คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8272/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการสังกัดกรมทางหลวง จำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของทางราชการกลับจากตรวจงานและได้เกิดเหตุชนกับรถยนต์ที่มี ม. เป็นผู้ขับขี่เป็นเหตุให้ ม. กับผู้โดยสารในรถ 2 คน ถึงแก่ความตาย แม้พนักงานสอบสวนมีคำสั่งฟ้อง ม. ด้วยก็ตาม แต่ความเห็นของพนักงานสอบสวนตามรายงานการสอบสวนไม่ใช่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 46 ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามความเห็นของพนักงานสอบสวน การวินิจฉัยพยานหลักฐานในคดีนี้ย่อมเป็นไปตามที่คู่ความนำสืบ
กรณีมีผู้ทำละเมิดหลายคน ผู้ทำละเมิดทุกคนก็ต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการละเมิดนั้นต่อโจทก์เต็มจำนวน
ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทำบุญงานศพ การทำหนังสือประวัติผู้ตายและค่าของชำร่วยแจกในงานศพ เป็นไปตามธรรมเนียมประเพณีจึงเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นและเหมาะสมในการจัดการศพของผู้ตายที่โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยทั้งสองได้ แม้โจทก์ที่ 1 จะยังเป็นผู้เยาว์และ พ. ผู้แทนโดยชอบธรรมจะเป็นภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ตายก็ไม่ทำให้ความรับผิดในส่วนนี้ของจำเลยทั้งสองลดน้อยลง
แม้เหตุละเมิดคดีนี้เกิดขึ้นก่อนที่ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ใช้บังคับ แต่เมื่อโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้ในวันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว สิทธิของโจทก์ในการฟ้องเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐให้รับผิดทางละเมิดจึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ ฉะนั้น เมื่อคดีปรากฏว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ดังกล่าว ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในสำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตามลำดับ และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยทั้งสองและแก้ไขคำฟ้องเป็นใจความว่า เด็กหญิงอลินและเด็กชายอริญชัยโดยผู้แทนโดยชอบธรรม เป็นโจทก์ที่ 1 เด็กหญิงอลินและเด็กชายอริญชัยเกิดจากนายอัญญฤทธิ์ผู้ตาย โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นบิดามารดาของนายสุริศ ส่วนเด็กชายสุรพล เด็กชายสุรพรและเด็กหญิงสุริศา โดยผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นโจทก์ที่ 4 เด็กชายสุรพล เด็กชายสุรพรและเด็กหญิงสุริศาเป็นบุตรของนายสุริศผู้ตาย จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับขี่และควบคุมรถยนต์โตโยต้าหมายเลขทะเบียน 8ร – 4818 กรุงเทพมหานคร และเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและเป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2538 จำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8ร – 4818 กรุงเทพมหานคร ไปตามถนนสายหล่มสัก – เลย มุ่งหน้าไปทางอำเภอหล่มเก่า ขณะขับรถไปถึงบริเวณหน้าโรงเรียนเมืองราดวิทยาคม จำเลยที่ 1 ได้กระทำโดยประมาทขับรถด้วยความเร็วสูงล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรถฝั่งตรงข้าม เป็นเหตุให้เกิดชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5ง – 1840 กรุงเทพมหานคร มีพันจ่าอากาศเอกมังกรเป็นผู้ขับขี่ เป็นเหตุให้พันจ่าอากาศเอกมังกรและผู้โดยสาร 2 คน คือนายอัญญฤทธิ์และนายสุริศถึงแก่ความตาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นค่าปลงศพ 1,612,500 บาท ค่าอุปการะเลี้ยงดู เป็นเงิน 5,000,000 บาท ค่าทรัพย์สินเสียหาย 1,500,000 บาท และค่าขาดประโยชน์ 100,000,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 ทั้งสิ้น 108,112,500 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับจากวันฟ้องเป็นต้นจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าเสียหายสำหรับโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นค่าปลงศพนายสุริศ 860,000 บาท ค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรทั้งสามคนเป็นเงิน 4,800,000 บาท ค่าขาดประโยชน์ในอนาคตเป็นเงิน 60,000,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายของโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ทั้งสิ้น 67,810,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้อง เหตุที่รถชนกันคดีนี้สืบเนื่องมาจากมีรถจักรยานยนต์ขับตัดหน้ารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับ จำเลยที่ 1 ได้หักรถหลบรถคันดังกล่าว เป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์ของฝ่ายโจทก์ ทั้งเหตุที่เกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของฝ่ายโจทก์ด้วย คำพิพากษาคดีที่ศาลตัดสินจำเลยที่ 1 ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากโจทก์มิได้บรรยายรายละเอียดของค่าเสียหายแต่ละรายการและค่าเสียหายตามที่โจทก์เรียกร้องสูงกว่าความเป็นจริงเป็นอันมาก
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ถึงแก่ความตาย นางสาวซู้ฮวงหรืออรนุช ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ที่ 3 และที่ 4 รวม 1,192,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เท่าที่ชนะคดี คำขออื่นของโจทก์ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ที่ 3 และที่ 4 เป็นเงิน 1,082,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการสังกัดกรมทางหลวง จำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8ร – 4818 กรุงเทพมหานคร ของทางราชการกลับจากตรวจงานและได้เกิดเหตุชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5ง – 1840 กรุงเทพมหานคร มีพันจ่าอากาศเอกมังกรเป็นผู้ขับขี่เป็นเหตุให้พันจ่าอากาศเอกมังกรกับผู้โดยสารในรถ 2 คน คือนายอัญญฤทธิ์และนายสุริศถึงแก่ความตาย มีปัญหาข้อแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า เหตุละเมิดเกิดจากการกระทำของพันจ่าอากาศเอกมังกรผู้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 5ง – 1840 กรุงเทพมหานคร มีส่วนกระทำละเมิดด้วยหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า พันตำรวจโทวีระยุทธพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องพันจ่าอากาศเอกมังกรด้วย แต่หลังเกิดเหตุพันจ่าอากาศเอกมังกรถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 39 (1) รายละเอียดปรากฏตามรายงานการสอบสวนประกอบกับมีรถจักรยานยนต์แล่นออกมาจากข้างทางตัดหน้ารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับมาในระยะกระชั้นชิดเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องหักรถหลบเข้าไปในช่องทางเดินรถที่สวนมานั้น เห็นว่า ความเห็นของพันตำรวจโทวีระยุทธพนักงานสอบสวนตามรายงานการสอบสวน ไม่ใช่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามความเห็นของพนักงานสอบสวน การวินิจฉัยพยานหลักฐานในคดีนี้ย่อมเป็นไปตามที่คู่ความนำสืบ ซึ่งโจทก์มีร้อยตำรวจเอกอังกูรพนักงานสอบสวนซึ่งออกไปตรวจสถานที่เกิดเหตุและเป็นผู้ทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุในคืนเกิดเหตุเบิกความว่า จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุ จุดเฉี่ยวชน อยู่ในตำแหน่งที่ 1 เนื่องจากพบเศษกระจกรถที่แตกจำนวนมาก และพบคราบน้ำมัน เหตุที่รถชนกันเนื่องจากความประมาทของจำเลยที่ 1 เพราะเข้าไปชนในช่องทางเดินรถของผู้เสียหาย จากการตรวจสอบไม่พบสาเหตุอื่นที่ทำให้รถชนกัน แม้จำเลยทั้งสองมีพันตำรวจโทวีระยุทธ พนักงานสอบสวนซึ่งรับสำนวนต่อจากร้อยตำรวจเอกอังกูรเบิกความเป็นพยานจำเลยว่าจากการสอบสวนจำเลยที่ 1 ตามบันทึกคำให้การ จำเลยที่ 1 ได้กล่าวถึงรถจักรยานยนต์วิ่งออกจากซอย เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องขับรถหักหลบ ได้มีผู้เห็นเหตุการณ์พยานได้สอบปากคำไว้ ก็ปรากฏตามบันทึกคำให้การดังกล่าวว่าทำขึ้นหลังเกิดเหตุเป็นเวลาเกือบ 4 เดือน โดยพันตำรวจโทวีระยุทธพนักงานสอบสวนคนใหม่เป็นผู้สอบปากคำซึ่งพยานทั้งสามคนนี้ได้มาจากคำบอกกล่าวของจำเลยที่ 1 ในชั้นพิจารณาจำเลยทั้งสองไม่ได้นำพยานทั้งสามคนนี้มาเบิกความเป็นพยานเพื่อให้โจทก์ทั้งสองสำนวนมีโอกาสซักค้าน บันทึกคำให้การดังกล่าวจึงมีน้ำหนักน้อยที่จะรับฟัง นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังให้การต่อพันตำรวจโทสะอาดเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามตามบันทึกคำให้การรับว่า ในวันเกิดเหตุได้ดื่มสุรา ก่อนออกจากที่ทำงานและในระหว่างตรวจงานก็มีการนำสุรามาดื่มกันที่สนามบริเวณงานจึงเจอสมกับคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกอังกูรที่ว่าได้สอบภริยาจำเลยที่ 1 ซึ่งให้การว่าจำเลยที่ 1 ชอบดื่มสุราเป็นประจำ และในวันเกิดเหตุได้ไปดื่มสุราในงานเลี้ยง พยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองนำสืบจึงฟังไม่ได้ว่า ขณะเกิดเหตุมีผู้ขับรถจักรยานยนต์ออกมาจากข้างทางตัดหน้ารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับมาในระยะกระชั้นชิดเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องหักหลบเข้าไปในช่องทางเดินรถที่พันจ่าอากาศเอกมังกรขับมาดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาอีกว่า พันจ่าอากาศเอกมังกรมีส่วนผิดอยู่ด้วย หากพันจ่าอากาศเอกมังกรขับรถแล่นสวนทางมาด้วยความระมัดระวังไม่ใช้ความเร็วเกินสมควรย่อมสามารถหักหลบหรือชะลอความเร็วลงได้ทัน การชนกันก็จะไม่เกิดขึ้นเนื่องจากจุดชนล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรถของพันจ่าอากาศเอกมังกรเพียงเล็กน้อย จำเลยทั้งสองจึงควรรับผิดเพียงครึ่งเดียวนั้น เห็นว่า ตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ปรากฏว่าจุดที่สันนิษฐานว่าเป็นจุดเฉี่ยวชน เนื่องจากตรวจพบร่องรอยเศษวัสดุรถยนต์ตกหล่นอยู่เป็นจำนวนมากพบร่องรอยครูดปรากฏบนพื้นผิวถนน และเป็นจุดที่พบร่องรอยคราบน้ำมันเครื่องยนต์หกราดพื้นถนนเริ่มบริเวณจุดดังกล่าวแล้วหกราดไปยังผิดถนนด้านฝั่งตรงข้าม ซึ่งมีระดับต่ำกว่าตามความลาดเอียงของพื้นผิวถนน ซึ่งจุดที่สันนิษฐานว่าเป็นจุดชนดังกล่าวอยู่ในช่องทางเดินรถด้านทิศตะวันตกห่างจากเส้นแบ่งครึ่งถนนไปประมาณ 1 เมตร นอกจากนี้รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับยังจอดล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรถด้านทิศตะวันตกได้เป็นระยะ 1.20 เมตร ซึ่งในชั้นอุทธรณ์และฎีกา จำเลยทั้งสองก็ไม่โต้แย้งเรื่องจุดชนและรายละเอียดอื่นๆ ตามที่ปรากฏในแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับจอดล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรถที่สวนมาถึง 1.20 เมตร มิใช่ล้ำเข้าไปเพียงเล็กน้อยดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา ทั้งจุดชนก็อยู่ในช่องทางเดินรถที่สวนมาวัดจากเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนประมาณ 1 เมตร การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรถที่สวนมาในเวลากลางคืนในลักษณะดังกล่าวซึ่งสภาพถนนเป็นทางโค้งเอียง พันจ่าอากาศเอกมังกรที่ขับรถสวนมาในช่องทางเดินรถของตนจึงไม่อาจหักหลบได้ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า หากพันจ่าอากาศเอกมังกรขับรถแล่นสวนมาด้วยความระมัดระวังไม่ใช้ความเร็วเกินสมควรย่อมสามารถหักหลบหรือชะลอความเร็วลงได้ทันนั้น เป็นข้อกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย ขาดเหตุผลไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าพันจ่าอากาศเอกมังกรมีส่วนผิดกระทำละเมิดด้วย นอกจากนี้แม้กรณีมีผู้ทำละเมิดหลายคนก็ตาม ผู้ทำละเมิดทุกคนก็ต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการละเมิดนั้นต่อโจทก์เต็มจำนวน ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าควรรับผิดเพียงครึ่งเดียว จึงฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า ค่าปลงศพที่กำหนดให้โจทก์ที่ 1 ได้รับเป็นเงิน 900,000 บาท สูงเกินไปหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ค่าใช้จ่ายที่โจทก์ที่ 1 เรียกมา เมื่อเปรียบเทียบกับรายการค่าใช้จ่ายที่ทางวัดออกให้บางรายการสูงเกินจริง บางรายการไม่ใช่ค่าใช้จ่ายอันจำเป็น และมิใช่เป็นไปตามประเพณีของลัทธิศาสนาโดยแท้ เป็นค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการทำบุญครบ 7 วัน เป็นเงิน 190,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการทำบุญครบ 50 วันเป็นเงิน 203,000 บาท ค่าใช้จ่ายในวันลอยอังคารเป็นเงิน 120,000 บาท ค่าละครรำหน้าศพ ค่าหนังสือประวัติผู้ตายและค่าของชำร่วยแจกแขก สิ่งของๆ เหล่านี้มิใช่ค่าใช้จ่ายเพื่อการอันจำเป็นในการจัดการงานศพนั้น เห็นว่า ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดการศพและค่าปลงศพผู้ตายนั้น โจทก์ที่ 1 ในฐานะทายาทของผู้ตายมีสิทธิที่จะเรียกได้ โจทก์ที่ 1 นำสืบแสดงรายการค่าใช้จ่ายบัตรเชิญเป็นกำหนดการพระราชทานเพลิงศพ (เป็นกรณีพิเศษ) นายอัญญฤทธิ์ซึ่งภายในเล่มมีภาพถ่ายการตั้งศพสวดพระอภิธรรมระหว่างวันที่ 2 – 8 มกราคม 2539 บรรจุศพวันที่ 8 มกราคม 2539 ภาพผู้มีชื่อเสียงมาร่วมงานศพจำนวนหลายภาพ พิธีทำบุญเลี้ยงพระครบ 7 วัน และ 50 วัน เป็นต้น ถึงแม้รายจ่ายบางรายการจะไม่จำเป็นและบางรายการมีจำนวนมากเกินสมควร แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิเคราะห์โดยละเอียดถี่ถ้วนแล้ว และเห็นสมควรกำหนดค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นให้แก่โจทก์ที่ 1 จากที่ฟ้องเรียกมาเป็นจำนวน 1,500,000 บาท คงเหลือเพียง 900,000 บาท นับว่าสมควรแก่ฐานะของผู้ตายและทายาท ส่วนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทำบุญครบ 7 วัน 50 วัน และ 100 วัน การมีละครรำหน้างานศพ การทำหนังสือประวัติผู้ตายและค่าของชำร่วยแจกในงานศพ ก็เป็นไปตามธรรมเนียมประเพณีเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นและเหมาะสมในการจัดการศพผู้ตายที่โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยทั้งสองได้ แม้โจทก์ที่ 1 จะยังเป็นผู้เยาว์และนางพวงเพ็ชรผู้แทนโดยชอบธรรมจะเป็นภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนายอัญญฤทธิ์ผู้ตาย ก็ไม่ทำให้ความรับผิดในส่วนนี้ของจำเลยทั้งสองลดน้อยลง กรณีไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินค่าปลงศพนายสุริศแก่โจทก์ที่ 3 และที่ 4 เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพจำนวน 732,000 บาท และค่าขนย้ายศพจำนวน 50,000 บาท รวม 782,000 บาท และใช้เงินค่าขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 360,000 บาท รวม1,142,000 บาท แต่คำพิพากษาศาลชั้นต้นพิมพ์ผิดเป็นจำนวน 1,192,000 บาท เพราะนำค่าขนย้ายศพไปรวมกับค่าปลงศพอีก ทั้งที่คิดรวมไปแล้วตั้งแต่แรก และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะค่าขาดไร้อุปการะเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 250,000 บาท เมื่อรวมกับค่าปลงศพนายสุริศแล้วที่ถูกต้องเป็นเงินจำนวน 1,032,000 บาท แต่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์พิมพ์ผิดเป็นจำนวน 1,082,000 บาท เพราะคิดรวมค่าปลงศพตามที่ศาลชั้นต้นพิมพ์ผิด จำเลยทั้งสองจึงเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาตามทุนทรัพย์ที่เกินไปในแต่ละศาลเป็นจำนวน 50,000 บาท คิดเป็นค่าขึ้นศาลที่เสียเกินมารวม 2,500 บาท ซึ่งไม่ถูกต้อง
แม้เหตุละเมิดคดีนี้เกิดขึ้นก่อนที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ใช้บังคับ แม่เมื่อโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 2 มกราคม 2540 ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว สิทธิของโจทก์ในการฟ้องเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐให้รับผิดทางละเมิด จึงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ฉะนั้น เมื่อคดีปรากฏว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ดังกล่าว ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ใช้เงินแก่โจทก์ที่ 3 และที่ 4 จำนวน 1,032,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้คืนค่าขึ้นศาลที่เสียเกินมาในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแก่จำเลยทั้งสอง 2,500 บาท

Share