คำวินิจฉัยที่ 6/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖/๒๕๔๗

วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลแขวงชลบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแขวงชลบุรีส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โจทก์ ได้ยื่นฟ้องนายฉัตรชัย โรจนมณเฑียร เป็นจำเลย ต่อศาลแขวงชลบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๙๗/๒๕๔๕ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๖มกราคม ๒๕๓๐ จำเลยซึ่งรับราชการเป็นแพทย์ในสังกัดของโจทก์ ได้ทำสัญญาลาศึกษาหรือฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาศัลยศาสตร์ ณ โรงพยาบาลชลบุรี จังหวัดชลบุรี เป็นระยะเวลา ๓ ปี ด้วยทุนของโรงพยาบาลชลบุรี โดยสัญญาว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาหรือฝึกอบรมแล้ว จำเลยจะเข้ารับราชการหรือเข้าปฏิบัติราชการ ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๒ เท่าของเวลาที่ได้ไปศึกษาหรือฝึกอบรม หากผิดสัญญาจะต้องชดใช้เงินค่าเสียหายจำนวน ๒ เท่าของเงินทุน เงินเดือน เงินเพิ่มหรือเงินค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ทางราชการจ่ายให้ในระหว่างที่ได้ลาศึกษาหรือฝึกอบรม ซึ่งจำเลยได้รับเงินเดือนเต็มจำนวน ตั้งแต่วันที่ ๑มิถุนายน ๒๕๓๐ ถึง ๒๖ มิถุนายน ๒๕๓๓ รวมระยะเวลา ๓ ปี ๒๖ วัน ต่อมา จำเลยได้ทำสัญญาลาศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ประเทศญี่ปุ่น ด้วยทุนประเภท ๒ โดยสัญญาว่าจะเข้ารับราชการต่อไปเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๒ เท่าของเวลาที่ได้รับทุนหรือที่ได้รับเงินเดือน ซึ่งจำเลยได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาหรือฝึกอบรมตั้งแต่วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๓๓ ถึง ๑๕ กันยายน ๒๕๓๔รวมระยะเวลา ๑๑ เดือน ๑๐ วัน หากจำเลยผิดสัญญา จะต้องชดใช้เงินทุน เงินเดือน เงินเพิ่มและเงินค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ทางราชการจ่ายในระหว่างเวลาที่ได้ลาศึกษาหรือฝึกอบรม และจะต้องจ่ายเงินเบี้ยปรับแก่โจทก์อีก ๒ เท่าของเงินที่จำเลยจะต้องชดใช้คืน
ในระหว่างปฏิบัติราชการชดใช้ทุนตามสัญญาทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าว จำเลยได้ขอลาออกจากราชการ ก่อนที่จะปฏิบัติงานชดใช้ทุนครบกำหนดตามสัญญา จำเลยจึงต้องชดใช้เงินที่ได้รับไปทั้งหมด คืนให้แก่ทางราชการ ตามสัญญาฉบับแรก จำนวน ๔๓,๑๖๔.๘๐ บาท และตามสัญญาฉบับที่สอง จำนวน ๒๔๙,๙๘๕.๖๕ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๙๓,๑๕๐.๔๕ บาทซึ่งโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามแล้ว แต่จำเลยไม่นำเงินดังกล่าวมาชำระ จึงทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ ๒๔มิถุนายน ๒๕๔๑ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๔ จำเลยได้นำเงินจำนวน ๒๙๓,๑๕๐.๔๕บาท มาชำระแก่โจทก์ เมื่อหักชำระดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันที่นำมาชำระ เป็นเงินจำนวน ๑๒๓,๓๖๔.๑๓ บาท จึงเหลือชำระเงินต้นจำนวน ๑๖๙,๗๘๖.๓๒ บาท ฉะนั้น คงเหลือเงินต้นค้างชำระจำนวน ๑๒๓,๓๖๔.๑๓ บาท ซึ่งโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระเมื่อวันที่ ๕ตุลาคม ๒๕๔๔ แต่จำเลยกลับเพิกเฉย จึงฟ้องเป็นคดีนี้ต่อศาล ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวน ๑๒๓,๓๖๔.๑๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๓ เมษายน๒๕๔๔ จนถึงวันฟ้อง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๔๙,๖๒๕.๔๘ บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การต่อสู้คดี และยื่นคำร้องว่าคดีนี้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากสัญญาที่โจทก์อ้างนั้นเป็นสัญญาทางปกครอง จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
โจทก์ยื่นคำแถลงต่อศาลแขวงชลบุรีว่า คดีนี้เป็นการฟ้องเรียกเงินตามสัญญาอันเป็นการใช้สิทธิในทางแพ่ง และประเด็นหลักของการฟ้องคดีเป็นกรณีเรียกร้องค่าเสียหายตามสัญญาเพิ่มเติมจากที่จำเลยเองได้ยอมรับผิดโดยยอมชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์แล้ว อันถือเป็นการยอมรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา๑๙๓/๑๔
ศาลแขวงชลบุรีพิเคราะห์แล้วมีความเห็นว่า สัญญาทางปกครองหมายถึงสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ได้จัดทำบริการสาธารณะหรือสัญญาให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ แต่การที่โจทก์ฟ้องจำเลยหรือเรียกทุน เงินเดือน เงินเพิ่มหรือเงินอื่นใด ที่ได้รับจากทางราชการในระหว่างที่จำเลยได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาหรือฝึกอบรม หาใช่เป็นสัญญาทางปกครองไม่ เนื่องจากแม้คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐก็ตาม แต่สัญญาดังกล่าวก็หามีลักษณะเป็นสัญญาดังที่ระบุไว้ไม่ กรณีจึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยซึ่งเป็นข้าราชการได้ทำสัญญาลาศึกษาไว้กับโจทก์ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองโดยมีข้อสัญญาว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาหรือฝึกอบรมตามสัญญาแล้ว จำเลยจะกลับมารับราชการต่อไปนั้น วัตถุแห่งสัญญาคือการให้จำเลยกลับมาดำเนินการหรือมีส่วนร่วมในการดำเนินการบริการสาธารณะ สัญญานี้จึงมีวัตถุประสงค์หลักให้จำเลยกลับมารับราชการต่อไป จึงเป็นสัญญาทางปกครองตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒๕/๒๕๔๕ ส่วนการที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาชดใช้เงิน ฐานมิได้ปฏิบัติตามข้อสัญญา เป็นวัตถุประสงค์รองจากวัตถุประสงค์หลักของสัญญาที่ให้จำเลยกลับมารับราชการต่อไป ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา คือ คดีที่หน่วยงานทางปกครองฟ้องข้าราชการแพทย์ในสังกัดให้รับผิดตามสัญญาลาศึกษาหรือฝึกอบรม เป็นข้อพิพาทอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ สืบเนื่องมาจากที่หน่วยงานของรัฐยื่นฟ้องข้าราชการในสังกัด ซึ่งทำสัญญาลาศึกษาหรือฝึกอบรม โดยตกลงว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาหรือฝึกอบรมแล้ว จะเข้าปฏิบัติราชการชดใช้ทุนตามระยะเวลาที่กำหนดเอาไว้ในสัญญา แต่หากไม่สามารถกลับเข้าปฏิบัติราชการได้ จำเลยจะต้องชดใช้เงินและเบี้ยปรับเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า ๒ เท่า ของเงินทุน เงินเดือน เงินเพิ่มหรือเงินค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ได้รับในระหว่างการลาศึกษาหรือฝึกอบรม หรือหากกลับมาแต่ปฏิบัติราชการได้ไม่ครบกำหนดจะยินยอมชดใช้เงินคืนแก่โจทก์โดยลดลงตามส่วน
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ และมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งสัญญาทางปกครองหมายความรวมถึง “สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ” คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองยื่นฟ้องข้าราชการในสังกัด เนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาลาศึกษาหรือฝึกอบรมที่จำเลยได้กระทำไว้ต่อโจทก์ ซึ่งกำหนดว่าภายหลังจากที่จำเลยสำเร็จการศึกษาหรือฝึกอบรมแล้ว จะต้องกลับเข้าปฏิบัติราชการให้แก่หน่วยงานในสังกัดของโจทก์ตามระยะเวลาที่กำหนดเอาไว้ในสัญญา สัญญาดังกล่าวมีวัตถุแห่งสัญญาคือการให้จำเลยกลับมาปฏิบัติราชการในตำแหน่งแพทย์ เพื่อดำเนินการหรือมีส่วนร่วมในการรักษาพยาบาล อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะอย่างหนึ่งที่รัฐจะตัองจัดให้มีขึ้น ดังนั้น สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองพฤติการณ์ที่จำเลยขอลาออกจากราชการและยินยอมรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์ตามสัญญานั้น ก็เป็นการปฏิบัติการชำระหนี้วิธีหนึ่งตามที่สัญญากำหนดเอาไว้เท่านั้น หาได้ทำให้สัญญาซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักที่ให้จำเลยกลับมารับราชการในตำแหน่งแพทย์เปลี่ยนไปไม่ เมื่อคดีนี้เป็นกรณีพิพาทเนื่องจากการเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาลาศึกษาหรือฝึกอบรม จึงเป็นเรื่องที่จำต้องพิจารณาวินิจฉัยถึงสิทธิและหน้าที่ของโจทก์และจำเลยตามสัญญาพิพาทซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง(๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีฟ้องขอให้รับผิดตามสัญญาลาศึกษาหรือฝึกอบรมระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โจทก์ นายฉัตรชัย โรจนมณเฑียร จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลปกครองกลาง

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฎฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฎฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share