คำวินิจฉัยที่ 2/2548

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒/๒๕๔๘

วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดนครปฐม

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
นางชนิดา สุวรรณเพ็ญ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้อง แขวงการทางนครปฐม ที่ ๑ กรมทางหลวง ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๘๖๔/๒๕๔๖ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๖๓๑๓ ตำบลวัดละมุด อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เนื้อที่ ๒ ไร่ ๑ งาน ๑๖ ตารางวา เมื่อผู้ฟ้องคดีขอรังวัดสอบเขตที่ดินแปลงดังกล่าวปรากฏว่าที่ดินด้านทิศใต้เนื้อที่ ๘๔ ตารางวา ถูกแบ่งเป็นคลองชลประทานซึ่งเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานแจ้งว่าจะจ่ายค่าเวนคืนที่ดินให้ในภายหลัง ส่วนด้านทิศเหนือมีถนนนครชัยศรี – ห้วยพลู (ทางหลวงหมายเลข ๓๒๓๓) ตัดผ่าน โดยเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ได้กันแนวเขตทางหลวงรุกล้ำแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีตลอดแนวเป็นเนื้อที่ ๗๗ ตารางวา และแจ้งแก่ผู้ฟ้องคดีว่าจะไม่มีการจ่ายค่าเวนคืนที่ดินให้ จึงขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจ่ายค่าเวนคืนที่ดินเนื้อที่ ๗๗ ตารางวา ราคาตารางวาละ ๓,๕๐๐ บาท เป็นเงินทั้งสิ้น ๒๖๙,๕๐๐ บาท
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจ่ายค่าเวนคืนที่ดินเพราะที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐมาตั้งแต่ก่อนที่ผู้ฟ้องคดีจะซื้อที่ดินมาเมื่อปี ๒๕๓๘ เนื่องจากขณะที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้รับมอบทางหลวงหมายเลข ๓๒๓๓ มาจากจังหวัดนครปฐมเมื่อปี ๒๕๑๔ ได้มีการปักเสาโทรเลขตามแนวเขตทางหลวงโดยเจ้าของที่ดินเดิมมิได้คัดค้าน ต่อมาเมื่อเสาโทรเลขไม่มีความจำเป็นในการใช้งานในบางช่วงจึงได้มีการถอดทำลาย และเมื่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขออนุญาตปักเสาไฟฟ้าตามแนวเขตทางหลวง เจ้าของที่ดินเดิมก็ไม่คัดค้าน จึงถือว่าเจ้าของที่ดินเดิมอุทิศให้เป็นทางสาธารณประโยชน์โดยปริยาย ที่ดินดังกล่าว จึงตกเป็นของรัฐอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่เป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันมาตั้งแต่ก่อนที่ผู้ฟ้องคดีจะซื้อที่ดินแปลงนี้ แม้การซื้อขายที่ดินของผู้ฟ้องคดีจะมีการจดทะเบียนถูกต้อง ผู้ฟ้องคดีก็คงมีกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนที่อยู่นอกเขตทางหลวงดังกล่าว และในขณะที่ผู้ฟ้องคดีซื้อที่ดินก็ทราบดีว่าที่ดินบางส่วนอยู่ในแนวเขตทางหลวงแต่มิได้มีการโต้แย้งคัดค้าน
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ผู้ฟ้องคดีชี้แจงเรื่องเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินเพราะเป็นที่ดินที่มีเอกสารหลักฐานชัดเจนและถูกต้องมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๕ จนถึงปัจจุบัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้รับมอบทางหลวงหมายเลข ๓๒๓๓ จากจังหวัดนครปฐมเมื่อปี ๒๕๑๔ โดยไม่มีเอกสารสิทธิหรือหลักฐานการอุทิศแต่อย่างใด จึงไม่มีข้อสงสัยว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นของผู้ใด ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจึงเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กันแนวเขตทางหลวงรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยไม่มีการเวนคืนตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ นั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงไม่มีอำนาจในการรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี การรุกล้ำที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างว่าคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ก็เพื่อมิให้ข้อพิพาทในคดีนี้เป็นข้อพิพาททางปกครอง ที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ทั้งนี้เพราะผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมิได้อ้างพยานหลักฐานใด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไร เมื่อผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกันแนวเขตทางหลวงรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองที่ศาลปกครองมีอำนาจรับคดีไว้พิจารณาได้ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดนครปฐมพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตทางหลวงหมายเลข ๓๒๓๓ ที่ได้รับมอบมาจากจังหวัดนครปฐมเมื่อปี ๒๕๑๔ แม้จะไม่ได้ดำเนินการให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการเวนคืนตามกฎหมาย แต่เป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้กล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของทางราชการมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๔ ผู้ฟ้องคดีได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๖๓๑๓ ตำบลวัดละมุด อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม มาจากผู้มีชื่อเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ โดยที่ดินแปลงนี้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจได้ออกโฉนดที่ดินให้เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๑๕ อันเป็นเวลาภายหลังจากเวลาที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตทางหลวงของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง กรณีจึงถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งว่าที่ดินพิพาทที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้กันแนวเขตทางหลวงไว้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอันเป็นการพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะต้องจ่ายเงินค่าเวนคืนที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่ จำต้องฟังให้ได้ความแจ้งชัดเสียก่อนว่าที่ดินในส่วนที่ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้กันแนวเขตไว้เป็นของผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง แม้ในชั้นนี้ยังไม่ปรากฏหลักฐานของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพื่อสนับสนุนคำกล่าวอ้างของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอาจนำพยานเข้าพิสูจน์ในชั้นพิจารณา รูปคดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง กรณีมิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าพนักงานของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐต่อเอกชน ข้อพิพาทดังกล่าวจะต้องได้รับการพิจารณาและพิพากษาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งศาลปกครองไม่มีอำนาจรับคดีนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยได้ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๖๓๑๓ ตำบลวัดละมุด อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เนื้อที่ ๒ ไร่ ๑ งาน ๑๖ ตารางวา โดยซื้อมาจากผู้มีชื่อเมื่อปี ๒๕๓๘ ต่อมาเมื่อผู้ฟ้องคดีขอรังวัดสอบเขตที่ดินแปลงดังกล่าวปรากฏว่าที่ดินด้านทิศเหนือ ซึ่งมีถนนนครชัยศรี – ห้วยพลู (ทางหลวงหมายเลข ๓๒๓๓) ตัดผ่าน ถูกเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กันแบ่งแนวเขตทางหลวงรุกล้ำแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีตลอดแนวเป็นเนื้อที่ ๗๗ ตารางวา และแจ้งว่าจะไม่จ่ายค่าเวนคืนที่ดินให้ จึงขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจ่ายค่าเวนคืนที่ดินที่ถูกกันเป็นแนวเขตทางหลวงดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตทางหลวงหมายเลข ๓๒๓๓ ซึ่งได้รับมอบมาจากจังหวัดนครปฐมตั้งแต่ปี ๒๕๑๔ โดยเมื่อมีการปักเสาโทรเลขตามแนวเขตทางหลวงเจ้าของที่ดินเดิมมิได้คัดค้าน เมื่อเสาโทรเลขไม่มีความจำเป็นในการใช้งานในบางช่วงจึงได้มีการถอดทำลาย และต่อมาการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขออนุญาตปักเสาไฟฟ้าตามแนวเขตทางหลวงเจ้าของที่ดินเดิมก็ไม่คัดค้าน ถือได้ว่าเจ้าของที่ดินเดิมอุทิศให้เป็นทางสาธารณประโยชน์โดยปริยาย ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันมาตั้งแต่ก่อนที่ผู้ฟ้องคดีจะมาซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่ต้องจ่ายค่าเวนคืนที่ดิน เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การไม่ปรากฏว่าได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อเวนคืนที่ดินพิพาท ดังนั้น การที่จะพิจารณาว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองต้องจ่ายค่าที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่นั้น ศาลจำต้องพิจารณาในปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางชนิดา สุวรรณเพ็ญ ผู้ฟ้องคดี แขวงการทางนครปฐม ที่ ๑ กรมทางหลวง ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??

??

??

??

Share