คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3682/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ข้อหาความผิดตามฟ้องมิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นสอบคำให้การและจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง และข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ดังนั้น จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าโจทก์มีพยานหลักฐานเป็นอย่างไรและจำเลยจำนนต่อพยานหลักฐานเช่นว่านั้น คำรับสารภาพของจำเลยจึงเป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มิใช่จำเลยให้การรับสารภาพก็เพราะจำนนต่อพยานหลักฐานดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกา คดีย่อมมีเหตุบรรเทาโทษ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61, 73
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61, 73 แม้จำเลยรับสารภาพแต่น้ำหนักบรรทุกเกินจำนวนมาก จึงไม่สมควรลดโทษให้ จำคุก 2 เดือน และปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 2 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน และปรับ 3,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยรองอัยการสูงสุด รักษาการในตำแหน่งอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยให้การรับสารภาพก็เพราะจำนนต่อพยานหลักฐาน มิใช่เป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงไม่มีเหตุบรรเทาโทษที่จะลดโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 นั้น เห็นว่า ข้อหาความผิดตามฟ้องมิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นสอบคำให้การและจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง และข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ดังนั้น จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าโจทก์มีพยานหลักฐานเป็นอย่างไรและจำเลยจำนนต่อพยานหลักฐานเช่นว่านั้นคำรับสารภาพของจำเลยจึงเป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มิใช่จำเลยให้การรับสารภาพก็เพราะจำนนต่อพยานหลักฐานดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาคดีย่อมมีเหตุบรรเทาโทษ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลดโทษแก่จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยใช้รถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกเหล็กแผ่นมีน้ำหนักยานพาหนะรวมน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นจำนวนมากถึง 16,680 กิโลกรัม แสดงว่าจำเลยไม่สนใจไยดีคิดที่จะปฏิบัติตามกฎหมายเสียเลย การใช้รถบรรทุกน้ำหนักเกินมากเช่นนั้นย่อมทำให้ถนนชำรุดทรุดโทรมได้โดยง่าย นอกจากรัฐจะต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการซ่อมแซมแล้วยังทำให้บุคคลอื่นที่จำต้องใช้ถนนดังกล่าวในการสัญจรได้รับความเดือดร้อนเพราะเหตุที่ถนนได้รับความเสียหายจากการบรรทุกน้ำหนักมากดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน อย่างไรก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำคุกจำเลย 1 เดือนและปรับ 3,000 บาท นั้น เห็นว่า เป็นโทษจำคุกระยะสั้นสมควรเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังเพื่อให้เหมาะสมแก่คดี และเมื่อลงโทษกักขังแล้วก็ไม่สมควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง
อนึ่ง แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะได้มีพระราชบัญญัติทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 มาตรา 25 มาตรา 29 และมาตรา 30 ยกเลิกความในมาตรา 61 และมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เปลี่ยนโทษจำคุก 1 เดือน เป็นโทษกักขัง 1 เดือนแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 และไม่ลงโทษปรับจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share