คำวินิจฉัยที่ 11/2546

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๑/๒๕๔๖

วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๔๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดนนทบุรี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
นางอรทิพย์ สุขะวรรณ ยื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อ้างว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน โฉนดเลขที่ ๑๐๓๖๙ ตำบลบางไผ่ (บางกรวยฝั่งเหนือ) อำเภอนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี มีเนื้อที่ ๓๗๒ ตารางวา ซึ่งได้จดทะเบียนรับโอนมาจากนางทิพยา ณ ป้อมเพชร มารดา เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๘ กรมทางหลวงได้ทำถนนและขยายผิวการจราจรรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ร้อง คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๖๗ ตารางวา โดยไม่ได้ประกาศให้ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นเขตเวนคืน เป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินบริเวณพิพาทได้ จึงได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของกรมทางหลวงและมีหนังสือถึงกรมทางหลวงขอให้เปิดผิวจราจรที่เจ้าหน้าที่ได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ร้อง แต่ได้รับหนังสือแจ้งว่าที่ดินของผู้ร้องส่วนที่อยู่ในทางโค้งซึ่งเป็นที่พิพาทนั้น ได้เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงที่ใช้เป็นทางสาธารณะมาแล้วประมาณ ๒๐ ปี โดยมิได้รับการทักท้วงหรือคัดค้านจากผู้ใด จึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามมาตรา ๑๓๐๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ร้องเห็นว่า การกระทำของกรมทางหลวงนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงไปยังกรมทางหลวงเพื่อยืนยันการรุกล้ำที่ดินอีกครั้งหนึ่ง ต่อมาเจ้าหน้าที่ของกรมทางหลวงได้ไปตรวจสอบสถานที่พิพาทและก็รับว่าได้มีการรุกล้ำที่ดินของผู้ร้องจริง แต่กรมทางหลวงก็ยังมิได้ดำเนินการแก้ไขให้แก่ผู้ร้องแต่อย่างใด ต่อมาคดีนี้ได้โอนไปยังศาลปกครองกลาง ผู้ร้องจึงขอให้ศาลพิพากษาให้กรมทางหลวงคืนที่ดินแก่ผู้ร้องให้อยู่ในสภาพเดิม หากไม่สามารถคืนที่ดินให้แก่ผู้ร้องได้ ขอให้ชดใช้ค่าที่ดินแก่ผู้ร้องเป็นเงินจำนวน ๒,๓๔๕,๐๐๐ บาท (สองล้านสามแสนสี่หมื่นห้าพันบาทถ้วน) พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๔ จนกว่าจะชำระเสร็จ
ระหว่างพิจารณา ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องโต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาท ซึ่งตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน
การดำเนินการขยายผิวการจราจรของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการกระทำในทางกายภาพของฝ่ายปกครอง อันเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น มิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย กฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หากการขยายผิวจราจรของผู้ถูกฟ้องคดี ได้รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง การกระทำดังกล่าวนี้ ก็ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจกระทำได้ และในบริเวณที่พิพาทก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการออกกฎหมายเวนคืนที่ดินด้วย กรณีจึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมที่จะพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่ง ตามนัยมาตรา ๒๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ศาลจังหวัดนนทบุรีพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีเรื่องนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ และเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ก่อสร้างถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเป็นคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ การพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินของเอกชนอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า สิทธิของบุคคลอันเกี่ยวกับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ทรัพย์สิน มาตรา ๑๒๙๘ ที่บัญญัติว่า “ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้น ท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น” บทบัญญัติมาตรานี้กำหนดให้การพิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นที่บัญญัติในเรื่องนั้นไว้เป็นพิเศษ
สำหรับคดีนี้ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่กรมทางหลวง ผู้ถูกฟ้องคดี ได้สร้างถนนและขยายผิวการจราจรรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี แล้วผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งสิทธิในที่ดิน โดยเห็นว่าที่พิพาทอยู่ในเขตทางหลวงแผ่นดิน จึงเป็นกรณีโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือไม่เป็นสำคัญ โดยไม่มีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล คงมีประเด็นต้องพิจารณาให้ได้ความเพียงว่าที่ดินนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างคู่กรณีต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๒๙๘ บัญญัติว่า “ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้น ท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น” และมาตรา ๑๓๐๔ บัญญัติว่า “สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น

(๒) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ”
บทบัญญัติในมาตรา ๑๒๙๘ กำหนดให้การพิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน นอกจากจะอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ยังต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายอื่นประกอบด้วย โดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคู่กรณีและพยานหลักฐานการใช้ประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ดังนั้น คดีละเมิดเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์และมีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์กัน จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ทั้งนี้ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๒๘/๒๕๔๕
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินของเอกชนระหว่างนางอรทิพย์ สุขะวรรณ ผู้ฟ้องคดี กรมทางหลวง ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดนนทบุรี

(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายโภคิน พลกุล)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

พลโท พลโท
(อัฎฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??

??

??

??

Share