แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๑๗/๒๕๔๙
วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๙
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง
ศาลปกครองสงขลา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดตรัง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองสงขลาโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๘ นายประเสริฐ ชูชม ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองสงขลา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๓๙/๒๕๔๘ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๕ พันตำรวจตรี ปกป้อง ท่อแก้ว กับพวกรวม๘คน ซึ่งอยู่ประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ได้ทำการจับกุมผู้ฟ้องคดีกับพวกรวม ๓ คน ในความผิดตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พร้อมยึดเรือประมงและอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้เป็นของกลางซึ่งต่อมาผู้ฟ้องคดีกับพวกถูกฟ้องต่อศาลจังหวัดตรัง ศาลจังหวัดตรังมีคำพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดผู้ฟ้องคดีจึงติดต่อขอรับเรือประมงพร้อมอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ถูกยึดไว้เป็นของกลางคืน แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถคืนให้ผู้ฟ้องคดีได้เนื่องจากเรือประมงและอุปกรณ์ต่าง ๆ จมอยู่ใต้น้ำและมีสภาพทรุดโทรมเสียหายมากไม่สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้ดังเดิมผู้ฟ้องคดีจึงแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง และมีหนังสือขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีและสถานีตำรวจภูธรจังหวัดตรังชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำของพันตำรวจตรี ปกป้อง ท่อแก้ว กับพวก ต่อมาตำรวจภูธรภาค ๙ ได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาว่า พันตำรวจตรี ปกป้อง ท่อแก้ว กับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุม ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โดยหลังจับกุมได้ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรังดำเนินการต่อแล้ว จึงไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาของกลางทั้งต่อมาพนักงานสอบสวนได้คืนของกลางให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดในสภาพปกติแล้ว ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับหนังสือดังกล่าว และเห็นว่าการกระทำของพันตำรวจตรี ปกป้อง ท่อแก้ว กับพวก ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดี ที่จับกุมผู้ฟ้องคดีกับพวก โดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และการละเลยไม่ดูแลทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่เป็นของกลาง ทำให้ทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายก่อนศาลในคดีอาญาจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด เป็นการกระทำละเมิดทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองสงขลาขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นจำนวนเงิน ๓๔๐,๗๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า การจับกุมและการดำเนินคดีต่อผู้ฟ้องคดีของเจ้าพนักงานเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมผู้ฟ้องคดีกับพวกและพนักงานสอบสวนผู้เก็บรักษาของกลางไม่ได้กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การใช้อำนาจจับกุมบุคคลผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าและการดูแลรักษาของกลางเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หากมีความเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากการใช้อำนาจดังกล่าวก็เป็นอำนาจของศาลยุติธรรมที่จะตรวจสอบ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ผู้ฟ้องคดียื่นคำชี้แจงว่า คดีนี้เป็นคดีที่พิพาทเกี่ยวกับความรับผิดในทางละเมิดที่เกี่ยวเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการละเมิดก็เป็นผลมาจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติจนเกิดความเสียหายคดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองสงขลาเห็นว่า การเก็บรักษาของกลางเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจตามที่กำหนดไว้ในระเบียบการตำรวจภาค ๑ ระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีลักษณะ ๑๕ การฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีที่ทรัพย์ของกลางเสียหายหรือสูญหาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ตามนัยคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๔๑/๒๕๔๗ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดตรังเห็นว่า เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา๘๕บัญญัติให้เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานที่ยึดสิ่งของใดไว้ในคดีอาญา มีอำนาจยึดไว้จนกว่าคดีถึงที่สุดเมื่อเสร็จคดีแล้วก็ให้คืนแก่ผู้ต้องหาหรือแก่ผู้อื่นซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของนั้น เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น ดังนั้น การดูแลรักษาของกลางในคดีอาญา เป็นการดำเนินการของเจ้าพนักงานตำรวจที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดให้อำนาจไว้เป็นการเฉพาะคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันสืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นราษฎรยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐว่า เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีจับกุมผู้ฟ้องคดีกับพวกในความผิดตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐พร้อมยึดเรือประมงและอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้เป็นของกลางแล้วส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี แต่ศาลจังหวัดตรังมีคำพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด ผู้ฟ้องคดีติดต่อขอรับเรือประมงพร้อมอุปกรณ์ที่ถูกยึดไว้เป็นของกลางคืน แต่เรือประมงและอุปกรณ์ต่าง ๆ จมอยู่ใต้น้ำมีสภาพทรุดโทรมเสียหายมากผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้ฟ้องคดีกับพวกโดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งยังละเลยไม่ดูแลทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่เป็นของกลาง ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ไม่สามารถนำเรือประมงพร้อมอุปกรณ์ไปใช้ประกอบอาชีพได้ จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมผู้ฟ้องคดีกับพวกและพนักงานสอบสวนผู้เก็บรักษาของกลางไม่ได้กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี การจับกุมและการดำเนินคดีต่อผู้ฟ้องคดีกับพวกเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ส่วนการเก็บรักษาของกลางของพนักงานสอบสวนก็เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติคดีจึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่เห็นว่า การดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้นเป็นขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีอาญาอันอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม ดังนั้น แม้ว่าในขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ คือ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการอาจจะมีการกระทำทางปกครองปะปนอยู่ด้วย แต่ขั้นตอนใดเป็นการกระทำตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง การกระทำในขั้นตอนนั้นก็ย่อมอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม แต่หากการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการกระทำนอกเหนือหรือมิได้กระทำตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเข้าเกณฑ์เป็นการกระทำละเมิดหรือเป็นความรับผิดอย่างอื่นตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒การกระทำนั้นก็จะอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลปกครอง เมื่อคดีนี้เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้ฟ้องคดีกับพวกในความผิดตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ อันเป็นความผิดอาญา โดยใช้อำนาจในการจับกุม ค้น ยึดและพิสูจน์ของกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำผิด จึงเป็นการดำเนินการของเจ้าพนักงานตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดอำนาจไว้เป็นการเฉพาะ การที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าในระหว่างการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีในการจับกุมผู้ฟ้องคดีกับพวกโดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และละเลยไม่ดูแลทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่เป็นของกลาง ทำให้ทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย จึงเป็นคดีพิพาทที่เกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันสืบเนื่องจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม ดังนั้น การฟ้องเรียกค่าเสียหายของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการตามขั้นตอนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาคดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายประเสริฐ ชูชม ผู้ฟ้องคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ชาญชัย ลิขิตจิตถะ (ลงชื่อ) วิชัย วิวิตเสวี
(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน
๕