คำวินิจฉัยที่ 10/2548

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐/๒๕๔๘

วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดสระแก้ว
ระหว่าง
ศาลปกครองระยอง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสระแก้วโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
นายวิรัตน์ ประสาทศรี โจทก์ ได้ยื่นฟ้อง เทศบาลตำบลวังน้ำเย็น จำเลย ต่อศาลจังหวัดสระแก้ว เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ม ๓๒๖/๒๕๔๗ ความว่า จำเลยได้จัดทำท่อระบายน้ำริมถนนสายสระแก้ว – จันทบุรี ระหว่างกิโลเมตรที่ ๑๑๒ ถึงกิโลเมตรที่ ๑๑๓ ฝั่งขวาของถนนจากจังหวัดสระแก้วมุ่งหน้าไปจังหวัดจันทบุรี หน้าตลาดตำบลวังน้ำเย็น อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นเขตปกครองท้องที่ของจำเลย โดยทุกระยะ ๑๐ เมตร จะสร้างบ่อระบายน้ำทิ้งและใช้ตะแกรงเหล็กปิดไว้เพื่อให้น้ำจากถนนไหลลงในท่อระบายน้ำใต้ดิน และป้องกันไม่ให้คนหรือสิ่งของตกลงไปในบ่อระบายน้ำทิ้ง ทั้งนี้จำเลยจะต้องจัดทำตะแกรงเหล็กวางบนปากบ่อ ให้มีความพอดีกันและต้องจัดทำบ่ารองรับตะแกรงเหล็กให้พอดีกับตะแกรงเหล็ก ให้มีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยพอที่จะรับน้ำหนักคน สิ่งของหรือรถยนต์ อันเป็นการก่อสร้างตามหลักวิศวกรรม ตามแบบแปลนที่กฎหมายกำหนด แต่จำเลยได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อ ก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบแปลนวิศวกรรมเพื่อความปลอดภัย นำตะแกรงเหล็กไปปิดปากบ่อระบายน้ำทิ้งบริเวณดังกล่าว โดยไม่จัดทำบ่ารองตะแกรงเหล็กบริเวณปากบ่อ และทำตะแกรงเหล็กมีขนาดเล็กกว่าปากบ่อตั้งแต่เริ่มทำการก่อสร้างเรื่อยมา จนกระทั่งวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๔๖ โจทก์ได้ไปยืนบนตะแกรงเหล็กดังกล่าว แต่ตะแกรงเหล็กรับน้ำหนักโจทก์ไม่ได้ โจทก์และตะแกรงเหล็กตกลงไปในบ่อระบายน้ำทิ้งพร้อมกัน เป็นเหตุให้ตะแกรงเหล็กทับขาขวาโจทก์หักหลายท่อน โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๒๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า บริเวณที่เกิดเหตุไม่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย แต่อยู่ในบริเวณไหล่ทางหลวง จำเลยไม่ได้เป็นผู้ก่อสร้าง และไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้ก่อสร้างและอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใด ตะแกรงเหล็กทุกบ่อระบายน้ำทิ้งมีสภาพแข็งแรงปลอดภัยถูกหลักวิศวกรรม ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดได้รับอันตรายจากตะแกรงเหล็กดังกล่าว โจทก์เองได้มาขายไก่ย่างในบริเวณเกิดเหตุเป็นเวลาหลายวันก็ไม่ปรากฏว่าเกิดอุบัติเหตุแต่อย่างใด เหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์เอง อีกทั้งบริเวณไหล่ทางที่เกิดเหตุ ตามมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ ห้ามมิให้ผู้ใดซื้อ ขาย แจกจ่าย หรือเรี่ยไรบนทางจราจรและไหล่ทาง และมาตรา ๒๐ (๑) แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ ห้ามมิให้ปรุงอาหาร ขาย หรือจำหน่ายสินค้าบนถนน หรือในสถานสาธารณะ การที่โจทก์ขายไก่ย่างในบริเวณที่เกิดเหตุแล้วพลัดตกท่อระบายน้ำจึงเกิดจากการที่โจทก์ละเมิดต่อกฎหมายโดยชัดแจ้ง ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกก็เกินความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย และจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสระแก้วพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๕๐ (๓) และมาตรา ๕๑ (๘) กำหนดให้เทศบาลตำบลมีหน้าที่รักษาความสะอาดของถนนหรือทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งการกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ให้มีและบำรุงทางระบายน้ำ เมื่อตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า เหตุละเมิดเกิดจากเทศบาลตำบลวังน้ำเย็น จำเลย ละเว้นไม่จัดทำตะแกรงเหล็กปิดปากบ่อระบายน้ำทิ้งบริเวณหน้าตลาดตำบลวังน้ำเย็น ให้มีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยเพียงพอที่จะรับน้ำหนักคน สิ่งของหรือรถยนต์ไม่ให้ตกลงไปในบ่อระบายน้ำทิ้งที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยจำเลยต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ คดีพิพาทจึงอาจอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเคยวางแนววินิจฉัยไว้ว่า ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร นั้น เป็นการจำกัดประเภทแห่งคดีที่เกิดจากการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง โดยมิได้มุ่งหมายให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ธรรมดา หรือการกระทำละเมิดที่มิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย เมื่อคดีนี้โจทก์อ้างว่าความเสียหายเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ไม่จัดทำตะแกรงเหล็กปิดปากบ่อระบายน้ำทิ้งให้มีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยเพียงพอ อันถือได้ว่าเป็นการกระทำทางกายภาพ กรณีพิพาทจึงไม่ได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรอันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดจากการที่ตะแกรงเหล็กบริเวณปากบ่อของท่อระบายน้ำที่เกิดเหตุมีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงเพียงพอที่จะรับน้ำหนักของคนที่ขึ้นไปยืนบนตะแกรงเหล็กได้ ซึ่งจำเลยมิได้โต้แย้งว่าท่อระบายน้ำที่เกิดเหตุมิได้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของจำเลย เพียงแต่ปฏิเสธว่าไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้ก่อสร้างตั้งแต่เมื่อใดและอยู่ในความรับผิดชอบของใคร เมื่อจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าจำเลยไม่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบท่อระบายน้ำที่เกิดเหตุ จึงรับฟังได้ว่า ท่อระบายน้ำที่เกิดเหตุอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของจำเลย เมื่อท่อระบายน้ำดังกล่าวมีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงเพียงพอที่จะรับน้ำหนักของคนที่ขึ้นไปยืนบนตะแกรงเหล็ก จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า จำเลยละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการดูแลรับผิดชอบท่อระบายน้ำนั้นหรือไม่ เมื่อโจทก์เรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดจากการที่โจทก์ตกลงไปในท่อระบายน้ำ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องที่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร โดยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัตินิยาม “หน่วยงานทางปกครอง” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้น โดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐและให้หมายความรวมถึง หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง และบัญญัตินิยาม “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า (๑) ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง คณะบุคคลหรือผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครอง (๒) คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท คณะกรรมการหรือบุคคลซึ่งมีกฎหมายให้อำนาจในการออกกฎ คำสั่ง หรือมติใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคล และ (๓) บุคคลที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม (๑) หรือ (๒) เทศบาลตำบลวังน้ำเย็น จำเลยในคดีนี้เป็นราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มีอำนาจและหน้าที่ตามมาตรา ๕๐ (๒) มาตรา ๕๑ (๘) แห่งพระราชบัญญัติ เทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๑ ประกอบกับมาตรา ๑๖ (๒) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดให้เทศบาลตำบลมีอำนาจหน้าที่จัดให้มีและบำรุงทางบก ทางน้ำ และ ทางระบายน้ำ อันเป็นกิจการทางปกครองหรือการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองเช่นจำเลยโดยเฉพาะ อำนาจและหน้าที่ดังกล่าวย่อมหมายความรวมถึงการกำหนดแบบแปลนและแบบรูปของทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำที่จะทำการก่อสร้างให้ได้มาตรฐานทางวิศวกรรมเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ควบคุมดูแลให้การก่อสร้างเป็นไปตามแบบแปลนและแบบรูปที่กำหนด และทำนุบำรุงให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้การได้โดยไม่ก่อให้เกิดภยันตรายแก่ชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชนอยู่เสมอด้วย เมื่อคดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จัดทำท่อระบายน้ำริมถนนสายสระแก้ว – จันทบุรี ระหว่างกิโลเมตรที่ ๑๑๒ ถึงกิโลเมตรที่ ๑๑๓ ฝั่งขวาของถนนจากจังหวัดสระแก้วมุ่งหน้าไปจังหวัดจันทบุรี หน้าตลาดตำบลวังน้ำเย็น อำเภอวังน้ำเย็น ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ของจำเลย โดยทุกระยะ ๑๐ เมตร จะสร้างบ่อระบายน้ำทิ้งและใช้ตะแกรงเหล็กปิดไว้เพื่อให้น้ำจากถนนไหลลงท่อระบายน้ำใต้ดินและป้องกันมิให้คนหรือสิ่งของตกลงไปในบ่อระบายน้ำทิ้ง แต่จำเลยด้วยความประมาทเลินเล่อ ละเลยมิได้จัดทำตะแกรงเหล็กปิดวางบนปากบ่อให้มีขนาดพอดีกับปากบ่อ ทั้งมิได้จัดทำบ่ารองรับตะแกรงเหล็กให้มีความมั่นคงแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักคนหรือสิ่งของได้อย่างปลอดภัย เมื่อโจทก์ไปยืนบนตะแกรงเหล็กดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์พลัดตกลงไปในบ่อระบายน้ำทิ้ง ตะแกรงเหล็กทับขาของโจทก์หักหลายท่อน ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจากเหตุดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ย คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง อันเกิดจากการที่จำเลยละเลยต่อหน้าที่ในการดำเนินกิจการทางปกครองหรือการบริการสาธารณะที่กฎหมายกำหนดให้จำเลยต้องปฏิบัติและอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายวิรัตน์ ประสาทศรี โจทก์ เทศบาลตำบลวังน้ำเย็น จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

วัชรินทร์ คัด/ทาน

??

??

??

??

Share