คำวินิจฉัยที่ 30/2550

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๐/๒๕๕๐

วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแพ่ง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๗ นายประยูร อัครบวร ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ ๑ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ ๒ นายทะเบียนส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง สำนักงานทะเบียนธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๓๐๘/๒๕๔๗ ความว่า ขณะเกิดเหตุผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ถือหุ้นและมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทส่งเสริมการค้าเอสเอ็มอี จำกัด ซึ่งมีสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีหนังสือลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๗ แจ้งผู้ฟ้องคดีว่า บริษัทส่งเสริมการค้าเอสเอ็มอี จำกัด ยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมกรรมการและอำนาจกรรมการของบริษัท โดยอาศัยมติของที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ ๑/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๗ ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากการเป็นกรรมการบริษัท หากผู้ฟ้องคดีมีข้อคัดค้านการจดทะเบียนให้ยื่นหนังสือคัดค้านพร้อมเหตุผลและหลักฐานประกอบคำคัดค้านภายในเวลา ๑๐ วัน หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ไม่ได้รับหนังสือคัดค้านภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวหรือคำคัดค้านไม่อาจรับฟังได้หรือหลักฐานประกอบคำคัดค้านไม่อาจเชื่อถือได้ตามกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จะตรวจพิจารณาคำขอจดทะเบียนต่อไป แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ระบุที่อยู่ทางไปรษณีย์ของผู้ฟ้องคดีไม่ชัดเจนทำให้พนักงานไปรษณีย์ไม่สามารถนำส่งให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีได้ทราบเรื่องดังกล่าวหลังจากที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ รับจดทะเบียนตามคำขอของบริษัทฯ ไปแล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงไม่อาจใช้สิทธิคัดค้านการจดทะเบียน ซึ่งต่อมา ผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๗ ลงนามโดยผู้อำนวยการส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลางแจ้งว่า เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๗ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีคำสั่งรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการตามคำขอของบริษัทฯ ไว้แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๑๙ เนื่องจากเห็นว่า การดำเนินการจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๗ เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ข้อบังคับของบริษัทและระเบียบที่เกี่ยวข้อง หากไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง ขอให้อุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งภายใน ๑๕ วันนับแต่วันได้รับหนังสือ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ว่า คำสั่งรับจดทะเบียนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๑๙ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ยืนยันตามความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่รับจดทะเบียนเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการออกคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่รับจดทะเบียนตามคำขอของบริษัทฯ ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๗ และมาตรา ๓๐ เนื่องจาก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ไม่ให้โอกาสผู้ฟ้องคดีได้ทราบข้อเท็จจริงและมีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานอย่างเพียงพอ เพราะหนังสือแจ้งการจดทะเบียนที่มีถึงผู้ฟ้องคดีระบุที่อยู่ของผู้ฟ้องคดีไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่ทราบถึงการพิจารณารับจดทะเบียนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ทั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ยังเร่งรัดการรับจดทะเบียนตามคำขอโดยไม่มีเหตุเร่งด่วนหรือเหตุอื่นที่จะอ้างได้ตามกฎหมาย ทั้งที่ยังไม่ครบกำหนดเวลายื่นหนังสือคัดค้านของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการใช้อำนาจที่ขาดความเป็นกลางและไม่รับฟังพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงก่อนพิจารณามีคำสั่งรับจดทะเบียน นอกจากนี้ การรับจดทะเบียนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ยังเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัทไม่เป็นไปตามขั้นตอนของข้อบังคับของบริษัท และระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง ว่าด้วยการจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ. ๒๕๓๘ และเป็นการจดทะเบียนตามมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงเป็นกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดและเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งดังนี้
๑. ให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการตามคำร้องขอของบริษัทฯ
๒. ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ยืนยันความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี และ
๓. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท จากกรณีผู้ฟ้องคดีถูกเลิกจ้างอันเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีคำสั่งรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการ ทำให้ฝ่ายสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) อาศัยเป็นช่องทางเรียกประชุมกรรมการบริษัท และมีมติเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีในฐานะลูกจ้างของบริษัทฯ เป็นผลให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากการเป็นกรรมการผู้จัดการ
ศาลปกครองกลางเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีฟ้องรวม ๒ ข้อหาคือ ข้อหาที่ ๑ ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการของบริษัทฯ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และข้อหาที่ ๒ ผู้ฟ้องคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้าง ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำสั่งลงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๘ ไม่รับคำฟ้องในข้อหาที่ ๒ ไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่าเป็นคดีพิพาท อันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างบริษัทฯ ซึ่งเป็นนายจ้าง กับผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นลูกจ้าง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๕) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ ผู้ฟ้องคดีมีคำร้องลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ อุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางที่ไม่รับคำฟ้องบางข้อหา (ข้อหาที่ ๒ ) ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ ๓๘๕/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ให้ศาลปกครองกลางรับคำฟ้องในข้อหาที่ ๒ ไว้พิจารณา โดยเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีที่ ๓ ในการรับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมกรรมการ อำนาจกรรมการของบริษัทฯ โดยผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ในการรับจดทะเบียนดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องพ้นจากการเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทดังกล่าว จึงมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท มิใช่กรณีผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้บริษัทฯ รับผิดตามสัญญาจ้าง เนื่องจากมีมติเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด กรณีเป็นการฟ้องให้หน่วยงานทางปกครองรับผิดต่อผู้ฟ้องคดีในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นคดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งคดีตามข้อหาดังกล่าวมีประเด็นเกี่ยวพันกับข้อหาที่ ๑ ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งรับคดีในส่วนข้อหาที่ ๒ ไว้พิจารณา
ในส่วนข้อหาที่ ๑ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลลงวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๔๘ โต้แย้งว่า คดีนี้ (ข้อหาที่ ๑ ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณา) เป็นคดีโต้แย้งเกี่ยวกับมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นไปยังสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อดำเนินการส่งให้ศาลในความรับผิดชอบทำความเห็น และมีคำสั่งให้รอการพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวกับการเรียกค่าเสียหายในข้อหาที่ ๒ ไว้จนกว่าจะทราบผลการพิจารณาของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ซึ่งต่อมาคณะกรรมการฯ มีคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๙/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๙ วินิจฉัยว่าคดีของศาลปกครองกลางหมายเลขดำที่ ๑๓๐๘/๒๕๔๗ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีข้อหาที่ ๑ ออกจากสารบบความ สำหรับข้อหาที่ ๒ ได้สั่งรับไว้พิจารณาไปส่วนหนึ่งตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด
อนึ่ง สำหรับคดีตามข้อหาที่ ๒ ซึ่งศาลปกครองกลางรับคำฟ้องไว้พิจารณา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำให้การลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ให้การว่า การดำเนินการของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครในการพิจารณาและรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการของบริษัทฯ เป็นการดำเนินการที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง นายทะเบียนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และการมีมติแก้ไขเพิ่มเติมกรรมการและอำนาจกรรมการของบริษัทฯ นายทะเบียนมีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบตามที่กำหนดไว้เท่านั้น หากมีความเสียหายเกิดขึ้นดังที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง ความเสียหายย่อมไม่ได้เกิดจากการที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนให้กับบริษัทฯ ผู้ฟ้องคดีต้องไปฟ้องร้องเอาจากผู้ถือหุ้น กรรมการหรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวเอง
ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้มีประเด็นที่มีมูลความผิดเกี่ยวเนื่องกับข้อหาที่คณะกรรมการฯ มีคำวินิจฉัยให้คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม และศาลปกครองกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความแล้ว คดีนี้จึงต้องอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ใช้อำนาจตามกฎหมายรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการของบริษัทฯ ทำให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากการเป็นกรรมการของบริษัทฯ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการฟ้องขอให้หน่วยงานทางปกครองรับผิดต่อผู้ฟ้องคดีในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายอยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแพ่งเห็นว่า ขณะที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งว่าคำฟ้องเรียกค่าเสียหายอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นนั้น ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งรับฟ้องในข้อหาที่มีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการบริษัท และขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ยืนยันความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีไว้แล้ว เมื่อต่อมาคณะกรรมการฯ มีคำวินิจฉัยว่า คำฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งและขอเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งประเด็นตามข้อหาดังกล่าวนั้นเป็นประเด็นหลักที่จะวินิจฉัยต่อไปว่าค่าเสียหายจากการกระทำดังกล่าวมีเพียงใด ดังนั้น คำฟ้องเรียกค่าเสียหายซึ่งเป็นมูลความที่เกี่ยวเนื่องกันย่อมอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมเช่นเดียวกัน อีกทั้งการแยกดำเนินคดีในข้อหาอันเป็นหลักซึ่งอาจก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องในค่าเสียหายที่ศาลยุติธรรม แต่ข้อหาเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำดังกล่าวอันเป็นข้อหารองกลับต้องไปดำเนินคดีที่ศาลปกครองกลาง ย่อมก่อให้เกิดภาระแก่คู่ความโดยใช่เหตุ หากดำเนินคดีทุกข้อหาในศาลเดียวกันย่อมเป็นผลดีแก่ประชาชนยิ่งกว่า จึงเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า ขณะเกิดเหตุผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการผู้จัดการบริษัทส่งเสริมการค้าเอสเอ็มอี จำกัด ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บริษัทฯ ยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมกรรมการและอำนาจกรรมการบริษัทโดยอาศัยมติของที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ ๑/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๗ ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากการเป็นกรรมการบริษัท ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือแจ้งเรื่องดังกล่าวแก่ผู้ฟ้องคดีและแจ้งว่าหากมีข้อคัดค้านการจดทะเบียนให้ยื่นหนังสือคัดค้านพร้อมเหตุผลและหลักฐานประกอบภายในเวลาที่กำหนด แต่ระบุที่อยู่ทางไปรษณีย์ของผู้ฟ้องคดีไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ฟ้องคดีทราบเรื่องดังกล่าวหลังจากที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ รับจดทะเบียนตามคำขอของบริษัทฯ ไปแล้วและไม่อาจใช้สิทธิคัดค้าน ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีคำสั่งรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการตามคำขอของบริษัทฯ ผู้ฟ้องคดีจึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ว่า การจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๗ นั้นเป็นการเรียกประชุมโดยผู้ถือหุ้น มิใช่โดยผู้จัดการบริษัทฯ การประชุมและมติที่ประชุมดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งรับจดทะเบียนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๑๙ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ยืนยันตามความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่รับจดทะเบียนเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ทั้งขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัทไม่เป็นไปตามขั้นตอนของข้อบังคับบริษัทและระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง ว่าด้วยการจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ. ๒๕๓๘ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการตามคำร้องขอของบริษัทฯ ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายจากกรณีผู้ฟ้องคดีถูกเลิกจ้างอันเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีคำสั่งรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการ ทำให้ฝ่ายสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) อาศัยเป็นช่องทางเรียกประชุมกรรมการบริษัท และมีมติเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีในฐานะลูกจ้างของบริษัทฯ เป็นผลให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากการเป็นกรรมการผู้จัดการ ซึ่งในข้อหาส่วนแรกที่ผู้ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการบริษัท และขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ยืนยันความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และให้ยกอุทธรณ์ คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลมีคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๙/๒๕๔๙ แล้วว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ศาลปกครองกลางมีคำสั่งลงวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๙ จำหน่ายคดีในข้อหาดังกล่าวออกจากสารบบความเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีไปฟ้องยังศาลยุติธรรมที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒
คดีนี้จึงมีประเด็นต้องพิจารณาเฉพาะในข้อหาที่ ๒ ที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายจากกรณีผู้ฟ้องคดีถูกเลิกจ้างอันเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีคำสั่งรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการ ทำให้ฝ่ายสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) อาศัยเป็นช่องทางเรียกประชุมกรรมการบริษัทและมีมติเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีในฐานะลูกจ้างของบริษัทฯ เป็นผลให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากการเป็นกรรมการผู้จัดการ เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีในข้อหานี้สืบเนื่องมาจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการของบริษัทฯ ทำให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากการเป็นกรรมการของบริษัทฯ และอ้างว่าการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ ๑/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๗ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การรับจดทะเบียนตามมติที่ประชุมดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยนั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า การประชุมและมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ ๑/๒๕๔๗ ดังกล่าวชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัทหรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการที่พิพาทซึ่งที่ประชุมกรรมการบริษัทนำไปใช้เป็นเหตุเลิกจ้างผู้ฟ้องคดี และผู้ฟ้องคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างเพราะเหตุดังกล่าวได้ เมื่อบริษัทฯ เป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าเพื่อแสวงหากำไรและเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก รัฐจึงได้กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้การก่อตั้ง การดำเนินกิจการ ตลอดจนการเลิกกิจการของนิติบุคคลต้องเป็นไปตามขั้นตอนและจดทะเบียน หากมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็ต้องนำความไปแจ้งต่อนายทะเบียนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรับรองสิทธิว่านิติบุคคลนั้นเป็นบุคคลตามกฎหมาย มีความสามารถที่จะทำนิติกรรมได้และเพื่อเปิดเผยให้บุคคลภายนอกได้รับรู้ถึงสถานะ อำนาจหน้าที่ของกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้นๆ ซึ่งกระบวนการและขั้นตอนตามกฎหมายนี้เป็นไปเพื่อรับรองสิทธิของนิติบุคคลในทางแพ่งเท่านั้น มิใช่เป็นเรื่องทางปกครอง สถานภาพของผู้ฟ้องคดีจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ต้องเป็นไปตามความประสงค์ของผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นหลักซึ่งเป็นเรื่องทางแพ่ง มิใช่อยู่ที่การรับจดทะเบียนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เมื่อศาลจำต้องพิจารณาถึงสิทธิในทางแพ่งเป็นสำคัญแล้วข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายประยูร อัครบวร ผู้ฟ้องคดี กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ ๑ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ ๒ นายทะเบียน ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง สำนักงานทะเบียนธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ดิเรกพล วัฒนะโชติ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??

??

??

??

Share