คำวินิจฉัยที่ 28/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๘/๒๕๔๗

วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
นายสำเภา แสงสร้อย โจทก์ ยื่นฟ้องกรมที่ดิน ที่ ๑ นายลำใย ทิมแจ ที่ ๒และนายยงยุทธ ตะโกพร ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๘๐๖/๒๕๔๖ความว่าโจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่ดินว่างเปล่า เนื้อที่ประมาณ ๑๑ ไร่ ๒ งาน ๙๐ตารางวา ตั้งอยู่ หมู่ที่ ๒ ตำบลบางระกำ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โดยโจทก์ได้เข้าครอบครองด้วยการทำนาและขุดบ่อเลี้ยงปลาตลอดมาตั้งแต่ปี ๒๔๙๕ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๓ และภริยาโจทก์ (นางกุหลาบ แสงสร้อย) เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๘๒๕ ตำบลบางระกำ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินของโจทก์ทางทิศใต้ ต่อมา จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๓ ยื่นคำขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๑ ตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดของศาลจังหวัดนครปฐม (คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๓๐๑/๒๕๒๒) ซึ่งในการรังวัดที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้งสามร่วมกันจงใจรังวัดที่ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงได้ยื่นหนังสือคัดค้านการรังวัดที่ดินไว้แล้วแต่ตัวแทนของจำเลยที่ ๑ ไม่ทำการตรวจสอบและยังคงดำเนินการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รุกล้ำที่ดินของโจทก์ต่อไป นอกจากนี้ โจทก์เคยยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้ โดยได้มีการพิสูจน์สิทธิและการทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวของโจทก์ว่าเป็นที่ดินที่สามารถออกโฉนดให้แก่โจทก์ได้ แต่จำเลยที่ ๑ กลับระงับการดำเนินการออกโฉนดโดยปราศจากเหตุอันสมควรอันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งโจทก์ขอสงวนสิทธิ์ในการที่จะดำเนินคดีกับจำเลยที่ ๑ ในส่วนนี้ต่อไป
โจทก์เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ โดยเป็นการนำชี้รุกล้ำที่ดินโจทก์มิได้ตรวจสอบตำแหน่งและอาณาเขตที่ดินให้ละเอียดถี่ถ้วนตามสภาพความเป็นจริงและโดยหลักวิชาการที่ถูกต้องเพื่อให้ทราบถึงตำแหน่งและอาณาเขตที่แท้จริงของที่ดินเสียก่อนแล้วจึงสรุปความเห็น โดยจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ กระทำไปโดยมีเจตนายึดถือครอบครองที่ดินของโจทก์โดยมิชอบ ส่วนจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีหน้าที่ต้องดำเนินการรังวัดออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์แต่กลับงดเว้นและเพิกเฉยไม่ดำเนินการตรวจสอบโดยละเอียดว่าจำเลยที่ ๒และที่ ๓ นำชี้รุกล้ำที่ดินของโจทก์ตามคำคัดค้านหรือไม่ จึงเป็นการกระทำที่งดเว้นการกระทำและบกพร่องต่อหน้าที่ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาห้ามมิให้จำเลยทั้งสามหรือตัวแทนของจำเลยทั้งสามเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์อันเป็นที่ดินว่างเปล่าเนื้อที่ประมาณ ๑๑ ไร่ ๒ งาน ๙๐ ตารางวา ซึ่งตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ ๒ ตำบลบางระกำ อำเภอนครชัยศรีจังหวัดนครปฐม และมีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินทางด้านทิศเหนือของที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๘๒๕ตำบลบางระกำ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ด้วย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากจำเลยที่ ๑ ไม่ได้กระทำละเมิดหรือร่วมกับจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๘๒๕รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ โดยเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ได้กระทำตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งในการยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้แนบสำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงโฉนดที่ดินดังกล่าวหลายฉบับ เช่น สำเนาใบสำคัญแสดงคำพิพากษาคดีถึงที่สุดของศาลจังหวัดนครปฐม คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๓๐๑/๒๕๒๒ ระหว่างนายลำใย ทิมแจ และนายยงยุทธ ตะโกพร โจทก์ นางกุหลาบ แสงสร้อย จำเลย สำเนารายงานกระบวนพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ ๒๖๙/๒๕๒๒ ลงวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ของศาลจังหวัดนครปฐม และสำเนารูปแผนที่ดินวิวาทระหว่างนายลำใย กับพวก โจทก์ นางกุหลาบจำเลย ซึ่งตามแนวเขตที่ดินดังกล่าวแสดงว่าด้านทิศเหนือของที่ดินแปลงดังกล่าวมีแนวเขตติดกับที่ดินแปลงอื่น โดยไม่มีที่ดินว่างเปล่าแต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่มีที่ดินว่างเปล่าที่โจทก์ครอบครองอยู่ที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ทำการรังวัดที่ดินรุกล้ำเข้าไปได้ ส่วนที่โจทก์อ้างว่า ได้ยื่นคำคัดค้านการรังวัดที่ดินแปลงดังกล่าวนั้น เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ได้แจ้งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้โจทก์ทราบแล้วว่าที่ดินที่โจทก์อ้างการครอบครองทำประโยชน์อยู่เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๘๒๕ เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ จึงไม่รับคำคัดค้านของโจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินข้างเคียง การกระทำของจำเลยที่ ๑จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ให้การว่า เคยฟ้องนางกุหลาบ ภริยาโจทก์ ต่อศาลจังหวัดนครปฐม (คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๓๐๑/๒๕๒๒) ในคดีขอแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่๔๘๒๕ ซึ่งจำเลยทั้งสองและนางกุหลาบ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ต่อมา ศาลจังหวัดนครปฐมได้มีคำพิพากษาตามยอมให้มีการแบ่งแยกที่ดิน โดยวินิจฉัยถึงอาณาเขตของที่ดินโฉนดเลขที่๔๘๒๕ ว่า มีอาณาเขตตามที่จำเลยทั้งสอง (ในคดีนี้) ได้นำชี้ไว้ตามแผนที่ฉบับ ลงวันที่ ๓๐พฤษภาคม ๒๕๒๖ และต่อมา โจทก์ในคดีนี้ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนครปฐมขอให้งดการบังคับคดีไว้โดยอ้างเหตุผลว่า จำเลยทั้งสองในคดีนี้นำชี้ที่ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ร้อง(โจทก์ในคดีนี้) อันเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคดีนี้ ซึ่งศาลจังหวัดนครปฐมได้พิจารณาและมีคำสั่งให้ยกคำร้องและให้โจทก์ (จำเลยทั้งสองในคดีนี้)ดำเนินการไปตามแผนที่วิวาทฉบับเดิม รวมทั้งได้มีหนังสือสำคัญแสดงว่าคำพิพากษาคดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม๒๕๔๕ จึงเป็นกรณีที่ศาลได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่๔๘๒๕ ไว้ชัดเจนเป็นยุติและถึงที่สุดและมีผลผูกพันคู่ความในคดีดังกล่าวซึ่งรวมถึงโจทก์ในคดีนี้ นอกจากนี้ จำเลยทั้งสองเคยยื่นฟ้องนางกุหลาบ ที่ ๑ (ภริยาโจทก์ในคดีนี้) นายสำเภาแสงสร้อย ที่ ๒ (โจทก์ในคดีนี้)นายสุเทพ แสงสร้อย ที่ ๓ และนายสมนึก แสงสร้อย ที่ ๔ (บุตรโจทก์ในคดีนี้) เป็นจำเลยในคดีอาญาข้อหาหรือฐานความผิดบุกรุกต่อศาลจังหวัดนครปฐม(คดีอาญาหมายเลขแดงที่๔๗๐๐/๒๕๒๘ และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๔๒๑๕/๒๕๓๐) ซึ่งทั้งสองคดีศาลได้นำพยานหลักฐานในคดีแพ่ง หมายเลขแดงที่ ๓๐๑/๒๕๒๒ โดยเฉพาะรูปแผนที่วิวาท และคำสั่งศาลตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๒๖ ที่ถือว่ายุติและถึงที่สุดมาพิจารณาประกอบการวินิจฉัยคดีอาญาดังกล่าว ข้อกล่าวอ้างที่โจทก์ว่า มีที่ดินว่างเปล่า(ป่าแดง) ที่อยู่ทางด้านทิศเหนือของที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๘๒๕ และได้ครอบครองทำประโยชน์จำนวนเนื้อที่ประมาณ ๑๑ ไร่๒ งาน ๙๐ ตารางวา ไม่เป็นความจริง ที่ดินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๘๒๕ซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิใดๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะนำไปออกโฉนดเป็นที่ดินของตน ทั้งการที่โจทก์นำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๘๒๕ที่ศาลจังหวัดนครปฐมได้มีการพิจารณาวินิจฉัยเป็นอันยุติและถึงที่สุดแล้วมารื้อร้องฟ้องกันใหม่เป็นคดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำอันเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ตามบันทึกการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๘๒๕ ของสำนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐม สาขานครชัยศรีได้ข้อเท็จจริงว่า ที่ดินส่วนที่โจทก์ขอออกโฉนดเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๘๒๕ ตำบลบางระกำ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม จึงไม่มีที่ดินว่างเปล่าดังที่โจทก์กล่าวอ้างและไม่สามารถออกโฉนดให้แก่โจทก์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
ในวันนัดชี้สองสถาน จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลต่อศาลแพ่งว่าจำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ถูกโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าร่วมกับจำเลยที่ ๒และจำเลยที่๓ กระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐม สาขานครชัยศรี ได้ทำการรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ตามคำร้องขอของจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ รุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่โจทก์กล่าวอ้างการครอบครอง ซึ่งโจทก์ถือว่า การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ เป็นการดำเนินการในฐานะตัวแทนผู้มีอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ดังนั้น จำเลยที่ ๑ ฐานะตัวการต้องร่วมรับผิดในการทำละเมิด ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่นๆ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง จึงเห็นว่าอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้เฉพาะส่วนของจำเลยที่ ๑ อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง
โจทก์แถลงว่า คดีนี้เป็นคดีที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่ง
จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ แถลงว่า คดีนี้เป็นคดีที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองเฉพาะส่วนของจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ แต่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่ง
ศาลแพ่งเห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาห้ามมิให้จำเลยทั้งสามหรือตัวแทนของจำเลยทั้งสามเข้ายุ่งเกี่ยวที่ดินของโจทก์ในกรณีที่จะทำการรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๘๒๕ ตำบลบางระกำ อำเภอนครชัยศรีจังหวัดนครปฐม ระหว่างจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๓ และภริยาของโจทก์ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าตัวแทนของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครองก็ตาม แต่ตามคำขอท้ายฟ้องดังกล่าวของโจทก์มุ่งประสงค์เพียงห้ามมิให้จำเลยที่ ๑ หรือตัวแทนของจำเลยที่ ๑ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ายุ่งเกี่ยวที่ดินของโจทก์ในกรณีที่จะทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ โดยไม่มีคำขอในเรื่องเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครองแต่อย่างใด ซึ่งในการวินิจฉัยประเด็นตามที่โจทก์กล่าวอ้างและจำเลยทั้งสามให้การประกอบกับคำขอท้ายฟ้องแล้ว จะต้องวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ว่ามีอยู่อย่างไรหรือไม่ก่อน จึงจะวินิจฉัยถึงเรื่องการรังวัดแบ่งแยกที่ดินรุกล้ำที่ดินของโจทก์หรือไม่ ซึ่งเป็นสิทธิในทรัพย์สินและต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ๔ ประกอบกับประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งกรณีดังกล่าวพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับที่ดิน ดังนั้น คดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในกรณีนี้ได้แก่ ศาลแพ่ง
ศาลปกครองกลางเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครองมีอำนาจหน้าที่รังวัดเพื่อแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือออกโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน โดยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖ (พ.ศ.๒๔๙๗)ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ รวมทั้งระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น โดยเจตนาของโจทก์มีความประสงค์ที่จะให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติงานการรังวัดแย่งแยกกรรมสิทธิ์รวมโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๘๒๕ ว่า ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดครบถ้วนหรือไม่เมื่อมีกรณีการคัดค้านการรังวัด จำเลยที่ ๑ มิได้ทำการไต่สวน สอบสวนโดยถูกต้อง หรือไม่รอบคอบ ไม่เป็นตามกระบวนการตามที่กฎหมายกำหนด กรณีพิพาทคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบกฎหมายอันเนื่องมาจากการกระทำโดยไม่มีอำนาจ หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นคดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ การที่โจทก์มีคำขอให้ศาลพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสามหรือตัวแทนของจำเลยทั้งสามเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ ในกรณีที่จะทำการรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินพิพาท หรือไม่ว่าในกรณีอื่นใดทั้งสิ้น จึงเป็นกรณีที่โจทก์มีคำขอให้ศาลกำหนดคำบังคับสั่งห้ามการกระทำทั้งหมดหรือบางส่วนในการรังวัดหรือดำเนินการอื่นใดในที่ดินของโจทก์ กรณีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน สำหรับการที่จะวินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของจำเลยที่ ๑ กับพวก มีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่าการรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินรุกล้ำที่ดินของโจทก์หรือไม่ ซึ่งเป็นสิทธิในทรัพย์สินที่จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ประกอบกับประมวลกฎหมายที่ดินนั้น กรณีนี้เป็นประเด็นเกี่ยวพันที่ศาลปกครองสามารถวินิจฉัยได้ตามนัยข้อ ๔๑ วรรคสอง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๓ ดังนั้น คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา คือ คดีฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองร่วมกับเอกชนทำละเมิดด้วยการรังวัดที่ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คดีนี้ตามคำฟ้องของโจทก์สรุปได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินว่างเปล่า จำเลยที่๒และที่ ๓ กับภริยาโจทก์ เป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๘๒๕ ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ทางทิศใต้ ต่อมาจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไปขอรังวัดแบ่งแยกโฉนดต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ในการนำชี้รังวัดจำเลยทั้งสามไม่ใช้ความระมัดระวัง ไม่ตรวจสอบให้รอบคอบและทำการนำชี้รังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์อันเป็นการกระทำละเมิด ส่วนจำเลยทั้งสามให้การในทำนองเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของโฉนดเลขที่ ๔๘๒๕ ไม่ได้นำชี้รังวัดรุกล้ำที่ดินของโจทก์ คดีนี้แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองทำละเมิดด้วยการรังวัดที่ดินโดยมิชอบก็ตาม แต่ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่แล้วจึงจะสามารถพิจารณาได้ว่า การนำชี้รังวัดของจำเลยทั้งสามเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองร่วมกับเอกชนทำละเมิดด้วยการรังวัดที่ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของเอกชน ระหว่าง นายสำเภา แสงสร้อย โจทก์ กับกรมที่ดิน ที่ ๑นายลำใย ทิมแจ ที่ ๒ และนายยงยุทธ ตะโกพร ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลแพ่ง

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share