แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๖/๒๕๕๐
วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๐
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองเชียงใหม่
ระหว่าง
ศาลจังหวัดพะเยา
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองเชียงใหม่โดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้อง เพราะเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้วศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๔๙ นายพิรุฬห์ ผลมาก ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายทอง ผลมาก ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ ๑ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๘/๒๕๔๙ ความว่า ผู้ฟ้องคดีครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๒๕๖๙ ตำบลดงเจน อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ ๒ ไร่ (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นตำบลท่าวังทอง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ต่อมามีพระราชกฤษฏีกากำหนดเขตที่ดินตำบลท่าวังทอง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน รวมถึงที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดีทั้งแปลงถูกกำหนดให้อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ต่อมาสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดพะเยาซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าวคือ ส.ป.ก. ๔-๐๑ แปลงที่ ๓๙ กลุ่มที่ ๙๕๗ เนื้อที่ ๑-๑-๖๘ ไร่ ให้แก่นายสมชาติ ชุมคำลือ ส.ป.ก. ๔-๐๑ แปลงที่ ๔ กลุ่มที่ ๑๓๙๘ เนื้อที่ ๐-๒-๓๘ ไร่ ให้แก่นายเลิศ คำไหว และ ส.ป.ก. ๔-๐๑ แปลงที่ ๕ กลุ่มที่ ๑๓๙๘ เนื้อที่ ๐-๓-๙๙ ไร่ ให้แก่นายประยุทธ สุทธิกุลบุตร รวม ๓ แปลง การออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ทั้งสามฉบับทับที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดี โดยไม่มีการสอบสวนสิทธิ พิสูจน์การทำประโยชน์และการได้มาซึ่ง น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาและหัวหน้าสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดพะเยาขอให้เพิกถอนหนังสือ ส.ป.ก. ๔-๐๑ ทั้งสามฉบับดังกล่าว ต่อมาปฏิรูปที่ดินจังหวัดพะเยามีหนังสือลงวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๔๖ แจ้งผลการพิจารณาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่าผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดีมีตำแหน่งตรงกับที่ดินตาม ส.ป.ก. ๔-๐๑ ทั้งสามฉบับ เมื่อผู้ฟ้องคดีพิสูจน์ไม่ได้ ประกอบกับจังหวัดพะเยาตรวจสอบแล้วเชื่อได้ว่าเกษตรกรผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ทั้งสามรายได้ถือครองและเข้าทำประโยชน์ในที่ดินอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และได้รับคัดเลือกให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินโดยถูกต้อง จึงไม่มีเหตุจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดพะเยาพิจารณายกเลิกการจัดที่ดิน และเพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ทั้งสามฉบับ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เนื่องจาก น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดีเป็นเอกสารสิทธิที่ออกตามประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งออกให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวอย่างต่อเนื่องด้วยความสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของมาโดยตลอด ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองสมคบกับผู้ได้รับ ส.ป.ก. ๔-๐๑ ทั้งสามราย จนทำให้ได้รับการคัดเลือกเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีไม่มีหน้าที่ต้องพิสูจน์ดังที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้าง แต่เป็นหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองต้องพิสูจน์ว่าที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวไม่ได้ออกทับที่ดิน ตาม น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดี เพราะ น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดีออกมาก่อนพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองที่ว่ายังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะนำเรื่องเสนอคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดพะเยาและให้ยกเลิกการจัดที่ดิน รวมทั้งเพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ทั้งสามแปลง ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๒๙,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย และค่าเสียหายเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท นับจากวันฟ้องจนถึงวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีคำสั่งเพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑
ก่อนฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๗ ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กับผู้ได้รับ ส.ป.ก. ๔-๐๑ ทั้งสามรายต่อศาลจังหวัดพะเยา เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๔๖๓/๒๕๔๗ แต่ศาลจังหวัดพะเยามีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาโดยเห็นว่าเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง โจทก์ (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวและศาลจังหวัดพะเยามีคำสั่งรับอุทธรณ์ ต่อมาศาลจังหวัดพะเยาตรวจอุทธรณ์แล้วเห็นว่า เป็นกรณีที่โจทก์ (ผู้ฟ้องคดี) จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิม และมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ (ผู้ฟ้องคดี)
ศาลจังหวัดพะเยามีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา โดยเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) (๓) คดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง
ศาลปกครองเชียงใหม่เคยมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา เนื่องจากผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องเมื่อพ้นระยะเวลาตามมาตรา ๔๙ และ ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองเชียงใหม่ ซึ่งต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ ๗๖๖/๒๕๔๙ ว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดจากการที่ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกหนังสือ ส.ป.ก. ๔-๐๑ อนุญาตให้เอกชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน แต่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของผู้ฟ้องคดี กรณีตามข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีนี้ ศาลจำต้องพิจารณาวินิจฉัยให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม น.ส. ๓ ก. โดยชอบด้วยกฎหมายหรือเอกชนดังกล่าวเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ จึงมีเนื้อหาแห่งคดีเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมมิใช่ศาลปกครอง ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๖๓/๒๕๔๗, ๕/๒๕๔๘ และ ๒๐/๒๕๔๘ การที่ศาลปกครองเชียงใหม่ฟังข้อเท็จจริงในสำนวนคดีและนำประเด็นแห่งคดีขึ้นพิจารณาตามรูปคดีโดยมิได้ปฏิบัติตามนัยมาตรา ๑๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ด้วยการรอการพิจารณาไว้ชั่วคราวพร้อมทั้งจัดทำความเห็นในเรื่องของเขตอำนาจศาลส่งไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามนัย ข้อ ๑๑๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยการพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ จึงมีคำสั่งยกคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาของศาลปกครองเชียงใหม่และให้ศาลปกครองเชียงใหม่ดำเนินการตามมาตรา ๑๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ต่อไปศาลปกครองเชียงใหม่มีความเห็นพ้องตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือ
ศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเอกชน ยื่นฟ้องสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ ๑ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ รวม ๓ ฉบับ ทับที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดี และจัดที่ดินดังกล่าวให้กับเกษตรกรรายอื่นเข้าทำประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีการสอบสวนสิทธิ พิสูจน์การทำประโยชน์และการได้มาซึ่ง น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือขอให้เพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ดำเนินการ เนื่องจากเห็นว่าไม่มีเหตุจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดพะเยาพิจารณายกเลิกการจัดที่ดินและเพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ เพราะผู้ฟ้องคดีพิสูจน์ไม่ได้ว่าที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดีมีตำแหน่งตรงกับที่ดินตาม ส.ป.ก. ๔-๐๑ ดังกล่าว และเกษตรกรผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ได้ถือครองและเข้าทำประโยชน์ในที่ดินอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดและได้รับคัดเลือกให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินโดยถูกต้องแล้ว อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองสมคบกับผู้ได้รับ ส.ป.ก. ๔-๐๑ จนทำให้ได้รับการคัดเลือกเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ผู้ฟ้องคดีไม่มีหน้าที่ต้องพิสูจน์ดังที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้าง แต่เป็นหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองต้องพิสูจน์ว่าที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวไม่ได้ออกทับที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดี เพราะ น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดีออกมาก่อนพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายเนื่องจากไม่สามารถเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดีได้ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองที่ว่ายังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะนำเรื่องเสนอคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดพะเยา ให้ยกเลิกการจัดที่ดินและเพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ดังกล่าว รวมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ดำเนินการให้มีการออกคำสั่งเพิกถอนส.ป.ก. ๔-๐๑ รวม ๓ ฉบับ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง แต่เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ทับที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดี และจัดที่ดินดังกล่าวให้กับเกษตรกรรายอื่นเข้าทำประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีการสอบสวนสิทธิ พิสูจน์การทำประโยชน์และการได้มาซึ่ง น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดี อันเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีที่ฟ้องคดีต่อศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดี การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองที่ว่ายังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะนำเรื่องเสนอคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดพะเยา ให้ยกเลิกการจัดที่ดินและเพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ดังกล่าว รวมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญแล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปได้ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายพิรุฬห์ ผลมาก ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายทอง ผลมาก ผู้ฟ้องคดี สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ ๑ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปัญญา ถนอมรอด (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายปัญญา ถนอมรอด) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??
??
??
??
๕