แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านพรุกำหวานเป็นคณะบุคคลที่มีอำนาจในการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านพรุกำหวานตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ.2544 เมื่อมีการโต้แย้งสิทธิและทำให้กองทุนหมู่บ้านพรุกำหวานได้รับความเสียหาย คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านพรุกำหวานย่อมมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้กู้เงินและทำสัญญากู้เงินไว้ให้กองทุนหมู่บ้านพรุกำหวาน โดยจำเลยได้กู้เงินโจทก์ไป 20,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ซึ่งตามระเบียบกองทุนผู้กู้จะต้องชำระคืนภายใน 1 ปี พร้อมดอกเบี้ยและได้ทำหลักฐานสัญญากู้เงินไว้ หลังจากกู้เงินจำเลยชำระดอกเบี้ยครั้งเดียว 200 บาท หลังจากนั้นไม่เคยชำระเงิน จำเลยต้องชำระเงินต้น 20,000 บาท ดอกเบี้ย 1,825 บาท และค่าปรับ 550 บาท เป็นคำบรรยายฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
การที่จำเลยฎีกาในทำนองว่า การกู้เงินยังไม่เกิดขึ้นจะนำมาฟ้องร้องไม่ได้ เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ เพราะในชั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์แต่เฉพาะข้อกฎหมาย จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงิน 22,375 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 20,000 บาท นับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 22,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 20,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความทั้งสองศาลรวม 1,800 บาท
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 9 รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ได้ความว่า มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ.2544 ข้อ 6 ระบุว่า ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ” ข้อ 10 กำหนดอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าว และคณะกรรมการดังกล่าวได้ออกระเบียบคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ว่าด้วยการจัดตั้งและบริหารกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ.2544 ซึ่งข้อ 16 กำหนดให้มีการจัดให้มีคณะกรรมการกองทุนจำนวน 15 คน ขึ้นมาบริหารจัดการกองทุน ดังนั้นคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านพรุกำหวานจึงเป็นคณะบุคคลที่มีอำนาจในการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านพรุกำหวาน เมื่อมีการโต้แย้งสิทธิและทำให้กองทุนหมู่บ้านพรุกำหวานได้รับความเสียหาย คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านพรุกำหวานย่อมมีอำนาจฟ้อง โดยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านพรุกำหวานทุกคนหรือกรรมการบางคนเป็นผู้ดำเนินการได้ เมื่อปรากฏตามรายงานการประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านพรุกำหวานครั้งที่ 1/2447 วันที่ 15 มีนาคม 2547 ว่า ระเบียบวาระที่ 3.3 มีมติให้ดำเนินคดีกับสมาชิกผู้ค้างชำระเงินกู้ซึ่งมีชื่อจำเลยอยู่ด้วย และระเบียบวาระที่ 3.4 มีมติให้นางชอ้อน กรรมการคนหนึ่งเป็นตัวแทนในการดำเนินคดี การที่นางชอ้อนฟ้องคดีจึงถือได้ว่าเป็นการฟ้องคดีในนามของกรรมการกองทุนหมู่บ้านพรุกำหวานเป็นการชอบด้วยกฎหมายและมีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้กู้เงินและทำสัญญากู้เงินไว้ให้กองทุนหมู่บ้านพรุกำหวาน โดยจำเลยได้กู้เงินโจทก์ไป 20,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ซึ่งตามระเบียบกองทุนผู้กู้จะต้องชำระคืนภายใน 1 ปี พร้อมดอกเบี้ยและได้ทำหลักฐานสัญญากู้เงินไว้ หลังจากกู้เงินจำเลยชำระดอกเบี้ยครั้งเดียว 200 บาท หลังจากนั้นไม่เคยชำระเงิน จำเลยต้องชำระเงินต้น 20,000 บาท ดอกเบี้ย 1,825 บาท และค่าปรับ 550 บาท เป็นคำบรรยายฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการสุดท้ายที่จำเลยฎีกาว่า การกู้เงินยังไม่เกิดขึ้นจะนำมาฟ้องร้องไม่ได้นั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ เพราะในชั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์แต่เฉพาะข้อกฎหมาย ดังนั้นฎีกาข้อนี้จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง แม้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 9 จะรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็วินิจฉัยให้ไม่ได้
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ