คำวินิจฉัยที่ 10/2552

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐/๒๕๕๒

วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๒

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๐ นายบารมี อัมพรตระกูล โจทก์ ยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ที่ ๑ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ที่ ๒ สำนักตรวจสอบทรัพย์สินคดียาเสพติด ที่ ๓ กระทรวงการคลัง ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๙๙๘/๒๕๕๐ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๘ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ มีคำสั่งที่ ๑๙๖๐/๒๕๔๘ ให้ตรวจสอบทรัพย์สิน มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่และแต่งตั้งผู้มีหน้าที่เก็บรักษาทรัพย์สิน และคำสั่งที่ ๑๙๖๑/๒๕๔๘ ให้ยึดทรัพย์สินชั่วคราว โดยให้ยึดทรัพย์สินของนายอุสมาน สะแลแมง ผู้ต้องหาในคดียาเสพติด คือ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยี่ห้อนิสสัน รุ่นแฟร์เลดี้ แซด หมายเลขเครื่องยนต์ วีคิว ๓๕-๐๐๖๘๔๖ บี หมายเลขตัวถัง เอช ๒๓๓-๐๐๕๕๗๓ ซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเข้ายึดรถยนต์คันดังกล่าวที่ร้านโปรเสปค พระราม ๙ ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทพระราม ๙ ออโต จำกัด ที่โจทก์เป็นเจ้าของกิจการและเป็นกรรมการผู้จัดการ โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินของนายอุสมาน โจทก์ได้โต้แย้งและแจ้งให้ทราบแล้วว่ารถยนต์ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของนายอุสมาน แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์และโจทก์ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดกับนายอุสมาน แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ยังคงยึดรถยนต์ไปเก็บรักษาไว้ที่จำเลยที่ ๓ โจทก์ยื่นคำร้องขอรับทรัพย์สินคืน แต่จำเลยที่ ๓ แจ้งว่า คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีคำสั่งให้ยึดรถยนต์คันดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของนายอุสมาน และต่อมาจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ โดยความเห็นชอบของจำเลยที่ ๔ ดำเนินการประกาศขายทอดตลาดรถยนต์คันดังกล่าวเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๐ และมีผู้เข้าประมูลซื้อรถยนต์คันดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ที่มีคำสั่งให้ยึดรถยนต์ที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยไม่ทำการตรวจสอบรายละเอียดและข้อเท็จจริงให้รอบคอบชัดเจน และการที่จำเลยที่ ๔ ให้ความเห็นชอบการขายทอดตลาดโดยไม่คัดค้านคำสั่งขายทอดตลาดดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย หรือร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ราคา ๔,๖๒๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับจากวันยึดรถยนต์ไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์สินเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์หรือชดใช้ราคาเสร็จ
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ตั้งแต่สอบสวน ยึดทรัพย์และขายทอดตลาดเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ละเอียดรอบคอบ และได้ให้โอกาสโจทก์ชี้แจงตามสมควรแล้ว จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่ นายอุสมานซื้อและรับมอบรถยนต์ไปจากโจทก์แล้ว รถยนต์ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายอุสมาน โจทก์ นำคดีมาฟ้องโดยไม่สุจริต ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ
จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คำฟ้องของโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสี่ในฐานะหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ หรือคำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมาย กำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) จึงเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง
ศาลแพ่งเห็นว่า พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อให้การปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมีประสิทธิภาพมากขึ้น จำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการปราบปรามผู้กระทำผิดตามกฎหมายดังกล่าวขึ้นโดยเฉพาะ เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ มีคำสั่งให้ตรวจสอบทรัพย์สินของนายอุสมาน ตามมาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ เนื่องจากมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นทรัพย์สินเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์ไว้ ๑ รายการ คือ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยี่ห้อนิสสัน และคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ซึ่งอยู่ในสังกัดจำเลยที่ ๑ มีบทบัญญัติมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจในการออกคำสั่งหรือมีมติใดๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคล คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินพิจารณาแล้วเห็นว่า รถยนต์คันดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของนายอุสมาน จึงมีมติให้ยึดทรัพย์ดังกล่าวไว้ชั่วคราวโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ และภายหลังยึดรถยนต์คันดังกล่าวไว้แล้ว จำเลยที่ ๒ เห็นว่ารถยนต์เป็นของเสีย ไม่เหมาะที่จะเก็บรักษาไว้หรือหากเก็บรักษาไว้จะเป็นภาระแก่ทางราชการมากกว่าจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น จึงมีคำสั่งให้นำออกขายทอดตลาดโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๒๔ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น เห็นได้ว่า การออกคำสั่งของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและจำเลยที่ ๒ เป็นการใช้มาตรการเพื่อริบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ อันเป็นมาตรการที่ต่อเนื่องจากกระบวนยุติธรรมทางอาญา ซึ่งมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หากโจทก์เห็นว่าการดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและจำเลยทั้งสี่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะด้วยประการใดๆ โจทก์ก็ชอบที่จะยกขึ้นต่อสู้เพื่อให้ศาลยุติธรรมมีคำสั่งในคดีที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องได้ตามมาตรา ๒๘ และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเห็นได้ว่า พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มีเจตนารมณ์ที่จะให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบอำนาจรัฐในการใช้มาตรการริบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและจำเลยทั้งสี่ จึงไม่ใช่อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองอันจะอยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ตรวจสอบทรัพย์สินและมีคำสั่งยึดรถยนต์ของโจทก์ โดยเห็นว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของนายอุสมานผู้ต้องหาในคดียาเสพติด และการขายทอดตลาดรถยนต์ที่ยึดไว้โดยมีจำเลยที่ ๔ ให้ความเห็นชอบกับการขายทอดตลาดดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ มิใช่อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แม้กฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่กำหนดการกระทำที่มีลักษณะความผิดและโทษทางอาญาไว้ก็ตาม การที่จำเลยทั้งสี่ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สิน ยึดทรัพย์และขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดไว้ดังกล่าว จึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองตามที่กฎหมายเฉพาะให้อำนาจไว้ คดีนี้จึงเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แต่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาได้ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ มีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินของนายอุสมาน สะแลแมง ผู้ต้องหาในคดียาเสพติด คือ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยี่ห้อนิสสัน รุ่นแฟร์เลดี้ แซด ซึ่งโจทก์ได้โต้แย้งว่ารถยนต์ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของนายอุสมาน แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์และโจทก์ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดกับนายอุสมาน แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ยังคงยึดรถยนต์คันดังกล่าวไป โจทก์ยื่นคำร้องขอรับทรัพย์สินคืน แต่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีคำสั่งให้ยึดรถยนต์คันดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของนายอุสมาน และต่อมาจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ โดยความเห็นชอบของจำเลยที่ ๔ ได้ขายทอดตลาดรถยนต์ไป การกระทำของจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ที่มีคำสั่งให้ยึดรถยนต์ที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยไม่ตรวจสอบรายละเอียดและข้อเท็จจริงให้รอบคอบชัดเจน และการที่จำเลยที่ ๔ ให้ความเห็นชอบการขายทอดตลาด เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ หรือชดใช้ราคาพร้อมดอกเบี้ย และชำระค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์สิน ส่วนจำเลยทั้งสี่ให้การโดยสรุปว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ละเอียดรอบคอบ และได้ให้โอกาสโจทก์ชี้แจงตามสมควรแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง นายอุสมานซื้อและรับมอบรถยนต์ไปจากโจทก์แล้ว รถยนต์ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายอุสมาน โจทก์นำคดีมาฟ้องโดยไม่สุจริต ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ เห็นว่า พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ ตราขึ้นเพื่อให้การปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยกำหนดมาตรการต่างๆ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการปราบปรามผู้กระทำผิดตามกฎหมายดังกล่าวขึ้นโดยเฉพาะ ได้แก่ มาตรการในการตรวจสอบทรัพย์สินที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบทรัพย์สิน และการยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นขั้นตอนที่นำไปสู่การยื่นคำร้องของพนักงานอัยการต่อศาลยุติธรรมตามมาตรา ๒๗ เพื่อให้ศาลไต่สวนและสั่งริบทรัพย์สินนั้นตามมาตรา ๒๙ โดยจะยื่นคำร้องไปพร้อมกับคำฟ้องหรือในเวลาใดก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา หรือถ้ามีเหตุอันควรจะยื่นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก็ได้ แต่ในกรณีไม่อาจดำเนินคดีได้ภายในสองปีนับแต่วันที่การกระทำความผิดเกิดและไม่อาจจับตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ ก็ให้ทรัพย์สินที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามมาตรา ๓๒ วรรคสอง การดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นกระบวนการต่อเนื่องกับการดำเนินกระบวนยุติธรรมทางอาญาในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และศาลยุติธรรมย่อมมีอำนาจในการตรวจสอบขั้นตอนกระบวนการดังกล่าว ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๒ และคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีคำสั่งให้ยึดรถยนต์ และให้นำรถยนต์ออกขายทอดตลาด จึงเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายบารมี อัมพรตระกูล โจทก์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ที่ ๑ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ที่ ๒ สำนักตรวจสอบทรัพย์สินคดียาเสพติด ที่ ๓ กระทรวงการคลัง ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??

??

??

??

Share