คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10515/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) บัญญัติว่า ฟ้องต้องมีการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ในความผิดฐานขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรในทางการค้า โดยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานนั้นกระทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1), 70 วรรคสอง ซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนั้นต้องเป็นงานสร้างสรรค์ที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครองโดยได้มาตามเงื่อนไขของกฎหมาย และต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ด้วย การที่จะรู้ว่างานสร้างสรรค์ใดของนิติบุคคลผู้สร้างสรรค์ยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์อยู่หรือไม่ ต้องรู้ว่างานสร้างสรรค์นั้นมีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด เนื่องจากมาตรา 19 วรรคท้าย บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก” เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่างานที่นิติบุคคลเป็นผู้สร้างสรรค์มีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใดซึ่งเป็นส่วนสาระสำคัญ แม้จำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดตามฟ้อง แต่ถ้าศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดเพราะงานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์นั้นพ้นอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์แล้ว ศาลก็ต้องพิพากษายก ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4, 5, 6, 8, 15, 31, 61, 70, 75, 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ให้ของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ กับจ่ายเงินค่าปรับที่จำเลยชำระตามคำพิพากษากึ่งหนึ่งแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ฟ้องของโจทก์ขาดองค์ประกอบความผิดหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) บัญญัติว่าฟ้องต้องมีการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ในความผิดฐานขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรในทางการค้า โดยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานนั้นกระทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1), 70 วรรคสอง มีองค์ประกอบความผิดในส่วนการกระทำคือ กระทำการขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น งานที่มีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนั้นต้องเป็นงานสร้างสรรค์ที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง กล่าวคือ ต้องเป็นงานที่กฎหมายลิขสิทธิ์รับรองว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ เช่น งานศิลปกรรม ทั้งนี้ตามมาตรา 6 และมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 และการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ต้องเป็นไปตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด เช่น ได้มาโดยการสร้างสรรค์งานเองตามมาตรา 6 หรือได้มาโดยการรับโอนลิขสิทธิ์ตามมาตรา 17 ทั้งยังต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของการได้มาที่กฎหมายกำหนดในมาตรา 8 ซึ่งอนุมาตรา (2) ของมาตรานี้บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการโฆษณางานนั้นแล้ว การโฆษณางานนั้นครั้งแรกต้องกระทำขึ้นในราชอาณาจักรหรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย นอกจากนี้ งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย เพราะลิขสิทธิ์เป็นสิทธิที่มีจำกัดเวลาให้ได้รับความคุ้มครองอยู่ภายในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังจากพ้นกำหนดอายุการคุ้มครองแล้ว งานลิขสิทธิ์จะตกเป็นสมบัติสาธารณะที่สาธารณชนสามารถใช้ประโยชน์จากงานนั้นได้ ฉะนั้นหลักเกณฑ์หรือองค์ประกอบของงานสร้างสรรค์ที่จะเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าวมาจึงเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ที่เป็นสาระสำคัญ ในส่วนขององค์ประกอบความผิดที่ว่างานอันมีลิขสิทธิ์ต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายนั้น การที่จะรู้ว่างานสร้างสรรค์ใดของนิติบุคคลผู้สร้างสรรค์ยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์อยู่หรือไม่ ก็ย่อมต้องรู้ว่างานสร้างสรรค์นั้นมีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด เนื่องจากมาตรา 19 วรรคท้าย บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก” ดังนั้นการบรรยายในคำฟ้องว่างานที่นิติบุคคลเป็นผู้สร้างสรรค์มีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใดจึงเป็นส่วนสาระสำคัญ มิใช่รายละเอียดเล็กน้อยดังที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ เมื่อคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ปรากฏถึงวันเวลาที่นิติบุคคลผู้สร้างสรรค์ได้มีการโฆษณางานดังกล่าวเป็นครั้งแรกไว้อย่างชัดแจ้ง จึงย่อมเป็นคำฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยได้ให้การรับสารภาพตามคำฟ้องของโจทก์แล้ว ย่อมถือได้ว่าจำเลยเข้าใจการกระทำความผิดตามฟ้องทุกประการ รูปคดีจึงมีเหตุผลที่ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้นั้น เห็นว่า แม้จำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดตามฟ้อง แต่ถ้าศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดเพราะงานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์นั้นพ้นอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์แล้ว ศาลต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยไป ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องเพราะเหตุว่าฟ้องของโจทก์ขาดองค์ประกอบความผิดเนื่องจากไม่บรรยายถึงวันเวลาในการโฆษณางานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายในครั้งแรกจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share