คำวินิจฉัยที่ 13/2548

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๓/๒๕๔๘

วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ นางสมทรง เล็กสกุล ผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นฟ้อง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ ๑ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๙๑/๒๕๔๗ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๕ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินบริเวณที่งอกริมตลิ่งจากโฉนดเลขที่ ๒๑๔๑๙ ตำบลโพแตง อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งปฏิเสธไม่ออกโฉนดที่ดินดังกล่าวให้ ตามหนังสือสำนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ อย ๐๐๑๙.๓/๒๒๒๕๐ ลงวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ โดยเห็นว่า คณะกรรมการตรวจสอบสภาพที่ดินที่ขอออกโฉนดที่งอกริมตลิ่งตามคำสั่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ ๒๙๓๒/๒๕๔๐ ลงวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๐ ได้ตรวจสอบสภาพที่ดินแล้วเห็นว่า ไม่เป็นที่งอกริมตลิ่งที่จะนำมาขอรังวัดออกโฉนดได้ เนื่องจากเห็นว่าผู้ฟ้องคดีได้มีการขออนุญาตก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำต่อสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ ๒ (อยุธยา) และได้รับอนุญาตแล้วเท่ากับยอมรับว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณะ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๒ เห็นชอบตามมติคณะกรรมการตรวจสอบสภาพที่ดินที่ขอออกโฉนด ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยเพราะที่ดินดังกล่าวผู้ฟ้องคดีได้ครอบครองทำประโยชน์มากว่า ๔๘ ปี แต่มิได้ออกโฉนดที่ดินเนื่องจากเจ้าของที่ดินเดิมตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๗๘/๒๔๙๘ ตำบลโพแตง อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แจ้งการครอบครองที่ดินน้อยกว่าที่ครอบครองอยู่จริง ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ได้ลงนามรับใบอนุญาตให้ก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำตามที่ได้รับอนุญาต ผู้ฟ้องคดีจึงอุทธรณ์คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อ้างว่าที่ดินพิพาทไม่เป็นที่สาธารณะ ผู้ฟ้องคดีทำการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพังบริเวณแม่น้ำในแนวเดียวกันกับแนวตลิ่งของเพื่อนบ้านข้างเคียง ที่ดินของเพื่อนบ้านข้างเคียงดังกล่าวได้รับการออกโฉนดจนครบตามจำนวนที่ดินที่จดแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี ตามหนังสือจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ อย ๐๐๑๙/๑๙๙๓๑ ลงวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๖ โดยยืนตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี จึงขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการขีดแนวเขตลำน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณพิพาทลงในระวางออกโฉนดที่ดินตามระเบียบของกรมที่ดิน และมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า ตามที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าที่ดินพิพาทที่ขอรังวัดออกโฉนดเป็นที่งอกริมตลิ่งและครอบครองทำประโยชน์มากว่า ๔๘ ปีนั้น ไม่เป็นความจริง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้แจ้งให้คณะกรรมการตรวจสอบที่ดินขอออกโฉนดดังกล่าวแล้ว ได้ความว่าที่ดินที่ขอรังวัดออกโฉนดที่ดินเดิมได้พังลงน้ำไปแล้ว และที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ต่อมามีการถมดินสร้างเขื่อนบริเวณดังกล่าว โดยผู้ฟ้องคดี ขออนุญาตก่อสร้างต่อสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ ๒ หรือสำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ ๒ (อยุธยา) ในการก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำและได้รับอนุญาตแล้วเท่ากับยอมรับว่า เป็นที่สาธารณะมิใช่ที่งอกริมตลิ่งที่จะนำมาขอรังวัดออกโฉนดที่ดินได้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เห็นชอบด้วยตามมติคณะกรรมการตรวจสอบ สภาพที่ดินที่ขอออกโฉนด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงแจ้งคำสั่งยกเลิกคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดี คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ได้พิจารณาสั่งการไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏโดยถูกต้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่าคดีนี้ประเด็นหลักเป็นเรื่องโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินว่าที่พิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งมิใช่ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ จึงเป็นกรณีพิพาทในเรื่องกรรมสิทธิ์อันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่ในการรังวัดออกโฉนดที่ดินให้ผู้ฟ้องคดี ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิตามมาตรา ๕๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน (ที่งอก) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ย่อมมีหน้าที่รังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินให้เป็นไปตามมาตรา ๖๕ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกับข้อ ๑๔ ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ใช้ดุลพินิจมีคำสั่งปฏิเสธไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามคำขอ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ละเลยต่อหน้าที่ไม่ออกโฉนดที่ดินที่งอกให้แก่ผู้ฟ้องคดี ดังนั้น การมาฟ้องคดีต่อศาลว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทอยู่ในหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่จะออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่ แล้วสั่งไม่ออกโฉนดที่ดินให้และการไม่ออกโฉนดที่ดินให้ เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ จึงขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทที่มีประเด็นหลักอยู่ที่การวินิจฉัยว่าการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองปฏิเสธไม่ออกโฉนดที่ดินให้ชอบด้วยกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองโดยแท้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และศาลยุติธรรมไม่มีอำนาจวินิจฉัยในข้อหาดังกล่าวได้ ส่วนการที่ศาลจะวินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ศาลจะต้องวินิจฉัยประเด็นที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะออกโฉนดได้หรือไม่ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ และการออกโฉนดที่ดินนั้นต้องพิจารณาลงตำแหน่งรูปแปลงที่ดินในระวางแผนที่ตามระเบียบของกรมที่ดินซึ่งขึ้นอยู่กับประเด็นพิจารณาว่าที่ดินเป็นที่ประเภทใด อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะนำมาขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่ อีกทั้งจะต้องพิจารณาว่าเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ และการตรวจสอบตามขั้นตอนของการออกโฉนดที่ดินที่งอกของคณะกรรมการตรวจสอบสภาพที่ดินที่ขอออกโฉนดที่ดินเห็นว่า ที่ดินไม่ใช่ที่งอกที่จะอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะออกโฉนดที่ดินได้นั้น ก็เป็นการวินิจฉัยประเด็นของการใช้อำนาจวินิจฉัยของคณะกรรมการและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ว่าวินิจฉัยข้อเท็จจริงเรื่องที่ออกถูกต้องหรือไม่ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจของฝ่ายปกครอง มิใช่ประเด็นพิพาทโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินระหว่างเอกชนกับเอกชน หรือเอกชนกับรัฐว่าที่ดินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของใคร มีขอบเขตเพียงใด แต่เป็นเรื่องการใช้อำนาจวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากวินิจฉัยว่าเป็นที่งอกแล้วมีการออกโฉนดที่ดินให้ จึงจะทำให้ผู้ฟ้องคดีได้กรรมสิทธิ์ จึงเป็นผลโดยอ้อมของการใช้อำนาจสั่งการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งไม่อาจถือได้ว่าเป็นประเด็นหลักแห่งคดี เพราะหากไม่พิจารณาโดยยึดหลักว่าประเด็นหลักในคดีคือประเด็นการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายปกครอง หรือเป็นเรื่องการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ธรรมดาแล้วจะทำให้คดีที่มีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินต้องฟ้อง ยังศาลยุติธรรมทุกคดี ซึ่งย่อมไม่ตรงตามเจตนารมณ์ในการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นมา เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองในการออกคำสั่งทางปกครอง หรือการละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และยิ่งไปกว่านั้นหากมีการพิจารณาคดีนี้ในศาลยุติธรรมเพื่อความมุ่งหมายในการวินิจฉัยประเด็นเรื่องกรรมสิทธิ์ โดยหลักแล้วศาลยุติธรรมจะไม่พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพิพากษาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติและบังคับให้เจ้าหน้าที่ของรัฐออกโฉนดที่ดินที่งอกให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่ประการใด ซึ่งจะไม่เป็นการแก้ไขปัญหาของผู้ฟ้องคดีที่ฟ้องขอให้ศาลปกครองพิพากษาในคดีดังกล่าว ดังนั้น จึงเห็นว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของ ศาลปกครอง
ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าที่พิพาทอยู่ในหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่จะออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่ แล้วสั่งไม่ออกโฉนดที่ดินให้ และการไม่ออกโฉนดที่ดินให้ และคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นการละเมิดต่อหน้าที่ตามกฎหมาย ที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่การพิจารณาว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำต้องฟังให้ได้ความก่อนว่าที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีนำมาฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามข้ออ้างหรือไม่ อันเป็นเรื่องโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่งอกริมตลิ่งมิใช่ที่สาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ (๒) ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ ไม่ได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษา คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๑๔๑๙ ตำบลโพแตง อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินบริเวณ ที่งอกริมตลิ่งจากโฉนดดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งปฏิเสธไม่ออกโฉนดที่ดินให้ เพราะคณะกรรมการตรวจสอบสภาพที่ดินที่ขอออกโฉนดที่งอกริมตลิ่งได้ตรวจสอบสภาพที่ดินแล้วเห็นว่าไม่เป็นที่งอกริมตลิ่ง แต่เป็นที่สาธารณะเนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้ขออนุญาตก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำต่อสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ ๒ (อยุธยา) และได้รับอนุญาตแล้วเท่ากับยอมรับว่าที่ดินดังกล่าว เป็นที่สาธารณะ ผู้ฟ้องคดีจึงอุทธรณ์คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี โดยยืนตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี จึงขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการขีดแนวเขตลำน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณพิพาทลงในระวางออกโฉนดที่ดินตามระเบียบของกรมที่ดิน และมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกโฉนดที่ดินให้แก่ตน ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า คณะกรรมการตรวจสอบสภาพที่ดินที่ขอออกโฉนดดังกล่าวเห็นว่าที่ดินที่ขอรังวัดออกโฉนดที่ดินเดิมได้พังลงน้ำแล้วที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน เมื่อมีการถมดินสร้างเขื่อนบริเวณดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีขออนุญาตก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำต่อสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ ๒ หรือสำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ ๒ (อยุธยา) และได้รับอนุญาตแล้วเท่ากับยอมรับว่าเป็นที่สาธารณะมิใช่ที่งอกริมตลิ่งที่จะนำมาขอรังวัดออกโฉนดที่ดินได้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เห็นชอบด้วยตามมติคณะกรรมการตรวจสอบสภาพที่ดินที่ขอออกโฉนด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีคำสั่งยกเลิกคำขอ รังวัดออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดี คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ได้พิจารณาสั่งการไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏโดยถูกต้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้น แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากคำสั่งปฏิเสธไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีของฝ่ายปกครองก็ตาม แต่การที่จะมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการขีดแนวเขตลำน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณพิพาทลงในระวางออกโฉนดที่ดินตามระเบียบของกรมที่ดิน และมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาในปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ถูกฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางสมทรง เล็กสกุล ผู้ฟ้องคดี เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ ๑ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของ ศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

วัชรินทร์ คัด/ทาน

Share