แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.วิ.พ. 193 วรรคสี่ (เดิม) และมาตรา 193 ทวิ วรรคสอง ได้กำหนดหลักเกณฑ์การขาดนัดยื่นคำให้การสำหรับคดีมโนสาเร่ไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ดังนั้น การที่จะถือว่าจำเลยในคดีมโนสาเร่ขาดนัดยื่นคำให้การก็จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น จะนำหลักเกณฑ์การขาดนัดยื่นคำให้การตาม ป.วิ.พ. มาตรา 197 และมาตรา 198 ที่ใช้สำหรับคดีแพ่งสามัญมาใช้บังคับแก่คดีมโนสาเร่ไม่ได้ เมื่อคดีนี้เป็นคดีมโนสาเร่และจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์จึงมิต้องยื่นคำขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 วรรคสอง แต่อย่างใด
การที่จำเลยไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาจึงเป็นการขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาซึ่งบทบัญญัติในคดีมโนสาเร่ได้กำหนดเป็นการเฉพาะให้กรณีที่จำเลยขาดนัดพิจารณาให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวได้ และเมื่อศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจให้โจทก์ส่งเอกสารแทนการสืบพยานและพิพากษาคดีจนเสร็จสิ้น กรณีจึงไม่จำต้องให้โจทก์ยื่นคำขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 วรรคหนึ่ง อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 86,735.93 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 80,491.98 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 86,735.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 80,491.98 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 600 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาโดยมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาล จึงเป็นกรณีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ซึ่งบทบัญญัติในเรื่องการขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาในคดีมโนสาเร่นั้น ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 193 วรรคสี่ (เดิม) และมาตรา 193 ทวิ วรรคสอง (เดิม) กล่าวคือ การขาดนัดยื่นคำให้การกรณีที่จำเลยมาศาลในวันนัดพิจารณา แต่ไม่ยอมให้การตามมาตรา 193 วรรคสี่ (เดิม) ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าจำเลยไม่ให้การตามวรรคสามให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจมีคำสั่ง ไม่ยอมเลื่อนเวลาให้จำเลยยื่นคำให้การ และดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป โดยถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และกรณีที่จำเลยไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาตามมาตรา 193 ทวิ วรรคสอง (เดิม) ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลตามมาตรา 193 แล้ว ไม่มาในวันนัดพิจารณาโดยมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาล ให้ถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาและให้บังคับตามมาตรา 202 และถ้าจำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การก่อนหรือในวันดังกล่าว ให้ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การด้วย จะเห็นว่าการขาดนัดยื่นคำให้การในคดีมโนสาเร่แตกต่างจากการขาดนัดยื่นคำให้การในคดีแพ่งสามัญตามมาตรา 197 ที่กำหนดระยะเวลาในการยื่นคำให้การตามที่กำหนดไว้ตามกฎหมายหรือตามคำสั่งศาล ซึ่งหากจำเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคำให้การแล้ว จำเลยไม่ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือตามคำสั่งศาล ก็ให้ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ในคดีมโนสาเร่กฎหมายหาได้กำหนดระยะเวลาการยื่นคำให้การไว้ดังเช่นคดีแพ่งสามัญไม่ จำเลยจึงมีสิทธิที่จะยื่นคำให้การจนถึงวันนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 193 และมาตรา 193 ทวิ (เดิม) ดังนั้น เมื่อมีบทบัญญัติกำหนดหลักเกณฑ์การขาดนัดยื่นคำให้การสำหรับคดีมโนสาเร่ไว้เป็นการเฉพาะเช่นนี้แล้ว การที่จะถือว่าจำเลยในคดีมโนสาเร่ขาดนัดยื่นคำให้การก็จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นและจะนำหลักเกณฑ์การขาดนัดยื่นคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 และมาตรา 198 ที่ใช้สำหรับคดีแพ่งสามัญมาใช้บังคับแก่คดีมโนสาเร่ไม่ได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์จึงมิต้องยื่นคำขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 วรรคสอง แต่อย่างใด
สำหรับการที่จำเลยขาดนัดพิจารณานั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 193 ทวิ วรรคสอง (เดิม) บัญญัติว่า เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลตามมาตรา 193 แล้ว ไม่มาในวันนัดพิจารณาโดยมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาล ให้ถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาและให้บังคับตามมาตรา 202 และถ้าจำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การก่อนหรือในวันนัดดังกล่าว ให้ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การด้วย จากบทบัญญัติดังกล่าวเมื่อในวันนัดพิจารณาจำเลยทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลโดยมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาล ก็ให้ถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาและให้บังคับตามมาตรา 202 (มาตรา 204) กล่าวคือ ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวจึงต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยจำเลยขาดนัดพิจารณาในคดีแพ่งสามัญมาปรับแก่คดีและกระบวนพิจารณา ต่อจากนั้นศาลก็อาศัยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 204 ประกอบมาตรา 206 วรรคสอง ซึ่งให้นำมาตรา 198 ทวิ วรรคสองและวรรคสาม ในคดีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การมาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น การที่จำเลยไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาจึงเป็นการขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาซึ่งบทบัญญัติในคดีมโนสาเร่ได้กำหนดเป็นการเฉพาะให้กรณีที่จำเลยขาดนัดพิจารณาให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวได้แล้ว และเมื่อศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจให้โจทก์ส่งเอกสารแทนการสืบพยานและพิพากษาคดีจนเสร็จสิ้น กรณีจึงไม่จำต้องให้โจทก์ยื่นคำขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดตามประมวลกฎหมายวิธี-พิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 วรรคหนึ่ง อีก การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวโดยได้ใช้ดุลพินิจให้โจทก์ส่งพยานเอกสารแทนการสืบพยานนั้นเป็นการชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ