คำวินิจฉัยที่ 29/2546

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๙/๒๕๔๖

วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดนนทบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนนทบุรีส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
กรมราชทัณฑ์ โจทก์ ยื่นฟ้อง นางรัมภา สรรเสริญ ที่ ๑ นางสาววันทนี สรรเสริญ ที่ ๒ นางวรวรรณี มหารักขกะ ที่ ๓ นางสุดสวาท สรรเสริญ ที่ ๔ นายเอกจิต สรรเสริญ ที่ ๕ เป็นจำเลย ต่อศาลจังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๔ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ. ๑๒๘๘/๒๕๔๔ ว่า ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๕ ถึงเดือนกันยายน ๒๕๒๘ นายสวัสดิ์ สรรเสริญ ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวาง เป็นเจ้าพนักงานในสังกัดกรมราชทัณฑ์ที่มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการและรักษาทรัพย์สินซึ่งเป็นของทางราชการเรือนจำกลางบางขวาง ได้บังอาจร่วมกันกับเจ้าพนักงานเรือนจำกลางบางขวาง ๑๐ คน เบียดบังยักยอกทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลของนายสวัสดิ์ฯ กับพวกไปเป็นของตนเองกับพวกโดยทุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๑,๓๔๐,๕๙๐.๑๗ บาท โจทก์ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและหาตัวผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง ได้ผลสรุปเป็นที่ยุติว่า นายสวัสดิ์ฯ กับพวกได้กระทำการดังกล่าวจริง จึงได้กำหนดความรับผิดชอบที่จะต้องชดใช้เงินคืนให้แก่ทางราชการตามความรับผิดเป็นรายบุคคล โดยนายสวัสดิ์ฯ จะต้องรับผิดเป็นจำนวน ๔๕๓,๓๔๘.๐๐ บาท แต่ไม่ยอมชดใช้ โจทก์จึงได้ทวงถามให้ชำระเงินคืนแล้ว นายสวัสดิ์ฯ กลับเพิกเฉย โจทก์จึงส่งเรื่องให้พนักงานอัยการดำเนินคดี ต่อมา เมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๔๔ นายสวัสดิ์ฯ ถึงแก่ความตาย จึงทำให้บรรดาทรัพย์สิน ตลอดจนสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ของผู้ตายตกทอดไปยังจำเลยทั้งห้า ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้กองมรดกของนายสวัสดิ์ฯ ผู้ตาย เป็นจำนวนเงิน ๔๕๓,๓๔๘.๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลจังหวัดนนทบุรีพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐยื่นฟ้องจำเลยให้ร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากกระทำการในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ ผู้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะรับไว้วินิจฉัย ศาลจังหวัดนนทบุรีจึงส่งความเห็นไปยังสำนักงานศาลปกครอง เพื่อดำเนินการส่งให้ศาลในความรับผิดชอบทำความเห็นในเรื่องดังกล่าว
ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า มูลเหตุแห่งคดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่ผู้ตายกับพวก ปฏิบัติหน้าที่โดยทั่วไปในการดูแลรักษาทรัพย์สินของทางราชการ แล้วกระทำการโดยทุจริตเบียดบังทรัพย์สินของทางราชการไปเป็นของตนกับพวก ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันถือไม่ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของจำเลยแต่ประการใด จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมที่จะพิจารณาพิพากษาตามมาตรา ๒๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา คือ การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่แล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐ อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๖ ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ ประกอบกับพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓๓(๗) กำหนดให้โจทก์เป็นส่วนราชการระดับกรม สังกัดกระทรวงยุติธรรม จึงถือเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ข้อเท็จจริงตามฟ้องกล่าวอ้างว่า ขณะเกิดเหตุนายสวัสดิ์ สรรเสริญ ผู้ตายและเจ้ามรดก ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวาง ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์ มีอำนาจหน้าที่ในการซื้อ ทำ จัดการและรักษาทรัพย์สินซึ่งเป็นของทางราชการ ดังนั้น นายสวัสดิ์ฯ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องปรากฏว่านายสวัสดิ์ฯ ได้อาศัยโอกาสในการปฏิบัติหน้าที่ ร่วมกันกับเจ้าพนักงานเรือนจำกลางบางขวาง ๑๐ คน เบียดบังยักยอกทรัพย์สินของโจทก์ ซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลไปเป็นของตนเองกับพวกโดยทุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและฝ่ายจำเลยให้การต่อสู้ว่า นายสวัสดิ์ฯ มิได้กระทำละเมิด คดีจึงมีประเด็นสำคัญเรื่องเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ หรือไม่ แม้ว่าในเวลาต่อมานายสวัสดิ์ฯ จะถึงแก่ความตายและโจทก์ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากทายาทโดยธรรมของนายสวัสดิ์ฯ ผู้ตายและเจ้ามรดกก็ตาม กรณีนี้ย่อมจะต้องถือว่าเป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นคดีละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๑๔/๒๕๔๖
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีเกี่ยวกับการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำละเมิด ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐ ระหว่าง กรมราชทัณฑ์ โจทก์ นางรัมภา สรรเสริญ ที่ ๑ นางสาววันทนี สรรเสริญ ที่ ๒ นางวรวรรณี มหารักขกะ ที่ ๓ นางสุดสวาท สรรเสริญ ที่ ๔ นายเอกจิต สรรเสริญ ที่ ๕ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลปกครองกลาง

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน ลาออก
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายโภคิน พลกุล)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฎฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฎฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share