คำวินิจฉัยที่ 14/2552

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๔/๒๕๕๒

วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๒

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๐ นางสุเรวดี คำนวณศิลป์ ที่ ๑ นางสาวสุภาวดี คำนวณศิลป์ ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้อง นางอำภา ธรรมโรจน์พินิจ ที่ ๑ นายไพรจิตร ธรรมโรจน์พินิจ ที่ ๒ นายคงศักดิ์ มณีวัฒนกุลผล ที่ ๓ นางไพรวัล สำลี ที่ ๔ นายอนวัช จันทร์ประสิทธิ์ ที่ ๕ นายนิมิตร ปัทมาคม ที่๖กรมที่ดิน ที่ ๗ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๒๑๓/๒๕๕๐ ความว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายพีระ คำนวณศิลป์ มีบุตรด้วยกัน ๔ คน รวมทั้งโจทก์ที่ ๒ ด้วย จำเลยที่ ๑ เป็นภริยาจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ รับราชการที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาลาดกระบัง สังกัดจำเลยที่ ๗ เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๒๗ โจทก์ที่ ๑ และนายพีระร่วมกันซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๑๔ ตำบลคลองสองต้นนุ่น (คลองประเวศฝั่งเหนือ) อำเภอลาดกระบัง (แสนแสบ)กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๒๐ ไร่ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เป็นของนายพีระ โจทก์ที่ ๑ และนายพีระร่วมกันครอบครองที่ดินดังกล่าวตลอดมา วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๒๙ โจทก์ที่ ๑ และนายพีระกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๑๔ เป็นประกันกับจำเลยที่ ๑ ต่อมาโจทก์ที่ ๑ และนายพีระขอชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองแต่ไม่อาจไถ่ถอนได้ เนื่องจากจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้ไถ่ถอนจำนองในจำนวนเงินที่สูงมาก หลังจากนายพีระถึงแก่ความตายโจทก์ที่ ๑ ขอคัดสำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๙๑๔ เจ้าหน้าที่ที่ดินแจ้งว่าที่ดินดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ แล้ว โจทก์ที่ ๑ ตรวจสอบพบว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ร่วมกันปลอมลายมือชื่อของนายพีระในหนังสือมอบอำนาจแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์ ปลอดจำนอง หนังสือมอบอำนาจไถ่ถอนจำนอง และกรรมสิทธิ์รวม และหนังสือมอบอำนาจขายที่ดินเฉพาะส่วน และจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันใช้ จ้าง วานให้จำเลยที่ ๓ เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ ๑ นำหนังสือมอบอำนาจปลอมทั้งสามฉบับดังกล่าวไปแสดงต่อจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ โดยจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ไม่ตรวจสอบหนังสือมอบอำนาจว่านายพีระมอบอำนาจหรือไม่ และไม่เคยสอบถามนายพีระ แต่กลับบันทึกยืนยันในหนังสือมอบอำนาจว่า ตรวจแล้วใช้ได้เห็นควรดำเนินการให้เสนอต่อจำเลยที่ ๖ และจำเลยที่ ๖ ก็ไม่ตรวจสอบหรือสอบถามนายพีระเช่นกัน กลับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์ โอนกรรมสิทธิ์รวม และขายที่ดินเฉพาะส่วนเป็นของจำเลยที่ ๑ การกระทำของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ เป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองและทายาทของนายพีระ จำเลยที่ ๗ ต้นสังกัดของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองด้วย ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมเรื่องแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์ นิติกรรมเรื่องกรรมสิทธิ์รวมโดยมีค่าตอบแทน และนิติกรรมเรื่องขายที่ดินเฉพาะส่วนในที่ดินโฉนดเลขที่๒๙๑๔ โดยให้ที่ดินดังกล่าวกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของนายพีระ และหากจำเลยทั้งเจ็ดไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์ของนายพีระหรือโจทก์ทั้งสองและทายาทได้ ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ราคา ๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองและทายาท กับให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ ๕๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ทั้งสอง นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งเจ็ดจะจดทะเบียนโอนที่ดินหรือใช้ราคาเสร็จสิ้น และเลิกยุ่งเกี่ยวกับที่ดิน
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า นายพีระลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๓ ไปดำเนินการจริง โจทก์ที่ ๑ ทราบและให้ความยินยอมในการกู้ยืมเงิน การจำนอง การแบ่งหักที่ดินเป็นที่สาธารณประโยชน์และการขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ โจทก์ที่ ๒ ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย คดีขาดอายุความ
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง หนังสือมอบอำนาจที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเอกสารที่แท้จริง คดีขาดอายุความ
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า นายพีระลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจจริง ค่าเสียหายสูงเกินความจริง
จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ให้การว่า จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบคำสั่งโดยครบถ้วนถูกต้องด้วยความสุจริต รอบคอบ ระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์แล้ว ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสอง เป็นการกล่าวหาจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครองว่ากระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้นหรือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการมอบอำนาจให้ทำการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมหรือกิจการอื่นเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับนิติกรรมการจดทะเบียนแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์ ไถ่ถอนจำนอง โอนกรรมสิทธิ์รวม และซื้อขายที่ดินพิพาทว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๘ และมาตรา ๑๒๙๙ทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์จะก่อตั้งขึ้นได้เฉพาะแต่ด้วยผลทางกฎหมาย และต้องจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งการจดทะเบียนหรือการกระทำต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ก็จำต้องพิจารณาถึงสิทธิในทางแพ่งของผู้มาขอจดทะเบียนเป็นสำคัญ สำหรับเรื่องนี้การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่๓ ได้รับมอบอำนาจให้ทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากได้ความว่าการมอบอำนาจนั้นถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทก็ย่อมชอบด้วยกฎหมาย มีผลให้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โอนไปเป็นของจำเลยที่ ๑ และบางส่วนให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ แต่หากการมอบอำนาจไม่ถูกต้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือนายพีระมิได้แสดงเจตนามอบอำนาจให้จำเลยที่ ๓ กระทำการดังกล่าว การจดทะเบียนนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทก็ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีผลให้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ยังเป็นของนายพีระ ข้อพิพาทในคดีนี้เกิดขึ้นเนื่องมาจากนิติสัมพันธ์ของบุคคลในทางแพ่ง ทั้งผลของคำพิพากษาย่อมมีผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิในที่ดินของนายพีระ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลปกครองกลางเห็นพ้องด้วยกับศาลแพ่ง ในส่วนที่โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ร่วมกันทำนิติกรรมแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์ ไถ่ถอนจำนองและขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ ๒๙๑๔ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ได้ปลอมลายมือชื่อนายพีระเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหนังสือมอบอำนาจ และจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกัน ใช้จ้าง วานให้จำเลยที่ ๓ เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ ๑ นำหนังสือมอบอำนาจปลอมไปจดทะเบียน จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรม และหากเพิกถอนไม่ได้ขอให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ชดใช้ค่าเสียหาย ๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐บาท แต่ไม่เห็นพ้องด้วยในส่วนที่ฟ้องจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ซึ่งมาตรา ๗๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน บัญญัติให้เจ้าพนักงานที่ดินเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในการดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว มาตรา ๗๔ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายเดียวกันบัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสอบสวนคู่กรณี และเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้ตามความจำเป็น แล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการไปตามควรแก่กรณี ประกอบกับกฎกระทรวงฉบับที่ ๗(พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ข้อ ๒ (๑) กำหนดไว้ว่า ก่อนทำการจดทะเบียนให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนในเรื่องสิทธิและความสามารถของบุคคลตลอดถึงความสมบูรณ์แห่งนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การสอบสวนและจดทะเบียนจึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้แก่ผู้ขอย่อมก่อให้เกิดทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ขึ้นแก่บุคคลตามรายการที่เจ้าพนักงานที่ดินได้จดทะเบียน การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๗๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามนัยมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เพราะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับหรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียน โดยอ้างว่า จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินพิพาทโดยไม่ได้ตรวจสอบว่าเจ้าของที่ดินพิพาทได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๓ ทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินหรือไม่ จึงเป็นการฟ้องว่า จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ ออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ถูกต้องตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และการที่โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า หากไม่สามารถเพิกถอนการจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทกลับคืนเป็นกรรมสิทธิ์ของนายพีระ ขอให้จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและจำเลยที่๗ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๔ และมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ นั้น เห็นว่า ความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ ถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่สอบสวนและจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ซึ่งการจะกระทำละเมิดหรือไม่ ศาลจำเป็นต้องตรวจสอบว่าในการจดทะเบียนมีกฎหมายกำหนดขั้นตอนและระเบียบวิธีการในการตรวจสอบหนังสือมอบอำนาจอย่างไร เจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำละเมิดได้ละเลยต่อหน้าที่ในการตรวจสอบตามขั้นตอนและระเบียบที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ หรือปฏิบัติหน้าที่ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร และจำเลยที่ ๗ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองผู้เสียหายในผลแห่งการกระทำละเมิดที่จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่เพียงไรคำฟ้องในส่วนนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายและจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีในส่วนนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือ ศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองเป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่๓ ซึ่งเป็นเอกชน จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และจำเลยที่ ๗ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองว่ากระทำละเมิด ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมเรื่องแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์นิติกรรมเรื่องกรรมสิทธิ์รวม และนิติกรรมเรื่องขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วน และให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของนายพีระเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิม หากไม่สามารถดำเนินการได้ ขอให้บังคับจำเลย ทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ราคาที่ดินและให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งทั้งสองศาลมีความเห็นพ้องกันว่า ประเด็นที่โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันใช้ จ้าง วานให้จำเลยที่ ๓ เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ ๑ นำหนังสือมอบอำนาจปลอมไปจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นประเด็นพิพาทเกี่ยวกับนิติสัมพันธ์ของบุคคลในทางแพ่งและอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม คงมีปัญหาว่า ประเด็นที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครองอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองอ้างว่า การจดทะเบียนนิติกรรมเรื่องแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์ นิติกรรมเรื่องกรรมสิทธิ์รวม และนิติกรรมเรื่องขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ร่วมกันปลอมลายมือชื่อของนายพีระในหนังสือมอบอำนาจให้ทำนิติกรรมดังกล่าวทั้งสามฉบับ และจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันใช้ จ้าง วานให้จำเลยที่ ๓ เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ ๑ นำหนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าวไปแสดงต่อจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ และ จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ ไม่ตรวจสอบหรือสอบถามนายพีระ กลับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมไป โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองและทายาทของนายพีระ และจำเลยที่ ๗ ต้นสังกัดของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองด้วย ส่วนจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ให้การว่าจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบคำสั่งโดยครบถ้วนถูกต้องด้วยความสุจริต รอบคอบระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์แล้ว ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง คดีจึงต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทดังกล่าวว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยที่การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๘ และมาตรา ๑๒๙๙ บัญญัติไว้ว่า ทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์จะก่อตั้งขึ้นได้เฉพาะแต่ด้วยผลทางกฎหมายและต้องทำการจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ โดยกฎหมายกำหนดวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ไว้ในประมวลกฎหมายที่ดินและกฎกระทรวง เพื่อรับรองสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลและขจัดข้อพิพาทให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ซึ่งการจดทะเบียนหรือการกระทำต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่จึงต้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับคดีนี้ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น มีประเด็นโต้แย้งกันว่า จำเลยที่ ๓ ได้รับมอบอำนาจให้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากได้ความว่าการมอบอำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทก็ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีผลให้ที่ดินพิพาทบางส่วนไม่ตกเป็นที่สาธารณประโยชน์ และไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ ทั้งอาจเป็นละเมิดต่อนายพีระหรือทายาทด้วย ทั้งการที่โจทก์ทั้งสองขอให้บังคับจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ รับผิดในมูลละเมิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ อย่างลูกหนี้ร่วมด้วยนั้น ก็เป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกันและมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ที่แบ่งแยกจากกันมิได้ ดังนั้น ประเด็นที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมเช่นกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางสุเรวดี คำนวณศิลป์ ที่ ๑ นางสาวสุภาวดี คำนวณศิลป์ ที่ ๒ โจทก์ นางอำภา ธรรมโรจน์พินิจ ที่ ๑ นายไพรจิตร ธรรมโรจน์พินิจ ที่ ๒ นายคงศักดิ์ มณีวัฒนกุลผล ที่ ๓ นางไพรวัล สำลี ที่ ๔ นายอนวัช จันทร์ประสิทธิ์ ที่ ๕ นายนิมิตร ปัทมาคม ที่ ๖ กรมที่ดิน ที่ ๗ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน

Share