คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4575/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การกระทำความผิดฐานยักยอกของจำเลยมิได้เกิดในเขตอำนาจของศาลแขวงนครศรีธรรมราช แต่จำเลยมีที่อยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราชและอยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงนครศรีธรรมราช พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชย่อมมีอำนาจสอบสวน โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องต่อศาลแขวงนครศรีธรรมราชตาม ป.วิ.อ. มาตรา 22 (1)
การขอแก้ไขคำให้การ จำเลยสามารถกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันสมควรตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง เท่านั้น อีกทั้งเป็นดุลพินิจของศาล การที่จำเลยขอเพิกถอนคำให้การรับสารภาพเป็นให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ เท่ากับจำเลยยื่นคำให้การใหม่โดยขอถอนคำให้การเดิม ซึ่งมีผลเป็นการแก้ไขคำให้การหลังจากที่ได้ให้การรับสารภาพแล้วถึง 1 ปี โดยอ้างเหตุว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์นำคดีที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงนครศรีธรรมราชมาฟ้องรวมกันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความและอ้างว่าจำเลยไม่เข้าใจจึงรับสารภาพเพื่อให้เรื่องจบเท่านั้น เป็นการให้การปฏิเสธภายหลังจำเลยผิดนัดชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมแล้วเพื่อให้มีการสืบพยานต่อไปอีกถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อประวิงคดี จึงเป็นกรณีที่ไม่มีเหตุอันควร ไม่ชอบที่จะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 91 และให้จำเลยคืนเงิน 530,115 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา บริษัทไดสตาร์เชน จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 (ที่ถูกมาตรา 352 วรรคแรก) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 33 กระทง จำคุกกระทงละ 3 เดือน เป็นจำคุก 99 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 49 เดือน 15 วัน และให้จำเลยคืนทรัพย์หรือใช้เงินแก่โจทก์ร่วม 430,115 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยที่เกิดในเขตอำนาจศาลจังหวัดปากพนัง ศาลจังหวัดทุ่งสง และศาลแขวงสงขลานั้น ศาลแขวงนครศรีธรรมราชไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาและกรณีมิใช่เป็นเรื่องกระทำความผิดในหลายท้องที่ไม่อาจอ้างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 (1) และวรรคสอง (ก) มาใช้บังคับได้นั้น เห็นว่า แม้จำเลยจะอ้างว่าเหตุคดีนี้มิได้เกิดในเขตอำนาจของศาลแขวงนครศรีธรรมราชก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยมีที่อยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราชและอยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงนครศรีธรรมราช พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชย่อมมีอำนาจสอบสวนความผิดคดีนี้ได้ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนในท้องที่ดังกล่าวแล้ว การสอบสวนจึงชอบ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องต่อศาลแขวงนครศรีธรรมราชได้ ศาลแขวงนครศรีธรรมราชจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22 (1) ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยให้การรับสารภาพโดยไม่สมัครใจเพราะโจทก์ร่วมและทนายจำเลยหว่านล้อมเกลี้ยกล่อมและให้สัญญา จำเลยจึงประสงค์ขอให้การใหม่เป็นปฏิเสธฟ้องโจทก์ การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตทำให้จำเลยไม่มีโอกาสต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่นั้น ข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาว่า ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยอ่านคำอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้วสอบถามคำให้การจำเลยในครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2545 นั้น จำเลยให้การปฏิเสธและแถลงว่ามีทนายแต่ทนายไม่มาศาล ศาลชั้นต้นจึงนัดพร้อม เมื่อถึงวันนัดพร้อมวันที่ 13 ธันวาคม 2545 จำเลยคงให้การปฏิเสธพร้อมยื่นคำให้การที่ทนายจำเลยจัดทำให้ต่อศาลชั้นต้น แต่จำเลยแถลงว่าคดีมีทางตกลงกันได้ ขอให้โจทก์นำผู้รับมอบอำนาจของผู้เสียหายมาเจรจาที่ศาลแล้วขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนคดีไปนัดพร้อมวันที่ 20 ธันวาคม 2545 เมื่อถึงวันนัดฝ่ายผู้เสียหายมาศาล จำเลยก็ร่วมแถลงต่อศาลว่าคดีมีทางตกลงกันได้ แต่อยู่ระหว่างตรวจสอบยอดเงินขอเลื่อนคดีไปนัดพร้อมวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 เมื่อถึงวันนัดผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณา โดยอ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟังอีกครั้ง จำเลยแถลงว่าเข้าใจและปรึกษาทนายความแล้ว จำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธและขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการพร้อมกับยื่นคำให้การที่มีข้อความเช่นเดียวกับรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าว ซึ่งทนายจำเลยจัดทำให้ต่อศาลชั้นต้นแล้ว คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงไม่ติดใจสืบพยานต่อ จากนั้นจำเลยร่วมแถลงกับฝ่ายโจทก์ร่วมได้ใจความว่า จำเลยขอเวลาผ่อนชำระเงินคืนโจทก์ร่วมจำนวน 530,115 บาท ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2546 จำนวน 200,000 บาท วันที่ 8 กรกฎาคม 2546 จำนวน 100,000 บาท วันที่ 7 ตุลาคม 2546 จำนวน 100,000 บาท และวันที่ 12 ธันวาคม 2546 จำนวน 130,115 บาท รวม 4 งวด ขอเลื่อนนัดฟังคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาต แต่จำเลยผิดนัดเรื่อยมาโดยชำระเพียงวันที่ 8 กรกฎาคม 2546 จำนวน 40,000 บาท วันที่ 7 ตุลาคม 2546 จำนวน 20,000 บาท และวันที่ 12 ธันวาคม 2546 จำนวน 40,000 บาท รวมเป็นเงิน 100,000 บาท และขอเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาอีก ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนคดีไปนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 16 มกราคม 2547 เมื่อถึงวันนัด จำเลยแถลงได้ใจความว่าจำเลยเตรียมเงิน 100,000 บาท มาชำระแก่โจทก์ร่วม แต่เนื่องจากจำเลยได้เจรจากับผู้บริหารของโจทก์ร่วมเพื่อขอทำงานกับโจทก์ร่วมและหากรับเข้าทำงานโจทก์ร่วมก็จะหักเงินค่าเสียหายจากเงินเดือนที่จำเลยจะได้รับจากโจทก์ร่วมจนกว่าจะครบถ้วนและจำเลยต้องใช้เงินที่เตรียมมาวันนี้เป็นเงินประกันการเข้าทำงาน ขอเลื่อนนัดฟังคำพิพากษา ถ้าโจทก์ร่วมไม่รับกลับเข้าทำงานก็จะนำเงินจำนวน 100,000 บาท นี้ผ่อนชำระให้โจทก์ร่วมต่อไป พร้อมแถลงว่าหากไม่นำเงินมาวางหรือมีเหตุขัดข้องประการใดก็จะไม่ขอเลื่อนคดีอีก เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนคดีไปนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 30 มกราคม 2547 ในวันนัดดังกล่าวจำเลยและทนายจำเลยไม่มาศาล แต่มีนางลำยองมาศาลอ้างว่าเป็นพี่จำเลยและแถลงพร้อมยื่นใบรับรองแพทย์ว่าจำเลยป่วยจึงไม่สามารถมาศาลได้ ขอเลื่อนคดี และในวันเดียวกันโจทก์ร่วมแถลงว่าผู้บริหารของโจทก์ร่วมไม่รับจำเลยกลับเข้าทำงาน ศาลชั้นตั้นอนุญาตให้เลื่อนคดีไปนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547 เมื่อถึงวัดนัดจำเลยไม่มาศาลโดยอ้างว่าป่วย แต่จำเลยแต่งทนายความคนใหม่ซึ่งมาศาลพร้อมยื่นคำร้องอ้างเหตุต่าง ๆ ขอให้จำหน่ายคดีโจทก์และขอเพิกถอนคำให้การรับสารภาพวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 เป็นให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ตามคำให้การเดิม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องและไม่อนุญาตให้จำเลยถอนคำให้การ ทนายจำเลยจึงขอเลื่อนคดีอ้างเหตุจำเลยป่วย ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนคดีไปนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 3 มีนาคม 2547 เมื่อถึงวันนัดจำเลยมาศาลและแถลงว่าไม่สามารถหาเงินค่าเสียหายส่วนที่เหลือมาชำระแก่โจทก์ร่วมได้ และอ้างว่าฟ้องโจทก์ไม่ถูกต้อง ส่วนทนายจำเลยแถลงว่าไม่คัดค้านที่ศาลจะอ่านคำพิพากษา แต่ขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกสำนวนการสอบสวนคดีนี้และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ส่งสำนวนการสอบสวนต่อศาลแล้วศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยรวม 33 กระทง จำคุกกระทงละ 3 เดือน เป็นจำคุก 99 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลย 49 เดือน 15 วัน ให้จำเลยคืนทรัพย์หรือใช้เงินแก่โจทก์ร่วม 430,115 บาท เห็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพโดยทนายจำเลยเป็นผู้จัดทำคำให้การให้ และศาลชั้นต้นได้บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาประกอบกับจำเลยแถลงว่าจะชำระหนี้เป็นจำนวนเงินตามคำขอท้ายฟ้องแก่โจทก์ร่วม แต่ขอให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาไป เป็นเวลาถึง 1 ปี ศาลชั้นต้นอนุญาต เมื่อกระบวนพิจารณาในสำนวนกระทำในศาลโดยเปิดเผย จึงเป็นการให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจและมิได้สำคัญผิด เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยให้การรับสารภาพโดยไม่สมัครใจแต่อย่างใด จึงไม่อาจยกเป็นข้อต่อสู้ได้ แม้จำเลยจะให้การหรือไม่เป็นสิทธิของจำเลยก็ตาม แต่การขอแก้ไขคำให้การจำเลยสามารถกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคสองเท่านั้น มิใช่เป็นไปตามอำเภอใจของจำเลย อีกทั้งเป็นดุลพินิจของศาลเห็นสมควรจึงอนุญาตให้แก้ไขได้ การที่จำเลยขอเพิกถอนคำให้การรับสารภาพวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 เป็นให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ตามคำให้การเดิม เท่ากับจำเลยยื่นคำให้การใหม่โดยขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การรับสารภาพและขอให้การใหม่เป็นปฏิเสธฟ้องของโจทก์ ซึ่งมีผลเป็นการแก้ไขคำให้การหลังจากที่ได้ให้การรับสารภาพแล้วถึง 1 ปี โดยอ้างเหตุว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์นำคดีที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงนครศรีธรรมราชมาฟ้องรวมกันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความและอ้างว่าจำเลยไม่เข้าใจจึงรับสารภาพเพื่อให้เรื่องจบเท่านั้น เช่นนี้ เห็นได้ว่าเป็นการปฏิเสธภายหลังจำเลยผิดนัดชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมแล้วเพื่อให้มีการสืบพยานต่อไปอีกถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อประวิงคดี จึงเป็นกรณีที่ไม่มีเหตุอันควร ไม่ชอบที่จะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การ และคดีนี้มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี มิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาศาลย่อมพิพากษาโดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้แก้ไขคำให้การแล้วจึงได้พิพากษาไปตามคำรับสารภาพนั้น จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share