แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้สัญญาให้บริการสินเชื่อเรดดี้เครดิตโจทก็กับจำเลยมีข้อตกลงกันว่าจำเลยต้องเปิดบัญชีกระแสรายวันไว้กับโจทก์เพื่อให้จำเลยใช้บัญชีดังกล่าวเบิกถอนเงินโดยการใช้เช็คที่โจทก์มอบให้จำเลยไว้และมีข้อตกลงให้โจทก์หักทอนเงินในบัญชีเพื่อการชำระหนี้ใดๆ ที่จำเลยมีต่อโจทก์ตามสัญญาก็ตาม แต่เมื่อตามสัญญาใช้เงินสินเชื่อข้อ 11 ระบุไว้ว่า หากผู้กู้นำเงินสดและ / หรือเช็คเข้าฝากในบัญชีกระแสรายวันที่ผู้กู้เปิดไว้โดยผู้กู้ไม่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ใดๆ แก่ธนาคาร ผู้กู้ยอมให้ธนาคารโอนเงินจำนวนดังกล่าวหรือที่เรียกเก็บได้ตามเช็คเข้าฝากในบัญชีเงินฝากประเภทไม่มีดอกเบี้ยที่ธนาคารจัดให้มีขึ้นทันที ทั้งนี้ ผู้กู้ตกลงและรับทราบว่าในเวลาใดๆ เวลาหนึ่ง ยอดเงินฝากคงเหลือในบัญชีกระแสรายวันจะมีจำนวนเท่ากับศูนย์ ซึ่งตามข้อตกลงดังกล่าวแสดงว่าจำเลยไม่มีโอกาสเป็นเจ้าหนี้โจทก์ตามบัญชีกระแสรายวันอันจะเป็นเหตุให้ต้องหักทอนบัญชีกัน ทั้งตามพฤติการณ์แห่งคดีก็ปรากฏว่าจำเลยใช้เช็คที่โจทก์มอบให้เบิกถอนเงินจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลยเพียงช่วงแรกเท่านั้น หลังจากนั้นจำเลยเบิกถอนเงินโดยผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติเพียงอย่างเดียว ในการคิดดอกเบี้ยเนื่องจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนดก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้คิดดอกเบี้ยแบบทบต้นแต่อย่างใด บัญชีกระแสรายวันที่จำเลยเปิดไว้จึงเป็นเพียงบัญชีกระแสรายวันที่ใช้เพื่อให้จำเลยชำระหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเรดดี้เครดิตของจำเลยฝ่ายเดียวโดยเฉพาะ ไม่ใช่กรณีที่โจทก์จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวขึ้นโดยมีเจตนาตกลงกันโดยตรงให้หักทอนบัญชีหนี้อันเกิดขึ้นแก่กิจการในระหว่างโจทก์กับจำเลย และคงชำระหนี้แต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือ อันเป็นลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 856
การที่โจทก์ออกบัตรซิตี้การ์ดพร้อมเลขรหัสประจำตัวให้แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยใช้เบิกถอนเงินสดจากพนักงานของโจทก์หรือจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติโดยไม่มีข้อจำกัดว่าต้องเบิกถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติของโจทก์เท่านั้น ซึ่งหากจำเลยเบิกถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติของสถาบันการเงินอื่นๆ โจทก์ก็ต้องออกเงินทดรองจ่ายแทนจำเลยไปก่อน อันเป็นการรับทำการงานแทนนั่นเอง ส่วนการมอบเช็คให้จำเลยไว้ใช้ในการเบิกถอนเงินจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลย หรือการออกรหัสประจำตัวแก่จำเลยเพื่อให้จำเลยสามารถใช้บริการสินเชื่อเรดดี้เครดิตผ่านทางซิตี้โฟนแบงก์กิ้งได้นั้น ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการให้บริการอำนวยความสะดวกดังกล่าว กรณีถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่างๆ ให้จำเลยรีบเรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไป สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) เมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 20 มีนาคม 2546 ตามที่กำหนดไว้ในใบแจ้งยอดบัญชี โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2546 การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้วันที่ 25 เมษายน 2548 ซึ่งพ้นกำหนด 2 ปี แล้วสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 57,537.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 35,174 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้จำเลยชำระเงินจำนวน 41,936.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 35,174 บาท นับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2546 อันเป็นความผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดดังกล่าวจนถึงวันที่ 25 เมษายน 2548 อันเป็นวันฟ้องต้องไม่เกิน 11,000.30 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาข้อกฎหมายว่าตามฟ้องโจทก์เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับการงานต่างๆ ให้จำเลยเรียกเอาเงินที่ได้ทดรองไปคืนจากจำเลยจึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) หาใช่กรณีที่ไม่ได้กำหนดอายุความไว้เป็นการเฉพาะอันจะต้องใช้อายุความทั่วไปซึ่งมีกำหนด 10 ปี ไม่ คดีนี้ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 และ 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์โจทก์ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ เมื่อประมาณปี 2539 โจทก์ได้เปิดให้บริการสินเชื่อประเภทหมุนเวียนแก่ประชาชนทั่วไปภายใต้ชื่อ “ซิตี้แบงก์ เรดดี้เครดิต” ต่อมาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยได้ยื่นใบสมัครเป็นสมาชิกซิตี้แบงก์เรดดี้เครดิตเพื่อขอรับบริการสินเชื่อเครดิตจากโจทก์ โจทก์รับจำเลยเป็นสมาชิกโดยอนุมัติวงเงินสินเชื่อจำนวน 30,000 บาท ให้แก่จำเลย และจำเลยได้เปิดบัญชีกระแสรายวันไว้ตามบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 140 – 163180 – 1 ต่อมาโจทก์เพิ่มวงเงินสินเชื่อให้แก่จำเลยเป็น 36,000 บาท โจทก์มอบเช็คจำนวน 1 เล่ม มีเช็คจำนวน 12 ฉบับ ให้แก่จำเลย และออกบัตรซิตี้การ์ดพร้อมเลขรหัสให้แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยนำไปใช้เบิกถอนเงินสดจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ แต่จำเลยไม่สามารถนำบัตรที่โจทก์ออกให้ไปใช้ซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ได้ตามใบสมัครซิตี้แบงค์เรดดี้เครดิตและสัญญาให้สินเชื่อ ต่อมาระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2540 ถึงวันที่ 20 มีนาคม 2546 จำเลยได้ใช้เช็คและบัตรเบิกถอนเงินจากบัญชีกระแสรายวันหลายครั้ง โจทก์ได้แจ้งยอดหนี้ที่ค้างให้จำเลยทราบตลอดมา จำเลยชำระหนี้ให้บางส่วน แล้วผิดนัดไม่ชำระ โจทก์จึงระงับการใช้วงเงินคำนวณถึงวันที่ 20 มีนาคม 2546 จำเลยค้างชำระหนี้ต้นเงินจำนวน 35,174 บาท ดอกเบี้ยจำนวน 6,762.91 บาท และเบี้ยปรับจำนวน 4,600 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราตามที่กำหนดไว้ในประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อของธนาคารโจทก์ เห็นว่า แม้สัญญาให้บริการสินเชื่อเรดดี้เครดิตโจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงกันว่าจำเลยต้องเปิดบัญชีกระแสรายวันไว้กับโจทก์เพื่อให้จำเลยใช้บัญชีดังกล่าวเบิกถอนเงินโดยการใช้เช็คที่โจทก์มอบให้จำเลยไว้และมีข้อตกลงให้โจทก์หักทอนเงินในบัญชีเพื่อการชำระหนี้ใดๆ ที่จำเลยมีต่อโจทก์ตามสัญญาก็ตาม แต่เมื่อตามสัญญาให้สินเชื่อข้อ 11 ระบุไว้ว่า หากผู้กู้นำเงินสดและ / หรือเช็คเข้าฝากในบัญชีกระแสรายวันที่ผู้กู้เปิดไว้โดยผู้กู้ไม่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ใดๆ แก่ธนาคาร ผู้กู้ยอมให้ธนาคารโอนเงินจำนวนดังกล่าวหรือที่เรียกเก็บได้ตามเช็คเข้าฝากในบัญชีเงินฝากประเภทไม่มีดอกเบี้ยที่ธนาคารจัดให้มีขึ้นทันที ทั้งนี้ ผู้กู้ตกลงและรับทราบว่าในเวลาใดๆ เวลาหนึ่ง ยอดเงินฝากคงเหลือในบัญชีกระแสรายวันจะมีจำนวนเท่ากับศูนย์ ซึ่งตามข้อตกลงดังกล่าวแสดงว่าจำเลยไม่มีโอกาสเป็นเจ้าหนี้โจทก์ตามบัญชีกระแสรายวันอันจะเป็นเหตุให้ต้องหักทอนบัญชีกัน ทั้งตามพฤติการณ์แห่งคดีก็ปรากฏว่าจำเลยใช้เช็คที่โจทก์มอบให้เบิกถอนเงินจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลยเพียงช่วงแรกเท่านั้น หลังจากนั้นจำเลยเบิกถอนเงินโดยผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติเพียงอย่างเดียว ในการคิดดอกเบี้ยเนื่องจากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนดก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้คิดดอกเบี้ยทบต้นแต่อย่างใด บัญชีกระแสรายวันที่จำเลยเปิดไว้จึงเป็นเพียงบัญชีกระแสรายวันที่ใช้เพื่อให้จำเลยชำระหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเรดดี้เครดิตของจำเลยฝ่ายเดียวโดยเฉพาะ ไม่ใช่เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวขึ้นโดยมีเจตนาตกลงกันโดยตรงให้หักทอนบัญชีหนี้อันเกิดขึ้นแก่กิจการในระหว่างโจทก์กับจำเลยและคงชำระหนี้แต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือ อันเป็นลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 แต่การที่โจทก์ออกบัตรซิตี้การ์ดพร้อมเลขรหัสประจำตัวให้แก่จำเลยเพื่อใหจำเลยใช้เบิกถอนเงินสดจากพนักงานของโจทก์หรือจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ โดยไม่มีข้อจำกัดว่าต้องเบิกถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติของโจทก์เท่านั้น ซึ่งหากจำเลยเบิกถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติของสถาบันการเงินอื่นๆ โจทก์ก็ต้องออกเงินทดรองจ่ายแทนจำเลยไปก่อน อันเป็นการรับทำการงานแทนนั่นเอง ส่วนการมอบเช็คให้จำเลยไว้ใช้ในการเบิกถอนเงินจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลย หรือการออกรหัสประจำตัวให้แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยสามารถใช้บริการสินเชื่อเรดดี้เครดิตผ่านทางซิตี้โฟนแบงก์กิ้งได้นั้น ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการให้บริการอำนวยความสะดวกดังกล่าว กรณีถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุริกจรับทำการงานต่างๆ ให้จำเลยเรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไป สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) เมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 20 มีนาคม 2546 ตามที่กำหนดไว้ในใบแจ้งยอดบัญชี โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2546 การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้วันที่ 25 เมษายน 2548 ซึ่งพ้นกำหนด 2 ปีแล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์มีอายุความ 10 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น