คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6980/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การลดโทษตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษเนื่องในวโรกาสหรือโอกาสต่าง ๆ ภายหลังคดีถึงที่สุดแล้ว เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษแต่ละฉบับ กรณีดังกล่าวมิใช่กฎหมายที่ใช้ในขณะการกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดและโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่จำเลยที่ 1 จะขอให้กำหนดโทษใหม่ได้ คำร้องของจำเลยที่ 1 ไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 3 (1)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 7, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกจำเลยทั้งสามตลอดชีวิต ลดโทษให้จำเลยที่ 3 หนึ่งในห้า คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 40 ปี คดีถึงที่สุดแล้ว ขณะจำเลยที่ 1 กำลังรับโทษอยู่เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2548 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 ได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2530 มาตรา 7 (2) ลดโทษเป็นจำคุก 50 ปี ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2539 และพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2547 มาตรา 7 (2) ทั้งสองฉบับดังกล่าวกำหนดให้ลดโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 40 ปี ซึ่งเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ขอให้กำหนดโทษจำเลยที่ 1 ใหม่ โดยลดโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษครั้งแรกจากจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 40 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2529 จำเลยที่ 1 ได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2530 มาตรา 7 (2) ลดโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 50 ปี และได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2539 และพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2547 มาตรา 7 (2) ทั้งสองฉบับดังกล่าวอีก โดยลดโทษเป็นจำคุก 40 ปี และจำคุก 33 ปี 4 เดือน ตามลำดับ ที่จำเลยฎีกาว่าพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2530 มาตรา 7 (2) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิดที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้ลดโทษเป็นจำคุก 50 ปี ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2539 มาตรา 7 (2) พระราชทานอภัยโทษให้ผู้กระทำความผิดที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 40 ปี กรณีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดจึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าทางใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ดังนั้น ก่อนที่จะลดโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2539 มาตรา 7 (2) ต้องลดโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 40 ปี ก่อน แล้วจึงลดโทษให้หนึ่งในห้า ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2539 มาตรา 9 (ข) เป็นจำคุก 32 ปี เห็นว่า การลดโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเนื่องในวโรกาสหรือโอกาสต่าง ๆ ภายหลังคดีถึงที่สุดแล้ว เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษแต่ละฉบับ กรณีดังกล่าวมิใช่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด และโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ที่จำเลยที่ 1 จะขอให้กำหนดโทษใหม่ได้คำร้องของจำเลยที่ 1 ไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share