คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1104/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1) เป็นอายุความสำหรับหนี้ดอกเบี้ยค้างชำระ แต่มูลหนี้ค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยผู้ทำละเมิดจะต้องชดใช้ให้แก่โจทก์เพื่อทดแทนความเสียหายของโจทก์ เป็นหนี้เงินที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งหมดทันทีนับแต่วันผิดนัดคือวันที่เกิดการทำละเมิดเป็นต้นไป จึงมิใช่ดอกเบี้ยค้างชำระที่มีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (1) และกรณีดอกเบี้ยในหนี้เงินอันเกิดจากมูลละเมิดนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2538 จำเลยขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 7 ท-3346 กรุงเทพมหานคร ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3278 ถนนสุขาภิบาล 2 จากมีนบุรีมุ่งหน้าไปบางกะปิ ด้วยความประมาทเลินเล่อโดยขับรถด้วยความเร็วสูงทำให้เสียหลักพุ่งชนเสาไฟฟ้าต้นหมายเลข 121 ซึ่งติดตั้งอยู่กึ่งกลางถนนทำให้เสาไฟฟ้าต้นหมายเลข 121 พร้อมอุปกรณ์ที่ติดตั้งบนเสาไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นเงิน 25,770 บาท จำเลยให้การรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนและยินยอมให้เปรียบเทียบปรับ จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 25,770 บาท และดอกเบี้ยจำนวน 16,267.30 บาท รวมเป็นค่าเสียหายและดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 42,037.30 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 42,037.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 25,770 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้กระทำละเมิดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2538 โจทก์ต้องฟ้องภายในอายุความ 1 ปี นับแต่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2547 จึงขาดอายุความ และโจทก์ฟ้องเรียกดอกเบี้ยเกินกำหนด 5 ปีจึงขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 25,770 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้อง (วันที่ 22 มีนาคม 2547) ย้อนไปถึงวันที่ 22 ตุลาคม 2538 แต่ทั้งนี้มิให้เกิน 5 ปี และนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ส่วนค่าทนายความโจทก์มีพนักงานอัยการว่าความจึงไม่กำหนดให้
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โจทก์ฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า ดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยค้างชำระมีอายุความ 5 ปี หรือไม่ การวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบด้วยมาตรา 247 ศาลช้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2538 จำเลยขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 7 ท-3346 กรุงเทพมหานคร ด้วยความประมาททำให้รถยนต์เสียหลักพุ่งชนเสาไฟฟ้าของโจทก์เสียหายเป็นเงิน 25,770 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2538 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 8 ปี 5 เดือน โดยคิดเป็นเงิน 16,267.30 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 42,037.30 บาท ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ดอกเบี้ยในค่าเสียหายกรณีละเมิดเป็นดอกเบี้ยที่ค้างชำระจึงมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (1) โจทก์ฎีกาว่า หนี้ละเมิดนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 ไม่ได้บัญญัติว่าต้องชำระดอกเบี้ยในวันเดือนปีใด ทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายอื่นกำหนดวันเวลาที่จะต้องชำระดอกเบี้ยของค่าเสียหายในมูลละเมิดไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 นั้น เห็นว่า อายุความ 5 ปี ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (1) เป็นอายุความสำหรับหนี้ดอกเบี้ยค้างชำระ แต่มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้เป็นมูลหนี้ค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยผู้ทำละเมิดจะต้องชดใช้ให้แก่โจทก์เพื่อทดแทนความเสียหายของโจทก์ เป็นหนี้เงินที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งหมดทันทีนับแต่วันผิดนัดคือวันที่เกิดการทำละเมิดเป็นต้นไป ดังนั้น ดอกเบี้ยของค่าเสียหายดังกล่าวจึงมิใช่ดอกเบี้ยค้างชำระที่มีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (1) และกรณีดอกเบี้ยในหนี้เงินอันเกิดจากมูลละเมิดนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2547 ยังไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันผิดนัด ฟ้องโจทก์ในส่วนดอกเบี้ยจึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าดอกเบี้ยในหนี้เงินอันเกิดจากมูลละเมิดเป็นดอกเบี้ยค้างชำระและมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 197/33 (1) นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 25,770 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยดอกเบี้ยที่คิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 มีนาคม 2547) ต้องไม่เกินจำนวน 16,267.30 บาท ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share