รับการบริการทางการแพทย์เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 แล้ว โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 อีกหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุอันเกิดจากรถซึ่งไม่ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายหรือได้รับชดใช้ค่าเสียหายไม่คุ้มกับความเสียหายที่ได้รับจริงที่หากเรียกร้องโดยใช้สิทธิทางแพ่งจะต้องใช้เวลาดำเนินคดียาวนานให้ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายและได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นที่แน่นอนและทันท่วงที ค่าเสียหายเบื้องต้นที่ได้รับนั้น หมายความว่าค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดการศพ รวมทั้งค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอย่างอื่นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยในเบื้องต้น ซึ่งแตกต่างจากวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนประกันสังคมตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่ต้องการสร้างหลักประกันให้แก่ลูกจ้างและผู้สมัครเข้าประกันตน (ตามมาตรา 39) รวมทั้งบุคคลในครอบครัวให้ได้รับการสงเคราะห์เมื่อลูกจ้างและผู้สมัครเข้าประกันตนต้องประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน คลอดบุตร ชราภาพ ว่างงาน รวมทั้งได้รับการสงเคราะห์บุตร อันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมมีความมั่นคงยิ่งขึ้น สิทธิของผู้ประสบภัยที่จะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เป็นไปตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถที่บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยได้รับประกันภัยไว้ ให้บริษัทดังกล่าวจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยเมื่อได้รับคำร้องขอจากผู้ประสบภัย มาตรา 22 บัญญัติให้การได้รับชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นตามมาตรา 20 ไม่ตัดสิทธิผู้ประสบภัยที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และตามมาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติให้ถือว่าค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น สิทธิในการได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นนี้เป็นสิทธิทางแพ่งที่ผู้ประสบภัยจะได้รับเพื่อเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นโดยเจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยโดยประกันภัยกับบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยและต้องเสียเบี้ยประกันภัย สำหรับกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยตามมาตรา 33 วรรคหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสำหรับจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัย โดยบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยเป็นผู้จ่ายเงินสมทบให้แก่กองทุนตามมาตรา 36 ส่วนสิทธิของผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 เกิดขึ้นจากการเป็นผู้ประกันตนและออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีต่างๆ ตามมาตรา 46 สิทธิของผู้ประสบภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 และสิทธิของผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 จึงเป็นสิทธิตามกฎหมายแต่ละฉบับมีวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนที่แตกต่างกัน การก่อให้เกิดสิทธิจากเบี้ยประกันภัยและเงินสมทบและการจ่ายเงินแก่ผู้มีสิทธิได้รับก็ต่างกันไปตามกฎหมายแต่ละฉบับทั้งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 และตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ก็ไม่ได้มีบทบัญญัติตัดสิทธิมิให้ผู้ที่ได้รับเงินตามกฎหมายอื่นแล้วมารับค่าเสียหายเบื้องต้นหรือประโยชน์ทดแทนอีก สิทธิได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นกับสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจึงมิได้หมายความว่าเมื่อมีสิทธิได้รับตามกฎหมายอีกฉบับหนึ่งแล้วจะไม่มีสิทธิได้รับตามกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์เข้ารับการรักษาพยาบาลที่เกิดจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนที่โรงพยาบาลเมืองเพชร – ธนบุรี ซึ่งเป็นสถานพยาบาลที่จำเลยกำหนดให้โจทก์ได้รับบริการทางการแพทย์ โดยโจทก์เป็นผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 63 แต่เมื่อโรงพยาบาลเมืองเพชร – ธนบุรีดำเนินการตามสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ข้อ 12 ที่โรงพยาบาลเมืองเพชร – ธนบุรีทำกับจำเลยโดยเรียกเก็บเงินค่าเสียหายเท่าที่จ่ายจริงแทนโจทก์ในฐานะผู้ประสบภัยตามพระราชบัญญติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ค่ารักษาพยาบาลจำนวน 11,190 บาท ที่โรงพยาบาลเมืองเพชร – ธนบุรีได้รับไปจึงเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 4 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากผู้ก่อความเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้ว่าโจทก์จะเข้ารับการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลเมืองเพชร – ธนบุรี ซึ่งเป็นสถานพยาบาลที่จำเลยกำหนดให้โจทก์รับบริการทางการแพทย์แต่จำเลยมิได้ให้ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเป็นค่าบริการทางการแพทย์จากกองทุนประกันสังคม จึงจะถือว่าโจทก์ได้รับประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 58 และมาตรา 59 มิได้ เมื่อจำเลยยังมิได้จ่ายค่าบริการทางการแพทย์จำนวน 11,190 บาท จึงต้องจ่ายให้แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานภาค 7 พิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share