คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8787/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ฯ มาตรา 87 วรรคสาม กำหนดให้ผู้อุทธรณ์ที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ต้องนำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย มิฉะนั้นคำวินิจฉัยนั้นเป็นที่สุด เมื่อ ค. หลานของโจทก์ลงลายมือชื่อในใบตอบรับเอกสารแทนโจทก์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2547 โจทก์จึงต้องนำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2547 จึงเป็นการเกินกำหนดเวลา ย่อมเป็นผลให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นที่สุด ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ และให้โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีตายจึงไม่ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายเงิน 36,000 บาท
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 543/2547 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2547 ของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีตายที่ยังขาดอยู่อีกจำนวน 36,000 บาท จากจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อ 2.2 ว่า การที่โจทก์นำคดีไปสู่ศาลแรงงานกลางชอบด้วยพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 87 วรรคสาม หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า คณะกรรมการอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยที่ 543/2547 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2547 จำเลยที่ 2 แจ้งไปยังที่อยู่โจทก์ที่ให้ไว้แก่จำเลยที่ 1 โดยนายคมสันหลานของโจทก์ได้รับไว้เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2547 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2547 จึงเกินกำหนด 30 วัน คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 87 วรรคสาม แล้วนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 87 วรรคสาม บัญญัติว่า “คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์นั้น ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่พอใจให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย แต่ถ้าไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นที่สุด” ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้อุทธรณ์ที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ต้องนำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย มิฉะนั้นคำวินิจฉัยนั้นเป็นที่สุด ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งประโยชน์ทดแทนของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดยโสธร ต่อมาคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยที่ 543/2547 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2547 แล้วสำนักงานประกันสังคมจังหวัดยโสธรจึงได้ส่งคำสั่งดังกล่าวทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังบ้านเลขที่ 22 หมู่ที่ 8 ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร อันเป็นที่อยู่ตามสำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์ มีนายคมสัน หลานของโจทก์ลงลายมือชื่อในใบตอบรับรับเอกสารแทนโจทก์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2547 จึงต้องถือว่าโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยในวันที่ 7 สิงหาคม 2547 โจทก์จึงต้องนำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2547 โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2547 เกินกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย เป็นผลให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 543/2547 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2547 เป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 87 วรรคสาม ที่โจทก์แก้อุทธรณ์ว่าโจทก์ได้ไปอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 33 ซอย 3 ถนนแจ้งสนิท ตำบลในเมือง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร กับบุตรชายเพื่อรักษาโรคเบาหวาน และนายคมสันไม่ได้นำหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์มอบให้แก่โจทก์ โจทก์มิได้มีเจตนาเพิกเฉยละเลยนั้น ก็ไม่มีผลให้โจทก์โต้แย้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่เป็นที่สุดไปแล้วได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 543/2547 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2547 ซึ่งเป็นที่สุดแล้ว และให้โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีตายอีกจำนวน 36,000 บาท จึงไม่ถูกต้อง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยที่ 1 อีกเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share