คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8766/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ผลประกอบกิจการของจำเลยตั้งแต่ปี 2542 ถึงปี 2546 จำเลยมีกำไรตลอดมา แสดงว่าจำเลยมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นติดต่อกันเรื่อยมา กำไรสุทธิเริ่มลดลงในปี 2545 และปี 2546 แต่ก็ลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ได้ความว่าหากจำเลยไม่เลิกจ้างลูกจ้างบางส่วนซึ่งมีโจทก์ทั้งสี่รวมอยู่ด้วยแล้ว จำเลยจะขาดทุนจนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ หรือจำเลยหาวิธีทางอื่นเพื่อพยุงกิจการของจำเลยไว้นอกจากการเลิกจ้าง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่จึงเป็นการเลิกจ้างที่ยังไม่มีเหตุสมควร และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าจำเลยจำต้องเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่เพราะจำเลยมองเหตุการณ์ข้างหน้าว่าลูกค้าลดการสั่งสินค้ารายได้จำเลยย่อมลดลง จำเลยจึงต้องยุบหน่วยงานและลูกจ้างบางส่วนเพื่อให้มาตรฐานแห่งรายได้ของจำเลยไม่ลดลงไปกว่าเดิมนั้น เห็นได้ชัดว่าจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างต้องการได้ประโยชน์จากการประกอบกิจการแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ได้คำนึงถึงความเดือดร้อนของลูกจ้างทั้งๆ ที่ลูกจ้างก็มีส่วนทำให้นายจ้างได้กำไรจากการประกอบกิจการติดต่อกันหลายปี การเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุนี้หาใช่เป็นการเลิกจ้างเพราะมีเหตุจำเป็นหรือมีเหตุสมควรไม่
โจทก์ทั้งสี่บรรยายฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่โดยโจทก์ทั้งสี่มิได้กระทำความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหาย มิได้ฟ้องให้จำเลยชำระค่าเสียหายอันเกิดจากสัญญาจ้าง จึงเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49 จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ แม้โจทก์ทั้งสี่จะขอค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างที่ควรจะได้รับหากทำงานจนอายุครบ 60 ปี ก็เป็นเพียงวิธีการที่โจทก์ทั้งสี่คำนวณหาจำนวนค่าเสียหายเท่านั้น ไม่อาจทำให้เข้าใจไปได้ว่าโจทก์มิได้ฟ้องเรียกเอาค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
ตามใบแต่งทนายความของโจทก์ทั้งสี่และตามใบแต่งทนายความของจำเลยนอกจากจะมีข้อความแต่งตั้งให้เป็นทนายความของโจทก์ทั้งสี่และของจำเลยแล้วยังมีข้อความระบุชัดเจนอย่างเดียวกันว่า ให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ไปในทางจำหน่ายสิทธิของผู้แต่งทนายความได้ด้วย เช่น การยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความ การสละสิทธิหรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาหรือขอให้พิจารณาคดีใหม่ ทนายโจทก์ทั้งสี่และทนายจำเลยจึงมีอำนาจแถลงรับข้อเท็จจริงซึ่งต่างฝ่ายต่างแถลงได้ ข้อเท็จจริงที่ได้จากการแถลงรับข้อเท็จจริงกันจึงเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยชอบและรับฟังตามที่แถลงได้ กรณีมิใช่ตัวความอ้างทนายความของตนเป็นพยานซึ่งจะต้องยื่นบัญชีระบุทนายความเป็นพยานฝ่ายตนเสียก่อน

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เรียกโจทก์ในสำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 4 และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งสองสำนวนขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายอันเนื่องจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 15,273,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 6,587,000 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 7,878,000 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 10,280,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่โดยมีเหตุผลสมควรไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสี่ คดีโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 3 ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจำนวน 32,725 บาท แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 88,875 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 141,450 บาท แก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 36,000 บาท แก่โจทก์ที่ 4 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากค่าเสียหายที่โจทก์แต่ละคนได้รับนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 7 ธันวาคม 2547) สำหรับโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 3 และวันที่ 24 มกราคม 2548 สำหรับโจทก์ที่ 4) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยประการแรกตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์สรุปความได้ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่โดยมิได้ถือเอากำไรขาดทุนมาเป็นเหตุในการเลิกจ้าง แต่เป็นเพราะจำเลยมองเหตุการณ์ข้างหน้า เมื่อลูกค้าลดการสั่งสินค้า รายได้จำเลยย่อมลดลง จำเลยจึงจำต้องยุบหน่วยงานและเลิกจ้างลูกจ้างบางส่วนเพื่อให้มาตรฐานแห่งรายได้ของจำเลยไม่ลดลงไปกว่าเดิม จำเลยจะประสบภาวะวิกฤตหรือไม่เป็นเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งอาจเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ก็ได้ จำเลยเลิกจ้างลูกจ้างตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนดคุณสมบัติกำหนดไว้เพื่อเตรียมการให้กิจการของจำเลยอยู่ต่อไปได้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ไม่ปรากฏว่าจำเลยประสบภาวะวิกฤตจนดำเนินกิจการต่อไปไม่ได้ และจำเลยยังมีกำไรตลอดมา การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจึงไม่ถูกต้องนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิเคราะห์ถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจำเป็นหรือเหตุสมควรในการเลิกจ้างหรือไม่ คดีนี้ศาลแรงงานกลางพิจารณาจากรายงานและงบการเงินแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า ผลประกอบกิจการของจำเลยตั้งแต่ปี 2542 ถึงปี 2546 จำเลยมีกำไรตลอดมา โดยปี 2542 มีกำไรสุทธิ 800 ล้านบาท ปี 2543 มีกำไรสุทธิ 1,174 ล้านบาท ปี 2544 มีกำไรสุทธิ 1,614 ล้านบาท ปี 2545 มีกำไรสุทธิ 1,596 ล้านบาท ปี 2546 มีกำไรสุทธิ 1,484 ล้านบาท แสดงว่าจำเลยมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นติดต่อกันเรื่อยมา กำไรสุทธิเริ่มจะลดลงในปี 2545 และปี 2546 แต่ก็ลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ได้ความว่าหากจำเลยไม่เลิกจ้างลูกจ้างบางส่วนซึ่งมีโจทก์ทั้งสี่รวมอยู่ด้วยแล้ว จำเลยจะขาดทุนจนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ หรือจำเลยหาวิธีทางอื่นเพื่อพยุงกิจการของจำเลยไว้นอกจากการเลิกจ้าง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่จึงเป็็นการเลิกจ้างที่ยังไม่มีเหตุสมควร และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ข้ออ้างของจำเลยที่ว่า จำเลยจำต้องเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่เพราะจำเลยมองเหตุการณ์ข้างหน้าว่าลูกค้าลดการสั่งสินค้ารายได้จำเลยย่อมลดลง จำเลยจึงต้องยุบหน่วยงานและลูกจ้างบางส่วนเพื่อให้มาตรฐานแห่งรายได้ของจำเลยไม่ลดลงไปกว่าเดิมนั้น เห็นได้ชัดว่าจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างต้องการได้ประโยชน์จากการประกอบกิจการแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ได้คำนึงถึงความเดือดร้อนของลูกจ้างทั้งๆ ที่ลูกจ้างก็มีส่วนทำให้นายจ้างได้กำไรจากการประกอบกิจการติดต่อกันหลายปี การเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุนี้หาใช่เป็นการเลิกจ้างเพราะมีเหตุจำเป็นหรือมีเหตุสมควรไม่ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่และจำเลยประการต่อไปมีว่า ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมชอบหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสี่โดยกำหนดจากระยะเวลาการทำงานที่โจทก์ทั้งสี่ทำงานให้จำเลยมาแล้วไม่ถูกต้อง แต่ควรกำหนดจากความเดือดร้อนของโจทก์ทั้งสี่และมูลเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ ตลอดจนการให้ผู้ไม่มีอำนาจทำการแทนจำเลยเป็นผู้บอกเลิกจ้างและให้มีผลทันที ซึ่งถ้าพิจารณาจากเหตุเหล่านี้แล้ว โจทก์แต่ละคนควรได้รับค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างที่โจทก์แต่ละคนทำงานไปจนครบอายุ 60 ปี ส่วนจำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายวิธีดังกล่าว เท่ากับคาดคะเนว่าโจทก์แต่ละคนถ้าไม่ถูกเลิกจ้างจะทำงานกับจำเลยอีกเท่ากับระยะเวลาที่เคยทำงานให้จำเลยมาแล้วเป็นการไม่ชอบ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 บัญญัติว่า “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่า การเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้างถ้าศาลแรงงานเห็นว่านายจ้างกับลูกจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทนโดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้างมูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณา” ตามบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจศาลแรงงานในการพิจารณาคดีกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โดยอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้างก็ได้ หรือหากเห็นว่านายจ้างกับลูกจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ก็อาจกำหนดค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน การใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหาย กฎหมายให้ศาลแรงงานต้องรับฟังข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกี่ยวกับลูกจ้างเพื่อกำหนดค่าเสียหายให้เหมาะสมแก่ลูกจ้างแต่ละคนในการกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่ ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโจทก์แต่ละคนว่าจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสี่ครบถ้วนแล้ว โจทก์แต่ละคนอายุยังไม่มากสามารถหางานทำใหม่ได้ มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างมิได้เกิดจากการกลั่นแกล้ง จึงเป็นการพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์แต่ละคนตามหลักเกณฑ์ที่มาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 กำหนดไว้ อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสี่มิได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 แต่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการจ้างแรงงานจึงมีกำหนดอายุความเพียง 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้นับแต่วันเลิกจ้างเกิน 2 ปี จึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสี่บรรยายฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่โดยโจทก์ทั้งสี่มิได้กระทำความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหาย มิได้ฟ้องให้จำเลยชำระค่าเสียหายอันเกิดจากสัญญาจ้างจึงเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ แม้โจทก์ทั้งสี่จะขอค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างที่ควรจะได้รับหากทำงานจนอายุครบ 60 ปี ก็เป็นเพียงวิธีการที่โจทก์ทั้งสี่คำนวณหาจำนวนค่าเสียหายเท่านั้น ไม่อาจทำให้เข้าใจไปได้ว่าโจทก์มิได้ฟ้องเรียกเอาค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมดังที่จำเลยอ้าง อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์มิได้ระบุชื่อทนายโจทก์เป็นพยานโจทก์ไว้เป็นข้อเท็จจริงที่ทนายจำเลยแถลงรับจากการแถลงข้อเท็จจริงของทนายโจทก์จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบและไม่อาจรับฟังได้นั้น เห็นว่า ทนายความซึ่งคู่ความได้แต่งตั้งมีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ แทนคู่ความได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อรักษาผลประโยชน์ของคู่ความนั้น แต่ถ้ากระบวนพิจารณาใดเป็นไปในทางจำหน่ายสิทธิของคู่ความ เช่น การยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความ การสละสิทธิหรือการใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกา หรือในการขอให้พิจารณาคดีใหม่ ทนายความไม่มีอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาเช่นว่านี้ได้โดยมิได้รับอนุญาตจากตัวความโดยชัดแจ้ง อำนาจโดยชัดแจ้งเช่นว่านี้จะระบุให้ไว้ในใบแต่งทนายสำหรับคดีเรื่องนั้น หรือทำเป็นใบมอบอำนาจต่างหากในภายหลังใบเดียวหรือหลายใบก็ได้ ทั้งนี้ ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 62 วรรคแรก บัญญัติไว้ ตามใบแต่งทนายความของโจทก์ทั้งสี่และตามใบแต่งทนายความของจำเลย นอกจากจะมีข้อความแต่งตั้งให้เป็นทนายความของโจทก์ทั้งสี่และของจำเลยแล้ว ยังมีข้อความระบุชัดเจนอย่างเดียวกันว่า ให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ไปในทางจำหน่ายสิทธิของผู้แต่งทนายความได้ด้วย เช่น การยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความ การสละสิทธิหรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาหรือขอให้พิจารณาคดีใหม่ ทนายความโจทก์ทั้งสี่และทนายความจำเลยจึงมีอำนาจแถลงรับข้อเท็จจริงซึ่งต่างฝ่ายต่างแถลงได้ ข้อเท็จจริงที่ได้จากการแถลงรับข้อเท็จจริงกันจึงเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยชอบและรับฟังตามที่แถลงได้ กรณีมิใช่ตัวความอ้างทนายความของตนเป็นพยานซึ่งจะต้องยื่นบัญชีระบุทนายความเป็นพยานอีกฝ่ายตนเสียก่อน อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share