คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 539/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สามีภริยาได้ทำหนังสือลงลายมือชื่อสามีภริยาและพยาน 2 คน มีข้อความว่าได้พร้อมใจกันเลิกสภาพการเป็นสามีภริยากันตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เช่นนี้ เป็นการเลิกสภาพการเป็นสามีภริยาโดยพฤตินัย แต่โดยทางนิตินัยยังมิได้หย่าขาดกันตามกฎหมาย หรือมีความประสงค์จะไปจดทะเบียนในภายหลัง และต่อมาอีก 5 วัน สามีโทรเลขให้ภริยากลับบ้านบอกว่าฉีกหนังสือนั้นแล้ว ต่อมาได้คืนดีกันและประพฤติต่อกันฉันสามีภริยาอีก ดังนี้ จะถือว่าหย่าขาดจากกันตามหนังสือดังกล่าวไม่ได้
ภริยาส่งจดหมายถึงสามีมีใจความว่า สามีเป็นสัตว์ป่าในร่างมนุษย์ เป็นการหมิ่นประมาทสามีอย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุให้สามีฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1500 (2)
ภริยาส่งจดหมายถึงสามีข้อความว่า ภริยาจะจ้างด้วยเงิน ด้วยตัวกับผู้ที่หลงรักภริยา ให้เอาน้ำกรดสาดหน้าสามี ย่อมถือได้ว่าภริยาทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง จนสามีไม่อาจจะอยู่กินกันได้ เพราะอาจได้รับอันตรายจากภริยาเมื่อใดก็ได้ อันเป็นเหตุให้สามีฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1500 (3)
ภริยามีที่ดินและอาคารราคาสองแสนบาทเศษ ใช้อาคารนั้นเป็นหอพักเก็บผลประโยชน์ได้เดือนละ 1,000 บาทเศษ และทำงานได้เงินเดือน ๆ ละ 1,975 บาท ถือว่าภริยามีรายได้พอจากทรัพย์สินและการงานที่ทำ เมื่อหย่ากันโดยสามีภริยาเป็นผู้ต้องรับผิดทั้งสองฝ่าย สามีไม่ต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1506
แม้โจทก์ฟ้องขอหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ราคา 1500 (2) (3) เมื่อพ้นกำหนด 3 เดือนนับแต่วันรู้เหตุหย่าก็ตาม แต่จำเลยไม่ได้ยกเอาเหตุแห่งการระงับของสิทธิฟ้องร้องตามมาตรา 1509 ขึ้นต่อสู้ไว้ ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์จำเลยได้ทำหนังสือหย่าขาดจากกันสมบูรณ์ตามกฎหมาย หรือโจทก์มีเหตุหย่าขาดกับจำเลย และให้พิพากษาให้หย่าขาดจากกันกับให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าที่อำเภอเมืองนครสวรรค์ หรืออำเภอดุสิต หรืออำเภอใดอำเภอหนึ่ง หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าโจทก์ประพฤติตนไม่สมควรหลายประการ ให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูก่อนฟ้องพร้อมด้วยดอกเบี้ย และค่าอุปการะเลี้ยงดูต่อมาจนจะหมดสภาพการเป็นสามีภริยา
โจทก์ให้การแก้ฟ้องเช่นเดียวกับคำฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การหย่าได้กระทำโดยความยินยอมของโจทก์จำเลยชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๙๘ แต่ไม่สมบูรณ์เพราะไม่ได้จดทะเบียนหย่า โจทก์เช่าซื้ออาคารสงเคราะห์ให้จำเลยอยู่ฝากงานให้จำเลยทำ ให้เงินจำเลยใช้เพื่อให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่า แต่เมื่อจัดการแล้วจำเลยกลับเรียกร้องเงินจากโจทก์อีก เมื่อหนังสือหย่าสมบูรณ์และไม่ได้ถูกยกเลิก โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนการหย่าได้ ตามฎีกาที่ ๑๒๙๑/๒๕๐๐ และไม่จำต้องวินิจฉัยถึงเหตุหย่า จำเลยไม่ใช่ผู้ไร้ทรัพย์สิน และการหย่าเกิดจากความยินยอม จำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู พิพากษาว่าโจทก์จำเลยได้ทำหนังสือหย่าขาดกันสมบูรณ์ตามกฎหมาย ให้โจทก์จำเลยไปจดทะเบียนการหย่าที่อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า หนังสือที่โจทก์จำเลยลงลายมือชื่อกันไว้มีข้อความเพียงว่า ได้พร้อมใจกันเลิกสภาพการเป็นสามีและภริยากันตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปเท่านั้น คือ เลิกสภาพการเป็นสามีภริยากันโดยพฤตินัย แต่โดยทางนิตินัยยังมิได้หย่าขาดกันตามกฎหมาย หรือได้มีความประสงค์จะไปจดทะเบียนหย่ากันในภายหลัง ทั้งปรากฏว่า ต่อมาอีก ๕ วัน โจทก์ได้โทรเลขขอให้จำเลยกลับ โดยระบุว่าเสสดาสฉีกทิ้งแล้ว เสสดาสนี้ย่อมหมายถึงหนังสือที่โจทก์จำเลยทำไว้ดังกล่าวนั้นเอง และหลังจากนี้ โจทก์จำเลยก็ได้คืนดีกัน และประพฤติต่อกันฉันสามีภริยาอีก ส่วนการที่โจทก์ส่งเงินให้จำเลยเป็นรายเดือน ๆ ละ ๘๐๐ บาท จนถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๐๖ ช่วยออกเงินค่าผ่อนชำระการเช่าซื้ออาคารสงเคราะห์พิบูลวัฒนาให้จนถึงเดือนกันยายน ๒๕๐๖ และช่วยซื้อรถยนต์ฮิลแมนเก่าให้จำเลย ๑ คัน แล้วแลกเปลี่ยนรถยนต์ฟอร์ดแองเกลียใหม่โดยวิธีเพิ่มเงินให้ ก็เป็นการอุปการะเลี้ยงดูกัน และแบ่งเงินกันใช้จ่ายในระหว่างสามีภริยา มิใช่เพื่อจะให้จำเลยจดทะเบียนหย่าดังที่โจทก์อ้าง หากต่อมาอีก ๔ ปี จำเลยได้ทราบว่าโจทก์ไปได้เสียกับหญิงอื่น จำเลยจึงได้มีจดหมายต่อว่าโจทก์อย่างรุนแรงขึ้นใหม่ คดีจึงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์จำเลยได้หย่าขาดจากกันแล้วตามกฎหมาย และศาลจึงไม่บังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าขาดจากกันตามหนังสือดังกล่าว
จริงอยู่ การที่จำเลยทราบว่าโจทก์เป็นคนเจ้าชู้ และมีพฤติการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีภริยากัน อันอาจจะเป็นเหตุให้จำเลยฟ้องหย่าได้ก็ตาม แต่ก็หาเป็นการลบล้างในการที่จะให้จำเลยไปประพฤติตัวอันจะเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ไม่ จดหมายและเอกสารหมาย จ. ๘ ที่มีใจความว่า โจทก์เป็นสัตว์ป่าในร่างมนุษย์ เป็นจดหมายที่หมิ่นประมาทโจทก์และไม่จำต้องกล่าวต่อบุคคลที่ ๓ จำเลยหมิ่นประมาทโจทก์ซึ่งเป็นการร้ายแรงอันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐๐ (๒) และแม้ข้อความต่อไปซึ่งมีกระดาษปิดทับไว้จะมีข้อความว่า “อย่างคุณน้อยว่าไว้” ก็ตาม จำเลยนำมากล่าวอีก ก็เท่ากับจำเลยมากล่าวซ้ำขึ้นอีกนั่นเอง ข้อแก้ตัวของจำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น และจดหมายเอกสารหมาย จ. ๘ ยังมีข้อความว่าจำเลยจะจ้างด้วยเงินและด้วยตัวกับผู้ที่หลงรักจำเลยให้เอาน้ำกรดสาดหน้าโจทก์ ย่อมถือได้ว่าจำเลยทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง จนโจทก์ไม่อาจจะอยู่กินเป็นสามีของจำเลยได้ เพราะโจทก์อาจได้รับอันตรายใด ๆ จากจำเลยเมื่อใดก็ได้ จึงเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐๐ (๓) อีกประการหนึ่ง
แม้โจทก์ฟ้องขอหย่าจากจำเลยเมื่อพ้นกำหนด ๓ เดือนนับแต่วันรู้ แต่จำเลยมิได้ยกเอาเหตุแห่งการระงับของสิทธิฟ้องร้องตามมาตรา ๑๕๐๙ ขึ้นต่อสู้ไว้ ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้
ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูเห็นว่า โจทก์จำเลยเป็นผู้ต้องรับผิดทั้งสองฝ่าย จำเลยมีอาคารสงเคราะห์พร้อมทั้งที่ดินมีราคาสองแสนบาทเศษ จำเลยใช้อาคารนี้เป็นหอพักเก็บผลประโยชน์ได้เดือนละ ๑,๐๐๐ บาทเศษ และมีเงินเดือน ๆ ละ ๑,๙๗๕ บาท จำเลยมีรายได้พอจากทรัพย์สินและการงานตามที่เคยทำระหว่างสมรส โจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐๖
พิพากษายืน

Share