แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗/๒๕๕๒
วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๒
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดลำพูน
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ นายวิจิตรหรือวิจิตร์ แซ่เฮ้ง ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องกรมที่ดิน ที่ ๑ กระทรวงมหาดไทย ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๑๒๖/๒๕๕๐ ซึ่งศาลปกครองกลางกำหนดให้อธิบดีกรมที่ดินเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๓๙๗๔ ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เนื้อที่ ๓๐ ไร่ ๓ งาน ๓๓ ตารางวา โดยซื้อมาจากนายสุภาพ กวีกรณ์ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ ต่อมาวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือที่ มท ๐๕๑๖.๒/๑๑๗๐๙ ลงวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๐ แจ้งคำสั่งที่ ๑๓๑๓/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวออกโดยคลาดเคลื่อน บางส่วนของที่ดินทับป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าแม่อาว” และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่จนเหลือเนื้อที่ดินสุทธิ ๒๗ ไร่ ๓ งาน ๘๐ ตารางวา ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะผู้มีอำนาจหน้าที่ในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในฐานะผู้มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับหรือควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกคำสั่งโดยไม่มีอำนาจและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย เพราะเนื้อที่ดินและรูปแผนที่ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวได้สำรวจ ตรวจสอบ และออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยถูกต้องตามกฎหมาย ก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะมีคำสั่งแก้ไขและโต้แย้งสิทธิของผู้ฟ้องคดี ขอให้เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑๓๑๓/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ที่ให้แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๓๙๗๔ ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เพิกถอนคำสั่งของรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่เห็นว่าคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑๓๑๓/๒๕๕๐ เป็นการชอบแล้ว และเพิกถอนคำสั่งยกอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งของผู้ฟ้องคดี ตามหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง ที่ มท ๐๕๑๖.๒/๒๒๐๗๖ ลงวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๐
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า จังหวัดลำพูนมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ลพ ๐๐๑๙.๕/๑๑๘๖๖ ลงวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๖ ส่งเรื่องกรณีกลุ่มปัญหาที่ดินบ้านพระบาท หมู่ที่ ๖ ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เกี่ยวกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๓๙๗๒ เลขที่ ๓๙๗๓ เลขที่ ๓๙๗๔ (ที่ดินแปลงพิพาท) เลขที่ ๓๙๗๕ เลขที่ ๓๙๗๖ เลขที่ ๔๑๖๘ และเลขที่ ๔๑๖๙ ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน มีเนื้อที่บางส่วนอยู่ในเขตป่าไม้ (ป่าสงวนแห่งชาติและป่าไม้ถาวร) ให้กรมที่ดินพิจารณาดำเนินการตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน รองอธิบดีกรมที่ดินซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มอบหมายมีคำสั่งที่ ๔๐๔/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๔๓ คณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นว่าตำแหน่งที่ตั้งของที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. แปลงพิพาทไม่อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติประกอบกับพื้นที่ดินจริงในกลุ่มบริเวณใกล้เคียง น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวได้เป็นพื้นที่ซึ่งส่งมอบให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเข้าดำเนินการ จึงไม่มีเหตุที่จะต้องดำเนินการเพิกถอนหรือแก้ไข น.ส. ๓ ก. แปลงพิพาท กรมที่ดินมีหนังสือ ที่ มท ๐๕๑๖.๒/๓๙๗๐๒ ลงวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๘ ให้จังหวัดลำพูนส่งสำเนาระวาง UTM ที่แสดงการขีดเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าแม่อาว” พร้อมหมายสีแสดงตำแหน่ง น.ส. ๓ ก. แปลงพิพาท ปรากฏว่า ตำแหน่งที่ตั้งของที่ดิน น.ส. ๓ ก. แปลงพิพาทบางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าแม่อาว” กรมที่ดินสั่งให้จังหวัดลำพูนตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่ามีแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติทับกับ น.ส. ๓ ก. แปลงพิพาทโดยเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตป่า เนื้อที่ ๒ ไร่ ๓ งาน ๕๐ ตารางวา คงเหลือที่ดินที่อยู่นอกเขตป่า เนื้อที่ ๒๗ ไร่ ๓ งาน ๘๐ ตารางวา รองอธิบดีกรมที่ดินซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มอบหมายจึงมีคำสั่งที่ ๑๓๑๓/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ให้แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ใน น.ส. ๓ ก. แปลงพิพาท ตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เนื่องจากเห็นว่า น.ส. ๓ ก. แปลงพิพาทออกไปโดยคลาดเคลื่อนบางส่วนออกทับป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าแม่อาว” อันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา ๕๘ และมาตรา ๕๘ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ (ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น) อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีฟังไม่ขึ้น คำสั่งให้แก้รูปแผนที่และเนื้อที่ในที่ดินแปลงพิพาทของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายทุกประการ ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับ สิทธิในทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดี จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งให้แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ใน น.ส. ๓ ก. แปลงพิพาท เนื่องจากการเดินสำรวจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งตำบล ตามนัยมาตรา ๕๘ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายที่ดินได้กำหนดห้ามเจ้าหน้าที่เดินสำรวจเข้าไปในเขตพื้นที่ป่าไม้ถาวร ซึ่งประเด็นแห่งการเพิกถอนเนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการตามกระบวนการ ขั้นตอน และวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด ศาลเพียงเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่ได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์รุกล้ำเขตป่าไม้จริงหรือไม่เท่านั้น โดยไม่จำต้องพิจารณาถึงสิทธิในที่ดินว่าใครมีสิทธิดีกว่ากัน แม้ว่าเจ้าของที่ดินที่ตั้งอยู่ในเขตป่าไม้จะมีสิทธิดีกว่า เช่นเป็นผู้ครอบครองมาก่อนที่จะกำหนดเป็นเขตป่าไม้ถาวรหรือป่าสงวนแห่งชาติโดยมีหลักฐานแสดงการครอบครอง ได้แก่ ส.ค. ๑ หรือใบจอง แต่เอกสารสิทธิที่ได้ออกมาจากการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ย่อมต้องถูกเพิกถอนอยู่ดี ตามนัยมาตรา ๕๘ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งห้ามมิให้เจ้าหน้าที่เดินสำรวจเข้าไปในเขตป่าไม้ แต่เจ้าของที่ดินก็สามารถนำหลักฐานเอกสารที่ดินชั้นต้นไปยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะรายได้ ตามมาตรา ๕๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ อาศัยเหตุผลดังกล่าว จึงเห็นได้ชัดแจ้งว่ามิใช่เป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการโต้แย้งสิทธิในที่ดินว่าที่ดินเป็นของรัฐหรือของผู้ฟ้องคดี แต่เป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย อันเป็นคดีปกครองที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน อันเนื่องมาจากหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำหรือละเว้นการกระทำในการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลปกครองจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาประเด็นข้อพิพาททั้งปวงได้ ดังนั้น คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งศาลจังหวัดลำพูนพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีคำสั่งแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ใน น.ส. ๓ ก. แปลงพิพาท จากเนื้อที่ ๓๐ ไร่ ๓ งาน ๓๓ ตารางวา เป็น ๒๗ ไร่ ๓ งาน ๘๐ ตารางวา ก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว หรือให้ผู้ฟ้องคดีได้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามเนื้อที่ดินเดิมต่อไปหรือเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีนั้น ศาลจำต้องพิจารณาในปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ที่มีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งของที่ดินพิพาทบางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าแม่อาว” หรือเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งแปลงตามที่กล่าวอ้างเป็นสำคัญ อันจะมีผลกระทบต่อสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลซึ่งต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ทรัพย์สิน ประกอบประมวลกฎหมายที่ดิน โดยจะต้องพิจารณาสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของ ผู้ฟ้องคดี และของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมที่ดิน ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือ ศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๓๙๗๔ ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เนื้อที่ ๓๐ ไร่ ๓ งาน ๓๓ ตารางวา โดยซื้อมาจากผู้มีชื่อ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งที่ ๑๓๑๓/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ให้แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่จากเดิมเป็น ๒๗ ไร่ ๓ งาน ๘๐ ตารางวา อ้างว่า น.ส. ๓ ก. ออกโดยคลาดเคลื่อน เนื่องจากบางส่วนของที่ดินทับป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าแม่อาว” ผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย เพราะ น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวได้สำรวจ ตรวจสอบ และออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยถูกต้องตามกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ ๑๓๑๓/๒๕๕๐ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่เห็นว่าคำสั่งที่ ๑๓๑๓/๒๕๕๐ ถูกต้อง และเพิกถอนคำสั่งยกอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งของผู้ฟ้องคดี ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า การออก น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวออกโดยคลาดเคลื่อน เนื่องจากมีเนื้อที่บางส่วนจำนวน ๒ ไร่ ๓ งาน ๕๐ ตารางวา อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าแม่อาว” เป็นการต้องห้ามตามมาตรา ๕๘ และมาตรา ๕๘ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ คำสั่งให้แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ในที่ดินแปลงพิพาทของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งให้แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ใน น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดีอันเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว หรือเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาในปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรืออยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายวิจิตรหรือวิจิตร์ แซ่เฮ้ง ผู้ฟ้องคดี กรมที่ดิน ที่ ๑ กระทรวงมหาดไทย ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน
??
??
??
??
๕