คำวินิจฉัยที่ 10/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐/๒๕๔๗

วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา ๑๐ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัย ชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจและ ศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๕ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สิบตำรวจเอกธานินทร์ อินมะโน ที่ ๑ นายดาบตำรวจธวัช แวววับ ที่ ๒ พันตำรวจโทวิโรจน์ เหมือนแท้ ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๗๘๔/๒๕๔๕ ข้อหาละเมิด เรียกทรัพย์คืน ความว่า จำเลยที่ ๑ ตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานธุรการ ทำหน้าที่ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่การเงินจำเลยที่ ๒ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงิน จำเลยที่ ๓ ตำแหน่งรองผู้กำกับการอำนวยการ สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุพรรณบุรีเป็นหัวหน้างานอำนวยการ มีหน้าที่รับผิดชอบงานอำนวยการของสถานีตำรวจทุกประเภท รวมทั้งงานงบประมาณ การเงิน บัญชี และจัดการเรื่องสินบนรางวัลและค่าตอบแทนอื่น ตามคำสั่งกรมตำรวจที่ ๗๗๔/๒๕๓๗ เรื่องกำหนดหน้าที่การงานของตำแหน่งในสถานีตำรวจ ลงวันที่ ๗กรกฎาคม ๒๕๓๗ ในระหว่างวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๑ถึงวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๔๓ จำเลยที่ ๑ รับเงินค่าปรับจราจรทางบกจำนวน ๓๔๒,๖๕๐ บาท แต่ไม่ได้นำส่งเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี รับเงินประกันตัวผู้ต้องหาจำนวน ๑๘๐,๐๐๐ บาท แต่ไม่ได้นำเข้าบัญชีธนาคารตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินประกันตัวผู้ต้องหาของสถานีตำรวจ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ รับเงินรางวัลจากเงินค่าปรับตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ จำนวน ๒๙๘,๑๔๕ บาท แต่มิได้นำส่งกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุพรรณบุรี รับเงินค่าปรับอาญาและค่าปรับจราจร จำนวน๘๖,๗๔๕ บาท แต่ไม่ได้นำส่งคลังจังหวัดสุพรรณบุรี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๙๐๗,๕๔๐ บาท โดยจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา ละเลยต่อหน้าที่ ไม่ตรวจสอบและควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ ยักยอกเงินจำนวนดังกล่าวไปโดยทุจริต อันเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีได้มีคำสั่งที่ ๑๓๘๒/๒๕๔๓ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ซึ่งคณะกรรมการฯได้สรุปความรับผิดของจำเลยทั้งสาม โดยให้ จำเลยที่ ๑ รับผิดชดใช้เงินจำนวน ๓๔๖,๘๐๗ บาท (หักจำนวนเงินที่ผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องยอมชดใช้ให้แก่โจทก์แล้ว)จำเลยที่ ๒ รับผิดชดใช้เงินจำนวน ๒๗๑,๓๗๖ บาท และจำเลยที่ ๓ รับผิดชดใช้เงินจำนวน๗๕,๔๓๑ บาท จำเลยที่ ๑ หลบหนีและถูกไล่ออกจากราชการ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไม่ยอมชดใช้จึงขอให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ ๓ ให้การปฏิเสธ ระหว่างการพิจารณาศาลจังหวัดสุพรรณบุรีเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง จึงให้รอการพิจารณาไว้ชั่วคราวแล้วทำความเห็นส่งให้สำนักงานศาลปกครองเพื่อให้ศาลที่อยู่ในความรับผิดชอบทำความเห็นต่อไป ตามมาตรา ๑๐ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยได้สอบถามความเห็นของคู่ความปรากฏว่า โจทก์เห็นว่า จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดนอกเหนืออำนาจหน้าที่ ไม่เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และโจทก์ฟ้องเรียกหนี้ทางแพ่งเป็นการติดตามเรียกเอาทรัพย์คืน ทั้งจำเลยทั้งสามได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แล้ว คดีโจทก์จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดสุพรรณบุรี จำเลยที่ ๓เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามตามฟ้องเป็นการกระทำในหน้าที่ราชการ และจำเลยทั้งสามไม่เคยทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ยักยอกเงินจากการปฏิบัติหน้าที่ไปโดยทุจริต และจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาละเลยไม่ตรวจสอบและควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ อันเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการปฏิบัติหน้าที่นั้น เป็นการกระทำละเมิดทางปกครองซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือข้าราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาอันเนื่องมาจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเว้นต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)ประกอบมาตรา ๑๐๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทั่วไปมิใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ ๑ ได้อาศัยโอกาสจากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวทุจริตยักยอกเงินของทางราชการไป จึงเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่โดยทั่วไป มิใช่เป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีในส่วนของจำเลยที่ ๑ จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ส่วนจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ละเลยต่อหน้าที่ไม่ตรวจสอบควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ ยักยอกเงินของทางราชการไป เป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ คดีพิพาทจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๒๐ (๖)ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาโอนกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ไปจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๑ กำหนดให้โอนกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ไปจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเป็นส่วนราชการและมีฐานะเป็นกรม ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง จึงถือเป็นหน่วยงานทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓
สำหรับคดีนี้ โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐฟ้องเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรณีกระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ ๑ ได้ยักยอกเงินจากการปฏิบัติหน้าที่ไปโดยทุจริต และจำเลยที่ ๒ และที่ ๓เป็นผู้บังคับบัญชาละเลยไม่ตรวจสอบและควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ อันเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการปฏิบัติหน้าที่ จึงขอศาลพิพากษาให้ จำเลยที่ ๑ รับผิดชดใช้เงินจำนวน ๓๔๖,๘๐๗ บาท จำเลยที่ ๒ รับผิดชดใช้เงินจำนวน ๒๗๑,๓๗๖ บาท และจำเลยที่ ๓ รับผิดชดใช้เงินจำนวน ๗๕,๔๓๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี
คดีนี้ทั้งสองศาลมีความเห็นสอดคล้องกันสำหรับในส่วนของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ว่าอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง จึงเป็นกรณีความเห็นขัดแย้งเฉพาะในประเด็นของจำเลยที่ ๑ เท่านั้น
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา คือ การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่แล้วก่อให้เกิดความเสียหาย อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๗๖ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง(๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐ จำเลยที่ ๑ รับราชการในสังกัดของโจทก์ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าหน้าที่การเงินได้อาศัยโอกาสในการปฏิบัติหน้าที่รับเงินค่าปรับจราจรทางบก รับเงินประกันตัวผู้ต้องหา รับเงินรางวัลจากเงินค่าปรับตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และรับเงินค่าปรับอาญาและค่าปรับจราจร และได้เบียดบังยักยอกเอาเงินดังกล่าวที่ตนเองมีหน้าที่ดูแลจัดการไปโดยทุจริต เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กรณีจึงเป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นคดีละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีเกี่ยวกับการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐ ระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โจทก์ สิบตำรวจเอกธานินทร์ อินมะโน จำเลยที่ ๑ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ศาลปกครองกลาง

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share